22 ส.ค. 62

ถ้ามีหุ้นเพิ่มทุน ควรทำยังไงดี

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​​​​​ถ้ามีหุ้นเพิ่มทุน ควรทำยังไงดี


          หากคุณเป็นนักลงทุนที่อยู่ในตลาดมาสักพักหนึ่ง คุณอาจจะมีทั้งประสบการณ์ที่ดีและไม่ดี จนทำให้ได้เรียนรู้วัฎจักรในแต่ละช่วงที่มีทั้งบาดเจ็บและสมหวังสลับกันไปมา ในช่วงที่เศรษฐกิจดี กิจการมีกำไร บริษัทก็จะให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนในรูปแบบของเงินปันผลได้ หรือในบางช่วงบริษัทอาจต้องการเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อนำมาบริหารกิจการต่อ โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อบริษัทต้องการระดมเงินทุนก็จะมีทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินจากแหล่งต่างๆ หรือการออกหุ้นกู้ ซึ่งทำให้บริษัทมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย แต่ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งที่บริษัทจะระดมเงินได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยนั่นก็คือ การระดมทุนจากนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นเดิมที่เรียกว่า “การออกหุ้นเพิ่มทุน” นั่นเองค่ะ


          หุ้นเพิ่มทุน คือ การที่บริษัทนำหุ้นของบริษัทออกมาจำหน่ายเพิ่มเติมจากเดิม ซึ่งจะทำให้มีจำนวนหุ้นในตลาดเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าของกิจการยังคงเท่าเดิม ส่งผลให้ราคาของหุ้นลดลง แต่ในบางครั้งหุ้นที่เพิ่มทุนก็ทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่บริษัทต้องการระดมเงินและนักลงทุนมีความคิดเห็นอย่างไรกับแนวคิดนั้น ซึ่งสาเหตุที่บริษัทต้องออกหุ้นเพิ่มทุนในแต่ละบริษัทย่อมแตกต่างกันออกไป ได้แก่

               • เพื่อขยายกิจการ โดยบริษัทคาดหวังว่าจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มสาขา หรือควบรวมกิจการ ทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มมากขึ้นได้
               • เพื่อใช้คืนหนี้เงินกู้ต่างๆ ช่วยลดภาระของดอกเบี้ย หรือคืนเงินให้กับนักลงทุนที่ถือหุ้นกู้ของบริษัทอยู่ 
               • เพื่อล้างขาดทุนสะสม (ทำให้สามารถจ่ายปันผลได้ในอนาคต) กรณีนี้นักลงทุนอาจต้องระวังเนื่องจากบริษัทอาจประสบปัญหาทางด้านการเงินอยู่ก็เป็นได้

          ดังนั้น ถ้าหุ้นที่ถืออยู่ประกาศเพิ่มทุน เราควรทราบสาเหตุของการเพิ่มทุนที่แท้จริงก่อน จากนั้นดูว่าบริษัทมีแนวทางหรือนโยบายอย่างไร อีกทั้งยังต้องวิเคราะห์งบการเงินของบริษัท โดยมีทางเลือกในการตัดสินใจดังนี้

               • หากบริษัทมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี งบการเงินมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็เตรียมเงินไว้จ่ายค่าหุ้นเพิ่มทุนได้เลย
               • หากอยากเพิ่มทุน แต่ไม่มีเงินมาเติม เราอาจต้องทำการขายหุ้นที่มีอยู่ก่อนวันขึ้นเครื่องหมาย XR (Excluding Rights) เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าเพิ่มทุน ซึ่งราคาที่เสนอผู้ถือหุ้นเดิมมักต่ำกว่าราคาตลาด
               • หากมองว่าบริษัทมีแนวโน้มการเติบโตที่ถดถอย งบการเงินติดลบเป็นระยะเวลานาน และเราไม่ได้สนใจจะเพิ่มทุน เราต้องทำการขายหุ้นทั้งหมดทิ้งก่อนวันที่ขึ้นเครื่องหมาย XR (Excluding Rights)

          หากเราไม่เลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง เมื่อหุ้นมีการเพิ่มทุนไปแล้ว พอร์ตการลงทุนของเราจะได้รับผลกระทบจากราคาหุ้นที่ลดลงตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น หรือที่เรียกกันว่า “ Dilution Effect” โดยมีตัวอย่างและสูตรในการคำนวณดังนี้ 

          ตัวอย่าง บริษัท A ประกาศเพิ่มทุนในอัตราส่วน 1:2 คือ 1 หุ้นเดิมเท่ากับ 2 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นใหม่ 80 บาทต่อหุ้น หากผู้ถือหุ้นเดิมถือหุ้นอยู่ 100 หุ้น ราคาปิดก่อนวันขึ้น XR ราคาหุ้นละ 100 บาท ผู้ถือหุ้นเดิมจะมีสิทธิซื้อหุ้นใหม่ของบริษัท A ได้จำนวน 200 หุ้น ซึ่งเท่ากับ 16,000 บาท    

ราคาตลาดหลังเพิ่มทุน  =  [(อัตราหุ้นเดิม x ราคาก่อนวัน XR) + (อัตราหุ้นเพิ่มทุน x ราคาสิทธิ)] / (จำนวนหุ้นเดิม + จำนวนหุ้นเพิ่มทุน)
                                   = [(1 x 100) + (2 x 80)] / (2 + 1)
                           = 86.67 บาทต่อหุ้น

          ถ้าเราอยากใช้สิทธิเพิ่มทุนสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ดูแลบัญชีหลักทรัพย์ (บัญชีหุ้น) ของเรา เพื่อส่งเอกสารต่างๆ แก่เจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ได้แก่

               • ใบจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน พร้อมกรอกรายละเอียดให้ถูกต้องครบถ้วน และลงลายมือชื่อ
               • ใบรับรองสิทธิการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน ซึ่งออกโดยบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
               • หลักฐานการชำระเงิน
               • สำเนาบัตรประชาชน / สำเนาใบต่างด้าว / สำเนาหนังสือเดินทาง ที่ยังไม่หมดอายุ

          เพียงแค่นี้เราก็จะได้หุ้นเข้ามาอยู่ในพอร์ตของเราเพิ่มขึ้นแล้วค่ะ การเพิ่มทุนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้น ก่อนตัดสินใจใช้สิทธิต้องพิจารณาให้ดี ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ที่สำคัญ อย่าลืมว่าถ้าบริษัทมีการประกาศเพิ่มทุน เราจำเป็นต้องเลือกทางใดทางหนึ่งเสมอ อย่าอยู่นิ่งเพราะจะขาดทุนทันที นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายครั้งที่การเพิ่มทุนมักจะแถมใบสำคัญแสดงสิทธิมาให้ด้วย อนาคตถ้าเราใช้สิทธิเพิ่มทุนจะทำให้เราได้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นมาหลังการใช้สิทธิ



บทความที่เกี่ยวข้อง:



ให้คะแนนบทความ

วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จาก K-Expert

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย

ที่ปรึกษาทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย ที่ผ่านการอบรมวุฒินักวางแผนการเงิน (CFP)