06 ก.ย. 61

สวมบทธาดา อรุณา จับประเด็นการเงินจาก เมีย 2018

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​สวมบทธาดา อรุณา จับประเด็นการเงินจาก เมีย 2018

​​​​​​​​​         ละครเรื่อง “เมีย 2018” เป็นละครที่สะท้อนสังคมด้านครอบครัว โดยมีคุณธาดา (สามี) และคุณอรุณา (ภรรยา) จดทะเบียนสมรสและอาศัยอยู่เป็นครอบครัว จนกระทั่งคุณกันยา (ลูกพี่ลูกน้อง) มาจากต่างประเทศมาพักอาศัยอยู่ด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เรื่องราวในละครก็ดำเนินไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ K-Expert อยากจะชวนให้คิดคือ สถานภาพครอบครัวในแต่ละช่วง จะมีบทเรียนเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย แล้วตัวละครทำได้ดีหรือไม่ ถือเป็นบทเรียนจากละครที่ใช้ย้อนดูตัวเองได้ ซึ่งสามารถแบ่งตามสถานภาพได้ดังนี้ 


1. ช่วงธาดา-อรุณา สมรสจดทะเบียน อยู่เป็นครอบครัว (ก่อนกันยามาจากต่างประเทศ)
​ 
​          - เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เรื่องเงินเรื่องแรกที่ต้องมีเผื่อเป็นอันดับแรก 
          โดยทั่วไป ควรจะมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน แล้วจะใช้ตัวเลขใดดี ขึ้นอยู่กับความสามารถในการขาดแคลนรายได้ เช่น พลอยใส เป็นนักศึกษาฝึกงาน เพิ่งเริ่มต้นทำงานครั้งแรก เนื่องจากยังไม่มีคนอื่นต้องดูแลและหากขาดรายได้ภายใน 3 เดือน ก็สามารถหางานใหม่ได้ไม่ยาก ก็เริ่มต้นสำรองที่ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือนได้ ในขณะที่ธาดา ซึ่งมีครอบครัวแล้ว ควรสำรองเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เนื่องจากผลกระทบจากการขาดรายได้มีมากขึ้น และมีทั้งอรุณา และนุดา ที่ต้องรับผิดชอบ ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวของธาดา ใช้จ่ายเดือนละ 50,000 บาท ต้องมีเงินสำรองไว้อย่างน้อย 300,000 บาท (6 เท่าของค่าใช้จ่าย 50,000 บาท) 

 

          - ใคร คือ ผู้จัดการเงินในครอบครัว 
          โดยทั่วไป เรื่องจัดการเงินในครอบครัวเป็นเรื่องความลับที่ไม่ค่อยมีใครบอกเล่าเก้าสิบมากนัก ซึ่งปกติจะมีอยู่ 3 แนวทางใหญ่ๆ คือ 
               1.ภรรยาเป็นผู้คุมเงินสามีทั้งหมด คุณสมบัติของภรรยาที่จะควบคุมเงิน คือ มีความละเอียด จับพิรุธได้ทุกครั้งที่สามีมีเงินเก็บ ข้อดี คือ จะให้คนที่ละเอียดช่วยจัดการวางแผนเรื่องเงินทั้งหมด ข้อระวัง คือ สามีจะมีความเก็บกดในเรื่องเงินมาก และจะมีความสามารถพิเศษในการหาที่ซ่อนเงินของตนเอง 
               2.มีกองกลาง เป็นค่าใช้จ่ายของครอบครัว และแบ่งเป็นเงินส่วนตัวของแต่ละคนที่หามาได้บ้าง วิธีนี้เป็นการเดินทางสายกลาง ข้อดี คือ เป็นแนวทางที่ไม่สุดโต่งเกินไป ข้อระวัง คือ ขาดการควบคุม ทำให้เป้าหมายการเงินอาจขาดการเน้นย้ำเพื่อให้บรรลุแผนได้ 
               ​3.สามีเป็นผู้คุมเงินในครอบครัวทั้งหมด ข้อดี คือ จะใช้เงินเท่าที่หารายได้มาได้ ข้อระวัง คือ มีโอกาสรั่วไหลไปในเรื่องอื่นๆ ได้ รวมไปถึงการมีบ้านเล็กบ้านน้อย 
          จากละครเรื่องดังกล่าว ไม่ได้มีการกล่าวว่า ใครเป็นผู้ดูแลเงินของครอบครัว จากข้อสันนิษฐานคาดว่า สามีน่าจะเป็นผู้มีอำนาจในการคุมเงินอยู่บ้าง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีโอกาสไปหาน้องหนูได้ไม่ยาก

