ออมและลงทุน
เลือกหุ้นปันผลอย่างไรให้ได้ผลดี
ในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เป้าหมายสูงสุดของนักลงทุนหลายคน คือ สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้เป็น Passive Income หรือกระแสเงินสดแบบสม่ำเสมอและเพียงพอกับค่าใช้จ่ายจากการลงทุน ทำให้มีอิสรภาพด้านเงิน เวลา และยังมีแรงมากพอที่จะไปหาประสบการณ์ชีวิตได้ หากจะเล่าถึงวิธีการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่สร้าง Passive Income มีหลายวิธี ไม่ว่าจะ ลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ เพื่อเน้นกระแสเงินสดคงที่ ซึ่งผลตอบแทนไม่มากและอาจสร้างรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย อีกหนึ่งในวิธีการได้ Passive Income คือ หุ้นปันผล มาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่าหุ้นปันผลจะแตกต่างอย่างไรกับหุ้นทั่วไป
โดยทั่วไปแล้ว สไตล์การลงทุนในหุ้น แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ เน้นให้ได้ผลตอบแทน คือ 1.สไตล์ลงทุนแบบเก็งกำไรเพื่อเน้นส่วนต่างของราคา (Capital Gain) กับ 2.สไตล์ลงทุนระยะยาว เพื่อรับเงินปันผล (Dividend) กลับมาที่การสร้างกระแสเงินสดให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย มักจะเน้นไปที่หุ้นที่เน้นจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ซึ่งมักเรียกสั้นๆว่า หุ้นปันผล นั่นเอง จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 5 ปีย้อนหลัง (ข้อมูล ณ เดือนสุดท้ายของปี 2559-2563) พบว่า หุ้นทั้งตลาดฯ มีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ยอยู่ที่ 3.04%, 2.70%, 3.22%, 3.14%, 3.32% ต่อปี ตามลำดับ ดังนั้น หุ้นปันผล คือ หุ้นที่มีกำไรและจ่ายปันผลสม่ำเสมอ ในอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่สูง(กว่าหุ้นทั่วไป) ถัดไป จะมาดูกันว่า แล้ววิธีการในหาหุ้นปันผล ทำได้อย่างไรกันบ้าง
เฟ้นหาหุ้นปันผล ดูได้อย่างไร
หุ้นปันผลที่ดี ควรพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน ดูจากทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพ (สะท้อนถึงแนวโน้มผลประกอบการว่ามีโอกาสเป็น +/-)และข้อมูลเชิงปริมาณ (สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว) บทความนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งจะมอง 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ
1. ผลประกอบการ ลักษณะที่ดี คือ
ยอดขายดี ดูได้จากตัวเลขยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้น หรือลดลง เมื่อเทียบกับยอดขายในอดีต และสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่ยังคงมาจากธุรกิจหลักอย่างต่อเนื่อง สะท้อนรายได้ในอดีตเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อกำไรด้วยเช่นกัน
กระแสเงินสดบวก หลายๆครั้ง จะได้ยินคำว่า “ขายดีจนเจ๊ง” ดังนั้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต้องเป็นบวกจึงสำคัญ เพราะเป็นการแสดงว่า กิจการมีเงินสดรับมากกว่าจ่าย จากกิจการดำเนินงาน โอกาสที่ขายดีจนเจ๊ง จะลดลง
หนี้สินน้อย ดูได้จากอัตราส่วน Debt to Equity Ratio หรือ สัดส่วน หนี้สินต่อทุน ซึ่งปกติตัวเลขอัตราส่วน DE Ratio จะอยู่ประมาณ 1-2 เท่า ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม ดังนั้น หนี้สิน ให้ดู DE Ratio น้อยๆ ยิ่งน้อยยิ่งดี
2. ผลกำไร ลักษณะที่ดี คือ
มีกำไรต่อเนื่อง ดูจากบรรทัดสุดท้ายของงบกำไรขาดทุน และควรดูย้อนหลัง 3-5 ปี เพื่อดูความต่อเนื่องของกำไร
กำไรสะสมโตและจ่ายปันผล ดูต่อเนื่องมาจากกำไรโตต่อเนื่อง เมื่อบริษัทจัดสรรกำไรแล้วจะแบ่งเป็นจ่ายปันผลออกมา กับ เก็บไว้ในกำไรสะสม ซึ่งแปลว่า หุ้นปันผลที่ดี ควรจ่ายปันผลจากกำไรสุทธิในปีนั้นๆ และไม่ได้จ่ายจากกำไรสะสม กล่าวคือ ปันผลที่จ่าย ควรจ่ายจากการทำมาหาได้ในปีนั้นๆ และไม่ไปดึงบุญเก่า(กำไรสะสม) มาจ่าย จึงถือว่าเป็นการจ่ายปันผลที่ดี
อัตราเงินปันผลจ่าย (Dividend Payout Ratio) เป็นอัตราเงินปันผลจ่ายเทียบกับกำไรในปีนั้นๆ ซึ่งควรใช้ตัวเลขจากอดีตที่มีการจ่ายปันผลเกิดขึ้นจริงแล้ว ไม่ได้ดูจากนโยบายการจ่ายปันผล ที่จะระบุอัตราเงินปันผลจ่าย (Dividend Payout Ratio) ซึ่งเป็นตัวเลขขั้นต่ำ และอาจจะจ่ายเฉพาะปีที่มีกำไรเท่านั้น อัตราเงินปันผลจ่ายที่ดี ควรจะอยู่ไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิในปีนั้นๆ เพื่อสะท้อนว่ากิจการเน้นจ่ายปันผล
อ่านมาถึงตรงนี้ คงมีคำถามว่า แล้วตัวเลขทั้งหลาย จะสามารถหาดูได้จากที่ไหน คำตอบคือ ถ้าเป็นข้อมูลรายบริษัทที่ครบถ้วนที่สุด ก็จะเป็นแบบรายการข้อมูลประจำปี ที่เรียกว่า “แบบ 56-1” ซึ่งเป็นรายงานการเปิดเผยข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนจัดทำขึ้นทุกปี และมีการเผยแพร่ข้อมูลบน Website :
www.set.or.th หาเองไม่ถูก ดูผ่านดัชนี SETHD
หากใครไม่มีเวลา ไปกรองหาหุ้นปันผล เบื้องต้นมีเครื่องมือช่วยกรองผ่านดัชนีหุ้นเน้นจ่ายเงินปันผล 30 หุ้น หรือ SETHD อยู่แล้ว ลองมาดูว่า มีเงื่อนไขในการคัดเลือกหุ้นปันผลเข้าในดัชนีดังกล่าวอย่างไรกันบ้าง
1. เป็นหุ้นจ่ายปันผลดี Top 30 หุ้น
2. มีโอกาสเติบโต โดยพิจารณาจาก Dividend Payout Ratio ไม่เกิน 100% มาแล้ว 3 ปีย้อนหลัง กล่าวคือ จ่ายปันผลจากกำไรที่เกิดขึ้นในปีนั้น ไม่จ่ายจากกำไรสะสมในปีก่อนๆ
3. มีการจ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง 3 ปีย้อนหลัง
หากเชื่อในตัวช่วยกรองหุ้นปันผลด้วยดัชนี SETHD ถามว่า แล้วหุ้นทั้ง 30 หุ้น ที่อยู่ในดัชนี SETHD จ่ายปันผลมาก อยู่ในระดับเท่าไหร่ ลองไปดูอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ย (Dividend Yield) ของดัชนี SETHD ย้อนหลัง 5 ปี (ข้อมูล ณ เดือนสุดท้ายของปี 2559-2563) อยู่ที่ 4.14%, 3.91%, 4.96%, 5.32% และ 6.34% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่า Dividend Yield ของดัชนี SET ในช่วงเวลาเดียวกัน เห็นอย่างนี้แล้ว การเลือกหุ้นปันผลจากดัชนี SETHD ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการค้นหาหุ้นปันผลดีได้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้น ซึ่งไม่มีข้อกำหนดว่าซื้อขั้นต่ำเท่าไหร่ หากจะทยอยซื้อหุ้นแบบ DCA สะสมสินทรัพย์ที่เป็นหุ้นปันผลไว้ เพื่อสร้างกระแสเงินสดก็ทำได้และเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้เลย ด้วยบริการออมหุ้น ที่มีให้บริการหลายบริษัทหลักทรัพย์รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย แต่สำหรับมือใหม่หัดลงทุน และไม่แน่ใจว่าจะเลือกหุ้นไหนดี อีกทางเลือกคือ การใช้กองทุนรวมเป็นเครื่องมือ
อีกทางเลือกผ่านกองทุนหุ้นปันผล
การใช้กองทุนรวมเพื่อสร้างกระแสเงินสด เป็นอีกหนึ่งทางเลือก สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเลือกหุ้นเองโดยตรง ลักษณะของกองทุนรวมหุ้นปันผล จะมีนโยบายลงทุนเน้นหุ้นที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ (จ่ายเงินปันผลสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด) ซึ่งจะทำให้ราคาหน่วยลงทุน(NAV)ของกองทุนมาจากเงินปันผลของหุ้นเป็นหลัก และอีกปัจจัยที่ควรพิจารณาในการเลือกกองทุน คือ นโยบายจ่ายเงินปันผลของกองทุน ขึ้นชื่อว่าปันผล ต้องดูว่าปันผลจากหุ้นเข้ากองทุนแล้ว จะสร้างกระแสเงินสดให้กับผู้ลงทุนได้ ก็ต้องเลือกกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลสูง ดูความถี่ในการจ่ายเงินปันผลด้วย ซึ่งเงินปันผลที่ได้ยังมีภาระภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ของเงินปันผลที่ได้รับด้วย โดยการรับเงินปันผลจะกระทบต่อราคาหน่วยลงทุน(NAV)ทำให้ลดลงด้วย
ยกตัวอย่างกองทุนหุ้นปันผล เช่น กองทุนเปิดเค หุ้นปันผล (K-VALUE) มีนโยบายลงทุนในหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี ที่เน้นจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด มีนโยบายจ่ายปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุน ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง ในอัตราไม่ต่ำกว่า 90% ของกำไรในงวดนั้น
อีกวิธีการคือเลือกกองทุนที่มีการขายหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Auto Redemption) ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนหน่วยลดลง แต่ไม่มีภาระภาษี
ยกตัวอย่างกองทุนที่ขายหน่วยลงทุนอัตโนมัติ เน้นสร้างรายได้สม่ำเสมอผ่านกองทุนหุ้น เช่น กองทุนเปิดเค สตาร์ หุ้นทุน (K-STAR) มีนโยบายลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี มีทั้งรูปแบบขายหน่วยลงทุนอัตโนมัติ เมื่อราคาหน่วยลงทุน (NAV) ขึ้นผ่านจุดที่กำหนด และจะทำการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติเมื่อมูลค่าครึ่งหนึ่งของกำไร ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท และรูปแบบสะสมมูลค่า
ต้องบอกว่าแนวทางค้นหาหุ้นห่านทองคำ ที่จะได้เงินปันผลออกมาสร้างกระแสเงินสดมีหลากหลายวิธีในการคัดกรองบทความนี้จะช่วยให้แยกแยะวิธีว่า จะเลือกหุ้นปันผลเองผ่านการทำการบ้านเอง หรือผ่านการคัดกรองจากตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกลงทุนให้เหมาะกับสไตล์ของแต่ละคน ถ้าไม่ถนัดคัดกรองเอง มีทางเลือกให้ผู้จัดการกองทุนช่วยคัดกรองผ่านกองทุนรวมเน้นหุ้นปันผลก็ได้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้นหรือกองทุนหุ้นเพียงอย่างเดียวก็มีความเสี่ยง ควรจะมีการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนที่หลากหลายสินทรัพย์ หากยังไม่เคยมีบัญชีหุ้นหรือบัญชีกองทุนรวมมาก่อน ก็สามารถเปิดบัญชีหุ้นหรือบัญชีกองทุนได้บนแอปพลิเคชัน K-PLUS และซื้อขายหุ้นได้บนแอปพลิเคชัน KS Super Stock ซื้อขายและติดตามกองทุนอย่างละเอียดบนแอปพลิเคชัน K-My Fund สำหรับกองทุน บลจ.กสิกรไทย หรือ Finvest กับ 16 บลจ. ชั้นนำ ที่จะช่วยให้เริ่มต้นลงทุนกองทุนได้ง่ายๆ
Disclamer : “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง :