24 ก.ค. 60

อยู่กับพอร์ตลงทุนอย่างไร ให้ใจนิ่ง

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

อยู่กับพอร์ตลงทุนอย่างไร ให้ใจนิ่ง


“ไม่ว่าจะเป็นการทยอยลงทุนแบบ DCA หรือ VA
ถ้ามีการจัดสรรสินทรัพย์ในพอร์ตให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมกับตัวเอง
จะช่วยให้เราจดจ่ออยู่กับสัดส่วนการลงทุนของพอร์ตและระยะเวลาของเป้าหมาย
ซึ่งก็จะทำให้เราอยู่กับพอร์ตได้ด้วยใจนิ่งๆ และรักษาวินัยในการลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ
โดยขจัดเรื่องอารมณ์ที่มีต่อตลาดและภาวะการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ออกไป”
- K-Expert -

          K-Expert มักพูดถึงเสมอเรื่องการลงทุนแบบจัดสัดส่วนเงินลงทุน หรือ Asset Allocation ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของการจัดพอร์ต โดยนักลงทุนจะกำหนดสัดส่วนเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างๆ ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ พิจารณาควบคู่กับระยะเวลาและความสำคัญของเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น รับความเสี่ยงได้ปานกลาง พอร์ตอาจแบ่งสัดส่วนเป็นลงทุนในตราสารหนี้ 70% และตราสารทุนอีก 30%

ทีนี้เมื่อมีพอร์ตที่เหมาะสมแล้ว เงินที่เราจะทยอยลงทุนเพิ่มควรจัดการอย่างไรดี?
          ที่ยกเอาคำถามนี้มาพูดถึง ก็สืบเนื่องมาจากหลายครั้งที่ได้พูดคุยกับนักลงทุนที่มา K-Expert Center ผู้เขียนมักได้รับคำบอกเล่าว่า ช่วงนี้หุ้นกำลังขึ้น จะซื้อเพิ่มก็กังวล จะขายออกก็ลังเล ต้นปีเคยตั้งใจไว้ว่า ปีนี้จะทยอยลงทุนเพิ่มให้ได้สม่ำเสมอทุกเดือน เดือนละเท่านั้นเท่านี้ สุดท้ายมัวแต่จดๆ จ้องๆ เลยทำให้ไม่ได้ลงทุนครบตามที่ตั้งใจ

          สังเกตไหมว่า มันมีเรื่องของอารมณ์เข้าเกี่ยวข้องตามภาวะการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ลงทุน โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นหรือทองคำ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติอะไร เพียงแต่เราจะทำอย่างไรดีให้การเก็บเงินลงทุนของเรายังคงมีความเสมอต้นเสมอปลาย และจัดการให้มีเรื่องอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องน้อยที่สุด

ลองมาดู 2 วิธีที่จะช่วยให้ลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอและยังรักษาสัดส่วนการลงทุนไปด้วย         
          วิธีแรก เติมเงินลงทุนแบบ Dollar Cost Average (DCA) วิธีนี้เป็นการทยอยลงทุนแบบถัวเฉลี่ยเท่าๆ กันในทุกๆ สินทรัพย์เสมอ และเมื่อครบปี จึงจะมาทบทวนกันดูอีกทีว่า สัดส่วนพอร์ตเบี้ยวไปจากตอนตั้งต้นหรือไม่ ถ้าเพี้ยนไป ก็ปรับให้สัดส่วนกลับมาคงเดิม ด้วยการขายสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนเกิน และนำเงินไปซื้อเพิ่มสินทรัพย์ที่สัดส่วนพร่องไป

          เช่น ถ้าสัดส่วนพอร์ตเราเป็นอย่างข้างต้น (ตราสารหนี้ 70% ตราสารทุน 30%) ด้วยจำนวนเงินลงทุนต้นปี 10,000 บาท พอร์ตตั้งต้นเราจะมีตราสารหนี้ 7,000 บาท ตราสารทุน 3,000 บาท ทุกเดือนจะลงทุนเพิ่มอีกเดือนละ 5,000 บาท ดังนั้น แต่ละเดือนเราจะกระจายไปซื้อตราสารหนี้ 3,500 บาท และซื้อตราสารทุน 1,500 บาทเสมอ

          สมมติว่าครบปี เงินลงทุนรวมในพอร์ตเท่ากับ 75,000 บาท โดยแบ่งเป็นตราสารหนี้มูลค่า 50,000 บาท (67%) และตราสารทุน 25,000 บาท (33%) สัดส่วนพอร์ตนั้นเพี้ยนไปจากตอนแรก ดังนั้น เพื่อทำให้สัดส่วนกลับมาเท่าเดิม เราจะทำการขายตราสารทุนออกไป 2,500 บาท แล้วนำไปซื้อตราสารหนี้เพิ่ม 2,500 บาท เมื่อทำแบบนี้ เงินลงทุนในตราสารหนี้ก็จะกลายเป็น 52,500 บาท (70%) และตราสารทุนเป็น 22,500 บาท (30%) นั่นเอง​ 

          วิธีที่สอง เติมเงินลงทุนแบบ Value Average (VA) วิธีนี้เป็นการทยอยลงทุนแบบรักษาสัดส่วนพอร์ตให้เท่าเดิมเสมอในทุกงวดที่ลงทุนเพิ่ม โดยจำนวนเงินในแต่ละเดือนนั้นยังเป็นจำนวนเงินเท่าๆ กัน แต่จะแบ่งไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ไม่เท่ากัน เพื่อปรับสัดส่วนให้คงเดิมทุกเดือน

          สมมติว่า เราใช้สัดส่วนพอร์ตแบบเดิมที่ตราสารหนี้ 70% ตราสารทุน 30% เงินลงทุนตั้งต้น 10,000 บาท และลงทุนเพิ่มอีกเดือนละ 5,000 บาท

          พอร์ตตั้งต้นจะมีตราสารหนี้ 7,000 บาท และตราสารทุน 3,000 บาท สิ้นเดือนแรก จะมาดูก่อนว่ามูลค่าของแต่ละสินทรัพย์เป็นอย่างไร สมมติว่าตราสารหนี้มูลค่าเป็น 7,100 บาท (69%) ตราสารทุนเป็น 3,200 บาท (31%) รวมเป็น 10,300 บาท

          ทีนี้ให้ลองนำมารวมกับเงินลงทุนเพิ่มของเดือนแรกอีก 5,000 บาท เป็น 15,300 บาท เพื่อคงสัดส่วน 70%:30% เราควรจะมีตราสารหนี้เท่ากับ 10,710 บาท และควรมีตราสารทุน 4,590 บาท ดังนั้น เงิน 5,000 บาท จะแบ่งไปซื้อตราสารหนี้ 3,610 บาท และซื้อตราสารทุน 1,390 บาท เพื่อรักษาสัดส่วนให้คงที่ โดยแต่ละเดือน จะทำในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ ดูมูลค่าของแต่ละสินทรัพย์ แล้วค่อยจัดสรรเงินที่ลงทุนเพิ่มนั่นเอง

          สังเกตว่าวิธีแบบ DCA นั้น มีความง่ายกว่ามากในทางปฏิบัติ เพราะจำนวนเงินลงทุนรายเดือนที่กระจายไปในแต่ละสินทรัพย์นั้นเท่ากันเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ลงทุนรายเดือนด้วยการตั้งซื้ออัตโนมัติที่มักให้เรากำหนดจำนวนเงินลงทุนที่แน่นอน แต่หน้าที่ของเราคือ เมื่อครบปีควรมาทบทวนสัดส่วนพอร์ตเสมอ หากสัดส่วนเพี้ยนไป ก็ปรับให้กลับมาคงเดิม

          ในขณะที่วิธีแบบ VA นั้น อาจยุ่งยากกว่านิดหน่อย เพราะต้องคอยมาปรับจำนวนเงินลงทุนเพิ่มในแต่ละสินทรัพย์ แต่ก็ช่วยรักษาสัดส่วนพอร์ตให้มีเงินในแต่ละสินทรัพย์เป็นอย่างตอนตั้งต้นเสมอ นอกจากนี้ ในแต่ละเดือน การที่เราซื้อสินทรัพย์ที่ราคาขึ้นสูงในจำนวนที่น้อยลง และซื้อสินทรัพย์ที่ราคาปรับขึ้นน้อยกว่าหรือราคาลดลงในจำนวนที่มากขึ้น ก็เปรียบเสมือนเป็นการจับจังหวะลงทุนกลายๆ ด้วย

           แต่ทั้งสองวิธีนี้ ช่วยให้เราจดจ่ออยู่กับสัดส่วนการลงทุนของพอร์ตที่เหมาะสมกับตัวเองและระยะเวลาของเป้าหมาย ซึ่งก็จะทำให้เราอยู่กับพอร์ตได้ด้วยใจนิ่งๆ และรักษาวินัยในการลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ โดยขจัดเรื่องอารมณ์ที่มีต่อตลาดและภาวะการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ออกไป ​ลองพิจารณาดูว่าวิธีไหนที่เหมาะกับลักษณะการลงทุนของตัวคุณเอง

ให้คะแนนบทความ

บุษยพรรณ วัชรนาคา CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย