19 ก.ย. 61

4 เรื่องที่ควรจับเข่าเคลียร์ก่อนเริ่มชีวิตคู่

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​​​​4 เรื่องที่ควรจับเข่าเคลียร์ก่อนเริ่มชีวิตคู่​


          ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ ไม่แน่ใจว่าเป็นช่วงฤกษ์งามยามดีหรืออย่างไรไม่ทราบ เพราะจดหมายเชิญไปงานแต่งงานนั้นมีเยอะมาก ซึ่งปกติการอยู่เป็นโสดก็เป็นเรื่องธรรมดา คนส่วนใหญ่ก็โสดกันเยอะแยะ แต่พอเวลาไปร่วมงานแต่งถี่ๆ มันก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า สถานะโสดกลายเป็นความผิดปกติในช่วงนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อนสนิทอีกคนก็ตัดช่องน้อยแต่พอตัวตัดสินใจสละโสดไปอีกราย และนัดมาทานข้าวเพื่อแจ้งข่าวดีให้เพื่อนที่ยังโสดอิจฉาเล่นๆ ในขณะที่กำลังทานข้าวกันหลังได้รับข่าวอันน่ายินดี และคุยกันอย่างออกรส ผู้เขียนก็ดันโพล่งคำถามที่กะว่าจะถามเล่นๆ ว่า “แต่งงานกันแล้ว ใครจะเป็นคนคุมเงินเหรอ?” 

 

          คำถามเล่นๆ แต่ดันกลายเป็นเรื่องจริงอิงดราม่าซะงั้น เมื่อเพื่อนสนิทตอบว่า เค้าจะเป็นคนดูแลเองเพราะเป็นคนที่มีรายได้มากกว่า ส่วนว่าที่ภรรยากลับสวนว่า ที่จริงแล้วคิดว่าคุณสามีน่าจะมอบอำนาจนั้นให้กับตัวเอง เพราะดูแล้วนอกจากหาเงินได้เยอะแล้ว ไม่เห็นจะเก็บเงินเป็นเลย ​


          เท่านั้นแหละ บรรยากาศก็เริ่มอึมครึมขึ้นมาซะอย่างนั้น จากมื้ออาหารสีชมพู ตอนนี้ชักจะสีเข้มขึ้น คล้ายๆ จะเป็นสีเลือดหัวของเพื่อนสนิทผู้เขียน มันก็น่าแปลกนะครับ คนรักกัน คบกันมาตั้งนาน รู้ใจกันทุกอย่าง ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร รู้ว่าทำอะไรแล้วจะถูกใจ ไม่ถูกใจ แต่พอมาถึงเรื่องเงินกลับไม่คุยกันให้เคลียร์ๆ


          โทษฐานที่เป็นผู้จุดชนวนความขัดแย้งก็เลยจัดแจงช่วยเป็นที่ปรึกษาเรื่องการเงินบนโต๊ะอาหารไปเลย ซึ่งเรื่องในวันนั้นจบลงแต่โดยดี แต่คิดว่าเรื่องนี้น่าจะดีกับทุกๆ คู่รัก K-Expert เลยอยากจะเอามาบอกต่อ ถึง 4 คำถาม น่าคิดก่อนแต่งงานกัน


1. จัดการค่าใช้จ่ายอย่างไร ? 
          เรื่องแรกที่ต้องคิดก็คือ ทั้งคู่มองเงินที่เข้ามาอย่างไร เป็นแบบของใครของมัน หรือเป็นของกลาง หากมองว่าเงินนั้นเป็นของใครของมัน คำถามต่อมาคือ แล้วค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วยกัน ใครจะรับผิดชอบ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าเลี้ยงดูลูก ค่าใช้จ่ายเหล่านี้หากจะแบ่งค่าใช้จ่ายกัน ถ้าใช้วิธีว่ารายได้ใครมากกว่าก็รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ไป วิธีนี้ก็อาจจะมีความน่าปวดหัวเพราะค่าใช้จ่ายบางอย่างไม่คงที่ เช่น คนที่รับผิดชอบค่าไฟ เดือนไหนวันหยุดเยอะ อากาศร้อน หรือมีญาติมาพักอาศัย ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มกว่าค่าเฉลี่ยมาก คนรับผิดชอบค่าไฟย่อมรู้สึกว่าเงินในกระเป๋าเดือนนั้นหมดเร็วเกินไป หรือถ้าไม่แยกกระเป๋ากัน ทุกอย่างรวมกันก็ต้องมีการทำบัญชีร่วมกัน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความสับสนได้ว่าเงินที่ได้มาเอาไปใช้อะไรบ้าง  

          จริงๆ แล้วมีอีกทางเลือกหนึ่งนะครับที่ดูจะประนีประนอมกว่า 2 ทางเลือกแรก นั่นก็คือ การกำหนดกันว่าค่าใช้จ่ายส่วนกลางมีอะไรบ้าง แล้วทำการเปิดบัญชีออมทรัพย์เพื่อเอาจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนกลางไปเลย ส่วนในแต่ละเดือน ใครจะจ่ายเข้าบัญชีนี้เท่าไร ใครเป็นคนไปจ่ายบิล อันนี้สุดแล้วแต่ที่ทั้งคู่จะตกลงกันเลยครับ 

2. กำหนดงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่าย อย่างไร? 
          คำถามต่อมาคือ ทั้งคู่คิดจะกำหนดงบประมาณอย่างไร บางคนเป็นคนละเอียด เก็บใบเสร็จทุกใบ จดค่าใช้จ่ายทุกตัว เรียกว่ารู้ยันหลักสตางค์ แต่บางคนชอบการกำหนดคร่าวๆ เช่น ค่ากินเดือนละเก้าพัน จะขาดจะเกินนิดหน่อยก็หยวนๆ ซึ่งงบที่ควรคุยกันตรงๆ คือพวกค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เช่น ค่าสังสรรค์ปาร์ตี้ของคุณสามี หรือค่ารองเท้าแฟชั่นของคุณภรรยา กำหนดวงเงินเหล่านี้ให้ชัดเจนจะได้ไม่ต้องมากระแนะกระแหนกันว่าเธอหรือฉันใช้​เงินฟุ่มเฟือย 

3. จัดการหนี้ก่อน - หลังแต่งงาน อย่างไร? 
          คำถามข้อที่ 3 คือ ทั้งคู่จะจัดการกับหนี้อย่างไร ทั้งหนี้ที่ก่อมาก่อนจะแต่งงาน และหนี้ที่จะสร้างหลังแต่งงาน ทั้งคู่ควรรู้ว่าภาระหนี้ของอีกฝ่ายเป็นอย่างไร บางคู่รู้แต่รายได้ของอีกฝ่าย แต่ไม่รู้ภาระหนี้ที่ติดตัวคู่ของเรามา ซึ่งอาจทำให้การกำหนดงบการใช้เงินผิดพลาดได้ นอกจากนั้น ยังมีผลต่อการสร้างหนี้ใหม่ของทั้งคู่อีกด้วย นอกเหนือจากการรู้ถึงภาระหนี้แล้ว ทั้งคู่ควรปรับทัศนคติในเรื่องหนี้เข้าหากันให้ได้ บางคนคิดว่าตราบใดก็ตามที่รายได้ที่เข้ามาสามารถจัดการหนี้ได้ก็มีสิทธิ์จะก่อหนี้เพิ่ม ในขณะที่บางคนก็กลัวการเป็นหนี้ หรือเสียดายที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย มีหนี้เมื่อไรก็จะประหยัดรัดเข็มขัดเพื่อรีบใช้หนี้ให้หมดๆ ไป หากสไตล์การเป็นหนี้ของทั้ง 2 คนไม่ตรงกันก็รีบจูนคลื่นเข้าหากันก่อนจะทะเลาะกันด้วยเรื่องของการเป็นหนี้ครับ

4. เก็บเงิน ออมเงินชีวิตคู่ อย่างไร? 
          คำถามข้อสุดท้าย คือ จะจัดการกับเงินออมอย่างไร ตอนก่อนจะมีชีวิตคู่ ทุกคนมีความฝันและเป้าหมาย อยากซื้อบ้าน ซื้อรถ หรืออยากไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้มีระยะเวลาและความสำคัญที่แตกต่างกัน ส่งผลทำให้ที่เก็บเงินนั้นต่างกัน หากเป็นเป้าหมายระยะยาวมากๆ การเก็บในรูปของหุ้นช่วยให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในขณะที่เป้าหมายที่สำคัญมากๆ พลาดไม่ได้ อาจจะต้องเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ 
 
          นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของความสามารถในการรับความเสี่ยงที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เมื่อเริ่มมีการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันจึงควรเปิดใจพูดคุยกันว่ามีเป้าหมายอะไรที่เป็นเป้าหมายส่วนตัวที่ยังอยากคงไว้ และเป้าหมายใดเมื่อมีคู่แล้วต้องการลด หรือตัดออก ในขณะเดียวกันมีเป้าหมายอะไรที่งอกเงยขึ้นมาเป็นความฝันที่ร่วมกันของ 2 คน
 
          หากกำหนดได้ชัดเจนแล้ว ก็ชวนคุยกันต่อว่าเพื่อให้เป้าหมายต่าง ๆ สำเร็จ ควรจะแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง และเดือนละเท่าใด แน่นอนว่าความเสี่ยงที่รับได้ของแต่ละคนนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นการตัดสินใจส่วนตัว ไม่สามารถเอาความสามารถในการรับความเสี่ยงมาบวกกันแล้วหารสองได้ ดังนั้น ต้องคุยกันด้วยความเข้าใจ หากความชอบเสี่ยงแตกต่างกันมากๆ ก็ควรแยกกระเป๋าเงินลงทุนส่วนตัว และเงินลงทุนส่วนกลางให้ชัดเจน 
 
          ชีวิตคู่จะไปได้ดีทั้งคู่ก็ต้องสื่อสารให้ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจว่าอีกฝ่ายคิดอย่างไร ซึ่งเรื่องเงินระหว่างสามีภรรยาก็ควรจะเป็นเรื่องหนึ่งที่คุยกันได้บ่อยๆ อย่ารอให้มีปัญหาเงินขาดมือ หรือหนี้ท่วมแล้วค่อยคุยกัน เพราะบางทีนอกจากจะทำให้ปัญหาที่เล็กจะกลายเป็นปัญหาใหญ่แล้ว พอถึงวันนั้นเข้าจริงๆ อาจจะไม่สามารถคุยกันได้ดีๆ เพราะมัวแต่โทษกันไปโทษกันมา พาลแต่จะทำให้เสียความรักกันเปล่าๆ ครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง: 

ให้คะแนนบทความ