          - สัญญาก่อนสมรส เครื่องมือการจัดการทรัพย์สินก่อนสมรส 
​          สัญญาก่อนสมรส เป็นสัญญาที่ระบุว่า ทรัพย์สินประเภทใดบ้างที่เป็นสินส่วนตัว แปลง่ายๆ คือ ทรัพย์สินอะไรบ้างที่มีมาก่อนจดทะเบียนสมรส เพื่อไม่ให้กลายเป็นสินสมรส และจะต้องถูกแบ่งให้กับคู่สมรสภายหลัง ส่วนใหญ่คู่สมรสที่ฝ่ายหนึ่งมีฐานะทางการเงินมากกว่าอีกฝ่าย เพื่อจัดการทรัพย์สินให้ชัดเจน สามารถระบุในสัญญาก่อนสมรสได้ หรือกรณีเป็นผู้ประกอบการ มีความจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อธุรกิจ จะควบคุมไม่ให้เจ้าหนี้มายึดทรัพย์สินส่วนตัวอื่นๆ ตอนจดทะเบียนสมรส ก็สามารถระบุรายละเอียดทรัพย์สินในสัญญาก่อนสมรสได้

     ​บทเรียนจากละครในช่วงนี้
          1. คนมีครอบครัวต้องมีเงินสำรองอย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน 
          2. วิธีจัดการเงินของครอบครัว ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัว ผลลัพธ์สุดท้าย คือ ทำให้ครอบครัวไม่สะดุดเรื่องเงิน 
          3. การจดทะเบียนสมรส ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป หากรู้จักสัญญาก่อนสมรสเพื่อจัดการทรัพย์สินก่อนสมรส เหมาะกับคู่สมรสที่ฝ่ายหนึ่งรวยมากๆ และต้องการจัดการให้ชัดเจน

2. ช่วงธาดา-อรุณา ตัดสินใจจดทะเบียนหย่า 
 
          - จดทะเบียนหย่า เรื่องเงินทองต้องจัดการอะไรบ้าง 
          โดยทั่วไปแล้ว สิ่งที่ต้องจัดการเมื่อจดทะเบียนหย่า มีเรื่องต้องเตรียมคำตอบ 3 เรื่องคือ 1.ใครปกครองลูก 2.ค่าเลี้ยงดูบุตรให้เท่าไร โดยทั่วไปมักจะเป็นฝ่ายชาย เนื่องจากฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายเสียเปรียบเมื่อมีบุตรแล้ว และ 3.แบ่งสินสมรสกันอย่างไร บทละครมีการกล่าวถึง 2 เรื่องแรก และธาดา ยกบ้านและที่ดินให้กับ อรุณา ทั้งหมด แต่จะถูกระบุในบันทึกข้อตกลงหลังจดทะเบียนหย่าแล้ว ทำให้ที่ดินและบ้านอยู่ในความครอบครองของอรุณาทั้งหมด
          - การบริหารเงินของแม่เลี้ยงเดี่ยว (Single Mom) 
          เรื่องเงินสำหรับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายของตนเองและลูก (2 คน) แหล่งรายได้จะต้องมาจากคุณแม่ และค่าเลี้ยงดูจากสามี ดังนั้น เป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ในเรื่องเงินของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความห่วงใยเรื่องลูก หากคุณแม่เกิดเหตุไม่คาดฝัน รวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลของลูกหากเจ็บป่วย ซึ่งในซีนละครมีการเข้าโรงพยาบาล ค่าห้องคืนละ 2,000 บาท ยังมีค่าบริการของพยาบาลและแพทย์อีกคืนละ 2,000 บาท ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในคืนละ 4,000 บาท ดังนั้น การโอนความเสี่ยงด้วยการทำประกันชีวิต จะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายได้ รวมไปถึงเพื่อให้แน่ใจว่าลูกมีค่าเล่าเรียนแน่ๆ หากคุณแม่จากไป

     บทเรียนจากละครในช่วงนี้ 
          1. จดทะเบียนหย่า จะต้องจัดการ 1.ใครเป็นผู้เลี้ยงดูบุตร 2.ฝ่ายชายจะช่วยค่าเลี้ยงดูบุตรเท่าไร 3.จัดการทรัพย์สินหลังจดทะเบียนหย่า ผ่านข้อตกลงหลังจดทะเบียนหย่า 
          2. การเลี้ยงดูโดยแม่เลี้ยงเดี่ยว เรื่องเงินเป็นปัจจัยสำคัญ ควรจะประเมินจาก รายได้ที่คาดว่าจะมี ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากตนเองและบุตร สำรองเผื่อฉุกเฉินให้เพียงพอ บรรเทาภาระค่ารักษาพยาบาลด้วยประกัน การันตีว่าบุตรจะมีเงินเรียนด้วยทุนเอาประกันที่เพียงพอ แม่จะส่งต่อทรัพย์สินอย่างไรหากจากไปก่อนบุตร

