ออมและลงทุน
คนสายไหนลงทุนยังไงก็ไม่รวย
“การลงทุนให้ประสบความสำเร็จนั้นสำคัญที่ความสม่ำเสมอและมีวินัย
ไม่ผลีผลาม และคอยปรึกษาข้อมูลจากผู้รู้จริง ไม่ตื่นเต้นตกใจไปกับข่าวลือ”
- K-Expert -
เริ่มต้นปีใหม่นี้ หลายต่อหลายคนคงเริ่มตั้งอกตั้งใจวางเป้าหมายใหม่ๆที่ดีต่อใจ ซึ่งบ่อยครั้ง K-Expert ก็จะเจอนักลงทุนที่ตั้งเป้าหมายว่า “จะรวยปีนี้”
บางท่านเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ ปีที่ผ่านๆ มาตั้งหน้าตั้งตาออมเงินมาก้อนหนึ่ง ศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องลงทุน ไปสัมมนามาก็แล้ว อ่านหนังสือค้นคว้าด้วยตัวเอง จนเริ่มคันไม้คันมืออยากลอง หรือบางท่านก็เป็นนักลงทุนหน้าเก่า แต่อาจจะยังอยู่ในขั้นลงเล่นๆ ไม่จริงจัง ยังไม่เทิร์นโปรซักที กะว่าปีนี้แหละ ฟ้าเปิด เตรียมจัดหนักจัดเต็ม
แต่เดี๋ยว...การลงทุนมันก็เหมือนเป้าหมายอื่นๆ ของชีวิต มันมีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จ และคนที่ fail วันนี้ K-Expert เลยจะมาแฉว่า คนสายไหนที่มักจะไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน
1. สายบอด – ตะบี้ตะบันลงทุนอย่างไม่มีแผน ไม่เคย set target อะไร เอะอะอะไรก็ทุ่มเงินเข้าไปอย่างเดียว เหมือนหลับตาขับรถบนทางด่วน รอเวลาดับอนาถอย่างเดียว
ทางแก้ : สร้างแผนและนโยบายการลงทุนของตัวเองให้ชัดเจน ประกอบด้วย 3 ข้อด้วยกัน
1.1 ตั้งเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการลงทุนให้ชัด เช่น จะแต่งงานอีก 2 ปี ใช้เงินหกแสน จะดาวน์บ้านอีก 6 เดือนใช้เงินสามแสน เก็บตังค์เพื่อเกษียณที่จะใช้ในอีก 30 ปีให้ได้เจ็ดล้าน เมื่อได้เป้าชัดเจน ว่าจะเอาเงินไปทำอะไร และใช้เท่าไร ก็จะช่วยให้ลงทุนได้อย่างมีกลยุทธ์มากขึ้น
คำเตือน : ลงทุนเพื่อเอาชนะตลาด ไม่ใช่เป้าหมายนะครับ
1.2 รู้ชัดถึงความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ – การเข้าใจว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้แค่ไหนทำให้ไม่ลงทุนมือเติบเกินกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อลงทุนโดยการใช้เหตุผล ลดอารมณ์หรือความโลภ การลงทุนก็จะเป็นไปตามแผน
คำเตือน : ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในชีวิต เช่น แต่งงาน หรือ มีลูก ควรมีการประเมินเรื่องความเสี่ยงที่รับได้ใหม่ เพราะเหตุการณ์สำคัญบางอย่างอาจจะทำให้เรารับความเสี่ยงได้น้อยลง
1.3 มีสัดส่วนการลงทุนชัดเจน – ไม่ใช่ว่าประเมินตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้สูง ก็ตะบี้ตะบันซื้อหุ้น ซื้อทองอย่างเดียว กระจายความเสี่ยงโดยการจัดพอร์ตการลงทุนที่ชัดเจนจะดีกว่า เช่น แบ่งสัดส่วนเงิน 100 บาท กระจายลงทุนในหุ้น 60 บาท ตราสารหนี้ 30 บาท อีก 10 บาทจะไปลงทุนในทอง วันไหนตลาดร่วง ก็ไม่เจ็บตัวมาก เพราะได้กระจายความเสี่ยงตามสินทรัพย์ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้แล้ว
2. สายเร่ง – ตั้งเป้าเก็บเงินเกษียณที่จะใช้ในอีก 30 ปีข้างหน้า แต่กลับลงทุนเสี่ยงๆ หวังรวยไวๆ หยั่งกับว่าจะเอากำไรไปเกษียณวันนี้ พรุ่งนี้
ทางแก้ : นึกเสมอว่าหากเป็นเป้าหมายระยะยาวก็ต้องมองกันยาวๆ อย่า focus แค่เพียงระยะสั้นมากเกินไปสำหรับเป้าหมายที่เกินกว่า 3 ปี
3. สายข่าว – ตามติดทุกสถานการณ์การลงทุน กลั่นกรองข่าวจริง สุดท้ายเชื่อข่าวลือ งานงอกเพราะฟังเค้ามา
ทางแก้ : ใช้เวลาตามข่าวให้น้อยลง แล้วเอาเวลามาหาเงิน และลงทุนตามแผนที่วางไว้ สบายใจกว่า
4. สายปล่อย – สายนี้อุตส่าห์ทำดีมาได้ครึ่งทาง ช่วงแรกก็รัก ช่วงหลังมักห่างเหินไม่สนใจดูสัดส่วนพอร์ตลงทุนของตัวเองให้เหมาะสม ปล่อยให้ความโลภเข้าครอบงำในช่วงตลาดขาขึ้น เมื่อตลาดเข้าสู่ขาลง ความติดดอยจึงมาเยือน
ทางแก้ : คอยตรวจสอบสัดส่วนของพอร์ตว่าสมดุลอยู่หรือไม่ เนื่องจากสินทรัพย์อาจมีขึ้นมีลงทำให้สัดส่วนบิดเบี้ยว ควรตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
5. สายมั่น – อินดี้ไม่ฟังใคร เชื่อไอเดียของตัวเองว่าจับจังหวะเก่ง ซื้อถูกสุด ขายแพงสุด สุดท้ายก็คร่อมจังหวะ ซื้อมาแพง แดงยกพอร์ต
ทางแก้ : พึงระลึกไว้เสมอถึงพุทธสุภาษิตว่า ใดๆ ในโลกนี้ล้วนอนิจจัง การคาดการณ์ตลาดนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพราะมีอยู่หลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอนาคตที่เราไม่รู้ ดังนั้นแทนที่จะมานั่งคาดเดาเพื่อหวังเก็งกำไร ควรมุ่งเน้นที่แผนการลงทุน และทำตามแผนอย่างมีวินัยสม่ำเสมอด้วยการลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging (DCA) จะดีกว่า
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็อยากจะให้ทุกคนรีบสำรวจตัวเอง อย่าได้กลายเป็นสายต่างๆ ที่ว่ามาการลงทุนให้ประสบความสำเร็จนั้นสำคัญที่ความสม่ำเสมอและมีวินัย ไม่ผลีผลาม และคอยปรึกษาข้อมูลจากผู้รู้จริง ไม่ตื่นเต้นตกใจไปกับข่าวลือ ค่อยๆ ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและมีวินัย ช้านิดช้าหน่อยอย่าท้อแท้ คิดไว้เสมอว่าดีกว่ารีบเร่ง สุดท้ายอาจจะสะดุดขาตัวเองกระเด็นออกนอกเส้นทาง ถึงตอนนั้นต้องมาเสียเวลาเยียวยารักษาบาดแผล แถมเสียความมั่นใจไปอีกนาน