ออมและลงทุน
ลงทุนดี... ทำไมไม่ได้ดี?
การลงทุนในหุ้นมักให้ผลตอบแทนสูงกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น เช่น เงินฝาก พันธบัตร เป็นต้น ดังนั้น ใครก็ตามที่เปิดบัญชีหลักทรัพย์หรือกองทุนหุ้นก็ควรดีใจว่าตนมาถูกทางแล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ “เจ๊งหุ้น” และเลิกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ไป
การเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioural Finance) มีคำอธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรมการลงทุนที่ไม่สมเหตุสมผลไว้มากมาย เรื่องแรกที่อยากกล่าวถึงคือผู้ลงทุนมัก “ชะล่าใจเกินไป” เรื่องนี้ผมอ้างอิงแนวคิดของเดวิด ดันนิ่ง (David Dunning) และจัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) ซึ่งอธิบายว่าคนเรามักประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าที่ควร และเมื่อพบเหตุการณ์จริงที่ผิดคาดก็จะทำให้ความมั่นใจร่วงลงอย่างมาก (ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมจาก Dunning-Kruger Effect)
โดยในเรื่องของการลงทุนนั้น ผู้ลงทุนมือใหม่มักพกเงินทุนมาพร้อมกับความมั่นใจว่าจะสามารถทำกำไรจากตลาดหุ้นได้ แต่เมื่อพบกับสภาพจริงที่ตลาดหุ้นร่วงลงรุนแรงติดต่อกัน ซื้อแล้วไม่ขึ้น ขายแล้ววิ่งต่อ ฯลฯ ทำให้จิตใจห่อเหี่ยวดิ่งลงสู่ “หุบเหวแห่งความท้อใจ” (Trough of Depression) ซึ่งแสดงออกมาในเชิงการปิดหน้าจอ ปฏิเสธการรับรู้ภาวะตลาด หรือไม่ก็ปิดบัญชีซื้อขายหุ้น
อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ลงทุนไม่ได้ดีคือ “ตัดสินใจตามคนอื่น” การขาดการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลทำให้ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงเลือกที่จะอิงตาม
“ปัญญาแห่งมหาชน” (Wisdom of the Crowd) พูดง่ายๆ คือหากเห็นคนรอบข้างซื้อแล้วกำไรก็จะเริ่มสนใจซื้อตาม ปัญหาของการตัดสินใจแบบนี้คือเข้าซื้อช้ากว่าคนอื่น เพราะมักจะอยู่ในช่วงตลาดขาขึ้นสักระยะหนึ่งแล้ว ทำให้ได้ต้นทุนแพงและช่องว่างในการทำกำไรก็แคบ
และยิ่งผู้ลงทุนรายนั้นถูกครอบงำด้วยอคติที่เรียกว่า Recency Bias คือการอิงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดเป็นตัวคาดเดาอนาคต เช่น เห็นหุ้นขึ้นทะลุแนวต้านหลายครั้งก็ยิ่งมั่นใจว่าหุ้นจะขึ้นต่อ จึงเข้าซื้อหนักมือกว่าเดิมในช่วงปลายรอบ ทำให้เปิดรับความเสี่ยงขาดทุนหากตลาดกลับทิศมาเป็นขาลงมากกว่าคนที่ทยอยลดพอร์ตไปแล้ว
เรื่องสุดท้ายคือน่าจะตรงกับคำไทยว่า “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” ในกรณีที่ตลาดปรับเป็นขาลง การตัดสินใจจะถูกบิดเบือนด้วยการเลี่ยงการสูญเสีย (Loss Aversion) กล่าวคือหากเห็นว่ากำไรน้อยลงกว่าเมื่อวาน สมองจะตีความว่าเป็นการสูญเสีย ทำให้ไม่ยินดีที่จะขายออกแม้ว่าตนเองยังคงกำไรอยู่ก็ตาม ยิ่งตลาดลงไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งที่จะไม่ยอมขาย จนกระทั่งไม่เห็นโอกาสที่จะกลับมากำไรเหมือนเดิมจึงขายออกมาในจุดที่กำไรน้อยหรือไม่ก็ขาดทุน
โดยรวมแล้ว การเลือกสินทรัพย์ที่ดีจึงไม่สามารถให้ผลตอบแทนดีได้เนื่องจากการตัดสินใจอย่างไม่สมเหตุสมผล ได้แก่ การเดินไปในที่ที่ไม่คุ้นเคยด้วยความมั่นใจเกินไปแทนที่จะระมัดระวัง การซื้อหุ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ควรทยอยขายออกในภาวะตลาดขาขึ้น หรือการไม่กล้าขายทำกำไรขณะที่ยังมีโอกาสในภาวะตลาดขาลง เป็นต้น
สำหรับผู้ลงทุนมือใหม่นั้นการถือหุ้นยาวจะให้ประโยชน์มากกว่า ทาง K-Expert ได้นำดัชนีหุ้นไทยระหว่างปี 2519 ถึง 2558 มาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาถือครองกับผลลัพธ์การลงทุน โดยวัดผลตอบแทนเมื่อครบรอบที่กำหนด เช่น หนึ่งปีหมายถึงวัดผลตอบแทนเป็นรายปี ส่วนการวัดแบบสามปีหมายถึงผลตอบแทนเป็นช่วง เช่น 2519 ถึง 2521 หลังจากนั้นก็ขยับรอบไปเป็น 2520 ถึง 2522 เช่นไปเรื่อยๆ ในลักษณะของการหาค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average)
จากตารางจะเห็นว่าการถือสั้นเช่นหนึ่งปีขาย จะมีโอกาสที่เจอปีที่ขาดทุนประมาณหนึ่งในสาม เทียบกับการถือยาวเช่นห้าปีขาย ซึ่งจะเจอรอบที่ขาดทุนเพียงหนึ่งในห้า ขณะที่ผลตอบแทนต่อปีของการถือครองยาวนั้นสูงกว่าการถือครองสั้นพอควร
ระยะเวลาถือครอง
|
1 ปี
|
3 ปี
|
5 ปี
|
จำนวนรอบที่ขาดทุน
| 37%
| 29%
| 19%
|
ผลตอบแทนเฉลี่ย/ปี/รอบ
| 3.64%
| 8.66%
| 9.11%
|
การจะกล้าซื้อในช่วงตลาดกำลังเป็นขาขึ้นและกล้าขายก่อนที่ตลาดจะเป็นขาลง อาศัยลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ “สติ” และ “ปัญญา” ซึ่งฟังดูก็อาจคล้ายหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
การฝึกสติในทางธรรมคือการอยู่กับสภาวะปัจจุบัน รู้ทันว่ามีอารมณ์อะไรมากระทบ ส่วนสติในเชิงการลงทุนคือการรู้ตัวว่าการตัดสินใจแต่ละครั้งกำลังถูกครอบงำด้วยอคติหรืออารมณ์ใดอยู่ ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะไม่เห็นสภาพตามความจริง ส่วนปัญญาแสดงออกมาด้วยการทำกระทำ กล่าวคือการตัดสินใจนั้นมีเหตุผลที่เหมาะสมหรือไม่ เราสามารถใช้วิธีจดลงในสมุดคล้ายไดอารี่ว่าซื้อขายวันนี้เพราะอะไรเพื่อจะได้กลับมาทบทวนในวันหลังและปรับปรุงตัวเองต่อไป
จริงๆ แล้วผมยังเล่าเรื่องดันนิ่ง-ครูเกอร์ เอฟเฟ็คต์ ค้างไว้หน่อยนึง หุบเหวแห่งความท้อใจที่ว่านั้นไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นแค่สถานการณ์ที่พบเจอในช่วงหนึ่งของชีวิต เราอาจเรียกมันว่า “ประสบการณ์” ซึ่งจะสอนให้ผู้ลงทุนแข็งแกร่งขึ้นหากยืนหยัดฝ่าฟัน หลังจากนั้นความมั่นใจจะเริ่มกลับขึ้นมาอยู่ในระดับที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป เป็นตัวพยุงให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนได้