ออมและลงทุน
8 เรื่องควรรู้และวางแผนก่อนซื้อรถยนต์
“ก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ต้องรู้ว่าเราต้องการรถยนต์แบบไหน
วัตถุประสงค์ในการใช้รถยนต์คืออะไร
เพื่อนำไปใช้ตัดสินใจให้ได้รถยนต์ที่ถูกใจและมีความสุขตลอดอายุการใช้งาน”
- K-Expert -
ระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะทุกวันนี้ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงจนสะดวกสบายขึ้นมาก โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบนดิน (BTS) หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางท่ามกลางการจราจรอันคับคั่งในเส้นทางสายหลักได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลายคนยังคงมีความปรารถนาที่จะครอบครองรถยนต์สักคัน ไม่ว่าจะเพื่อใช้เป็นยานพาหนะอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เพื่อรับส่งบุตรหลาน หรือเพื่อตอบสนองต่อความฝันความต้องการที่มีอยู่ แต่ในยุคที่ราคาน้ำมันแพง ค่าครองชีพสูงเช่นนี้ ก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์สักคัน มีเรื่องที่ต้องวางแผนก่อนดังนี้
1. เลือกยี่ห้อรถยนต์ รถยนต์บางยี่ห้อไม่อยู่ในความต้องการของตลาด หากซื้อไปแล้ว ต้องการขายหรือเปลี่ยนคันใหม่ ราคาที่ได้รับจะตกอย่างรวดเร็วมาก ในขณะที่บางยี่ห้อเป็นยี่ห้อฮิตอยู่ในความต้องการ แม้ว่าใช้ไปหลายปีแล้ว ราคาก็ตกไม่แรงมากนัก และยังอยู่ในความต้องการของตลาดอยู่เสมอ
2. เลือกเครื่องยนต์ ขนาดซีซี ข้อนี้เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน และภาษี ซึ่งกระทบค่าใช้จ่ายของคุณ หากเลือกรถยนต์ที่ซีซีสูง ปริมาณการใช้น้ำมันก็จะมาก เสียภาษีมาก และถ้าราคาน้ำมันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็จะเพิ่มภาระใช้จ่ายด้วย ในขณะที่ปัจจุบันมีรถยนต์พลังงานทางเลือกออกมาหลายแบบทดแทนการใช้เบนซิน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดีเซล พลังงานไฟฟ้าไฮบริด หรือใช้ก๊าซ รถยนต์รุ่นใหม่ๆ มีการติดตั้งก๊าซจากโรงงานตั้งแต่ต้น ก็จะมีดีไซน์และการใช้งานที่ลงตัวกว่าไปติดตั้งเองภายหลัง
3. เลือกฟังก์ชั่นการใช้รถยนต์ ให้เหมาะกับเรา เหมือนกับการวางแผนซื้อสินค้าทุกชนิดที่ต้องถามความต้องการของเราก่อนว่า ต้องการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรบ้าง เช่น คุณต้องการรถยนต์เพื่อใช้ในเมือง หรือขับต่างจังหวัด มีคนนั่งกี่คน ขับคนเดียวหรือรถครอบครัว ถ้าขับคนเดียวในเมืองอีโคคาร์น่าจะเป็นคำตอบที่ช่วยให้คุณประหยัดเงินในกระเป๋า
4. เลือกออปชั่น บางออปชั่นต้องเสียเงินเพิ่ม ไม่ได้จำเป็นกับเรา เช่น ติดสปอยเลอร์ แต่เราไม่ได้ขับรถเร็ว ก็ไม่ควรซื้อ และควรต่อรองตัดออก เพื่อให้ได้ส่วนลดเพิ่มเติม
5. เลือกสี บางท่านเชื่อถือโชคลาง ก็ควรดูก่อนเลยว่า ถูกโฉลกกับสีใด จะได้ไม่ต้องเสียเงินซื้อสติ๊กเกอร์มาแปะ ว่ารถคันนี้สี..... และถ้าต้องวิ่งกลางคืน ดึก ๆ เป็นประจำ ควรเลือกรถสีสว่าง เพื่อป้องกันและช่วยลดอุบัติเหตุ
6. เลือกทะเบียน ทะเบียนเลขสวย หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และการเลือกจดทะเบียนในกรุงเทพกับต่างจังหวัด ก็มีผลต่อราคาตอนขายด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เวลาในการจดทะเบียนก็สำคัญว่า เป็นรถปีไหนหากซื้อรถยนต์ช่วงปลายปี การรอจดทะเบียนช่วงปีใหม่ ก็จะดีกว่าเลือกจดทะเบียนในปีเดิม ที่เวลาขายจะดูว่าเป็นรถปีเก่ากว่า
7. เลือกดีลเลอร์ที่สะดวก บริการหลังการขายและค่าซ่อมเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญที่จะตามมา รถยนต์บางยี่ห้อก่อนการขายบริการดี หรือการซื้อรถเกรย์มาร์เก็ตราคาถูก แต่เวลาเสียไม่มีใครรับซ่อมหรือบางยี่ห้ออะไหล่แพง ก็อาจจะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าในระยะยาว
8. เลือกจะซื้อด้วยเงินสดหรือเงินผ่อน เพื่อตอบคำถามนี้ คงต้องหันกลับมาดูกระเป๋าสตางค์ของตัวเองก่อนว่า ปัจจุบันเรามีทุนรอนเท่าไร เพียงพอจะซื้อเป็นเงินสดหรือไม่ หรือหากตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเก็บเงินรายเดือนเพื่อซื้อรถยนต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า ก็ต้องมาดูความสามารถในการออมของเราว่าจะสามารถออมให้บรรลุเป้าหมายได้หรือไม่ ในทางตรงกันข้าม หากซื้อด้วยเงินผ่อน
อาจมีหลายประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเรื่องจำนวนเงินดาวน์เป็นเท่าไรและจะขอวงเงินสินเชื่อรถยนต์กับทางสถาบันการเงินเท่าไร ผ่อนกี่เดือนนานแค่ไหน ส่วนการจะขอสินเชื่อผ่านหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อมูลเครดิตที่ผ่านมาของแต่ละคนว่ามีประวัติการชำระหนี้เป็นอย่างไร
ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่เราควรนำมาไตร่ตรองเสียตั้งแต่วันที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ อย่าให้เพียงความต้องการมาบดบังความจำเป็นและความสมเหตุสมผล ไม่อย่างนั้นแล้วรถยนต์ที่สามารถทำหน้าที่ขนย้ายสัมภาระอาจกลับกลายมาเป็นภาระของเราในวันข้างหน้าก็เป็นได้
K-Expert Action
- เลือกรถยนต์ตามความจำเป็นในการใช้งานให้เหมาะสม
- คำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะตามมาหลังการซื้อรถยนต์
- ควรเปรียบเทียบโปรโมชั่นของรถยนต์หลายๆ ยี่ห้อก่อนการตัดสินใจ