3. ช่วงธาดา ถูกไล่ออก 

          - ถูกไล่ออก เงินก้อนกับภาษีที่ต้องจัดการ  
​          เมื่อธาดา ถูกไล่ออก จะได้เงินก้อนที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงาน (จบแบบไม่สวย) ซึ่งจะขึ้นอยู่กับอายุงาน แบ่งเป็นหลายกรณี และได้รับยกเว้นภาษีไม่เกิน 300,000 บาท ดังนี้
อายุงาน 
เงินชดเชยตามอัตราค่าจ้างสุดท้าย ไม่เกิน (วัน) 
ไม่เกิน 1 ปี ​
​30 
ตั้งแต่ 1 แต่ไม่เกิน 3 ปี 
90 
ตั้งแต่ 3 แต่ไม่เกิน 6 ปี 
180 
ตั้งแต่ 6 แต่ไม่เกิน 10 ปี 
240 
ตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป 
300 ​

​         นอกจากนี้ เงินก้อนที่ควรจะได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) จะได้รับและเสียภาษีแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุงาน และอายุตัว ดังนี้ ​

อายุงาน (ปี)  อายุตัว (ปี) 
ผลทางภาษี 
ไม่เกิน 5 ปี 
ไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ 
ถือเป็นเงินตาม ม.40(1) 
ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ​
ไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ 
มีสิทธิยื่นในใบแนบได้ 
          กรณีมีสิทธิยื่นใบแนบได้ ซึ่งก็ควรยื่นใบแนบ เนื่องจากเป็นการบรรเทาการจ่ายภาษีไม่ให้เสียมากเกินไป ​​

          - เช่าคอนโดฯ อยู่ หรือ ผ่อนคอนโดอยู่ ไม่มีรายได้ ควรจัดการอย่างไร 
​          ​จากซีนละครจะพบว่า ธาดา หลังออกจากงาน เงินเหลือในบัญชี 243,560.45 บาท หากใช้หลักเงินสำรองฉุกเฉิน 6 เท่า แปลว่า ธาดา ควรใช้เดือนละ 40,500 บาท เท่านั้นเอง แต่จากการหาข้อมูลจะพบว่า ที่พักในซีนละครเป็นอพาร์ทเมนต์ เดือนละประมาณ 20,000-40,000 บาท แปลว่า ควรจะย้ายที่พักก่อนเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง
          หากเป็นกรณีซื้อคอนโดฯ ด้วยสินเชื่อบ้านไว้แล้วตกงาน ควรจะต้องหาวิธีจัดการหนี้สิน ดังนี้ 
               1. กัดฟันผ่อนชำระไปก่อน วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้แล้วอย่างน้อย 6 เดือน 
               2.ขอปรับลดยอดผ่อนชำระต่อเดือน วิธีนี้ต้องมีความชัดเจนเรื่องรายได้ก่อน เนื่องจากต้องคุยกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ เพื่อปรับเงื่อนไขในการผ่อนชำระ 
               3.ประกาศขาย เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ที่ค้างอยู่ วิธีนี้คิดง่าย แต่ทำไม่ง่าย เนื่องจากต้องใช้เวลาในการขาย และอำนาจต่อรองในการขาย จะมีผลให้ขายไม่ได้ตามราคาที่ตั้งใจไว้ 

     บทเรียนจากละครในช่วงนี้ 
          1. เงินก้อนที่ได้เมื่อออกจากงาน (ถูกไล่ออก) อายุไม่เกิน 55 ปี จะได้รับยกเว้นภาษีตามอายุงาน ไม่เกิน 300,000 บาท 
​          2. เมื่อเช่าคอนโดฯ อยู่แล้วตกงาน ต้องปรับลดค่าใช้จ่ายลง อย่างน้อยเพื่อให้เงินเก็บเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย 6 เดือน 

          ​หากดูละครและย้อนดูตัว เมื่อมองเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ของครอบครัวแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวนัก หากจะเปรียบเทียบกับเกี๊ยวน้ำ Signature ของละครเรื่องนี้ การทำเกี้ยวน้ำของอรุณา เปรียบเทียบเป็นการสร้างความกลมเกลียวในครอบครัว ที่มีคนที่แตกต่างกันมาอยู่ด้วยกันในครอบครัวเดียวกัน เช่นเดียวกับเรื่องการเงิน ก็ต้องวางแผนการเงินให้ครอบคลุมครบทุกด้าน มีการลงทุน เพื่อให้มีรสชาติที่อร่อยจากเนื้อสัตว์ ใบเกี๊ยวก็เปรียบเสมือนการป้องกันความเสี่ยง ให้รสชาติของอาหารยังคงกลมกล่อม เรื่องเงินก็ต้องมีการป้องกันความเสี่ยงไว้ด้วย ไม่ใช่เน้นสร้างผลตอบแทนที่ดีเพียงอย่างเดียว หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และเตรียมการเรื่องเงินไม่เพียงพอ ก็จะทำให้การเงินครอบครัวมีปัญหาเหมือนเกี๊ยวไส้แตกได้​



ให้คะแนนบทความ