13 เม.ย. 63

วิธีจัดการเงิน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

วิธีจัดการเงิน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต


​​สงกรานต์ปีนี้ น่าจะเป็นปีที่เงียบเหงา  เนื่องจากถูกยกเลิกไม่ให้เป็นวันหยุดราชการ และไม่เป็นวันหยุดงานของภาคเอกชน  เมื่อปีนี้ สงกรานต์ไม่ใช่วันหยุด ประกอบกับมาตรการของภาครัฐ ที่ให้อยู่บ้าน หยุดแพร่เชื้อ ต้านโควิด เพื่อชาติ  ทำให้เงินที่เราเก็บออมเดิม เพื่อจุดประสงค์ในการเดินทางท่องเที่ยวในเทศกาลสงกรานต์ก็น่าจะคงเหลืออยู่  เงินออมก้อนนี้ขอแนะนำให้อย่าเพิ่งรีบใช้ไปกับสิ่งที่ฟุ่มเฟือย หรือสิ่งที่ไม่จำเป็น  ควรเก็บออมเงินดังกล่าวไว้ใช้ในอนาคตที่ยังมีเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนรออยู่  ที่แน่ ๆ คือ ภาวะเศรษฐกิจไทยที่น่าจะชะลอตัวลง  ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา มีหลายธุรกิจต้องทำการปรับลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มขอความร่วมมือ ให้สลับกันลาหยุดแบบไม่รับเงินเดือน ขอปรับลดเงินเดือน หรือบางธุรกิจถึงกับเลิกจ้างพนักงาน  ทั้งนี้ แม้ว่าตอนนี้เราจะยังไม่เจอกับสถานการณ์ดังกล่าว แต่อย่าชะล่าใจ  ขอแนะนำให้เก็บเงินออมดังกล่าว ไว้ใช้สำหรับดำรงชีวิตในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดข้างต้น  โดยเงินออมก้อนดังกล่าว สามารถนำมาเตรียมการเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต และยังสามารถนำไปลงทุนให้มีผลตอบแทนงอกเงยได้  K-Expert มีข้อเสนอแนะทางการเงิน พร้อมทั้งแหล่งลงทุน เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับเงินออมดังกล่าว ดังนี้


- ในกรณีที่ยังไม่มีเงินสำรองสภาพคล่องไว้ใช้ยามฉุกเฉิน 

​K-Expert แนะนำให้นำเงินออมดังกล่าวเก็บไว้เป็นเงินสำรองสภาพคล่องฉุกเฉิน เพื่อรองรับยามเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด  ซึ่งควรมีเงินสำรองสภาพคล่องฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เท่าของรายจ่ายรายเดือน  ในกรณีหากมีไม่ถึง 6 เท่าของรายจ่าย ให้ทยอยสะสมเพิ่มให้ครบ โดยลองแบ่งเงินประมาณ 5-10% ของรายได้ มาสะสมจนได้เงินสำรองสภาพคล่องฉุกเฉินครบตามจำนวนที่ต้องการ  และนำเงินดังกล่าวประมาณ 1 เท่าของรายจ่าย วางไว้ที่บัญชีออมทรัพย์ ที่สามารถถอนได้ตลอดเวลาที่ต้องการ ส่วนอีก 5 เท่านำไปลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน ที่มีความเสี่ยงต่ำ  โดยเลือกกองทุนรวมตลาดเงินที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ  และมีสภาพคล่องสูง คือสามารถขายกองทุนได้ทุกวันทำการ และได้รับเงินค่าขายคืนภายใน T+1  และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการใช้เงินสำรองสภาพคล่องฉุกเฉินในบัญชีออมทรัพย์ไป  ให้ขายเงินลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินมาชดเชยเงินที่ใช้ไปในบัญชีออมทรัพย์


- ในกรณีที่มีเงินสำรองสภาพคล่องฉุกเฉินแล้ว และสามารถลงทุนได้ตามระยะเวลา รับความเสี่ยงได้ต่ำ

K-Expert แนะนำให้นำเงินออมดังกล่าว มาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีระยะเวลา 3 เดือน, 6 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะลงทุนในตราสารหนี้ (หุ้นกู้) หรือเงินฝากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีระยะเวลา จะแตกต่างจากการนำเงินไปฝากประจำแบบมีระยะเวลา ดังนี้

1) การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีระยะเวลา มักจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าบัญชีเงินฝากประจำ  และการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีระยะเวลา ไม่ต้องถูกหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายเหมือนบัญชีเงินฝากประจำอีกด้วย

2) แต่การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีระยะเวลา ผู้ลงทุนจะไม่สามารถถอนหรือนำเงินออกจากกองทุนก่อนระยะเวลาการลงทุนได้  เช่น หากลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีระยะเวลา 3 เดือน ก็ต้องลงทุนจนครบระยะเวลา 3 เดือน ต่างจากบัญชีเงินฝากประจำ ถึงแม้ว่าผู้ฝากจะฝากระยะเวลา 3 เดือน แต่ในยามที่ต้องการใช้เงิน สามารถถอนเงินออกมาใช้ได้  เพียงแต่ผู้ฝากจะไม่ได้รับอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ 

ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีระยะเวลา  สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ หรือสถาบันการเงินที่กองทุนไปลงทุนหรือไปฝาก ต้องเป็นตราสารหนี้ หรือสถาบันการเงินที่ดี มีความน่าเชื่อถือสูง เพื่อป้องกันโอกาสผิดนัดชำระหนี้ และไม่ให้เงินที่เราลงทุนไปต้องเสียหายหรือสูญหายไป

- ในกรณีที่มีเงินสำรองสภาพคล่องฉุกเฉินอยู่แล้ว  และสามารถลงทุนได้ระยะยาว รับความเสี่ยงได้ปานกลาง 

คุณอาจจะนำเงินออมดังกล่าวมาลงทุนในกองทุนรวมผสม ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน  และสามารถเลือกกองทุนผสม ที่มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น หากรับความเสี่ยงได้ปานกลาง อาจเลือกกองทุนผสมที่มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนประมาณ 30-50%  ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนรวมผสม จะช่วยลดความผันผวนหรือความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงได้บ้าง  เนื่องจากยังมีผลตอบแทนจากดอกเบี้ยในตราสารหนี้มาช่วยรองรับการปรับตัวลงของราคาหุ้น


- ในกรณีที่มีเงินสำรองสภาพคล่องฉุกเฉินอยู่แล้ว และสามารถลงทุนได้ระยะยาว รับความเสี่ยงได้สูง  

คุณอาจเริ่มนำเงินออมมาลงทุนในกองทุนตราสารทุน (กองทุนหุ้น) ซึ่งมีทั้งกองทุนหุ้นในประเทศ และต่างประเทศ มีทั้งกองทุนหุ้นที่มีกลยุทธ์ลงทุนแบบ Passive (ผลตอบแทนเคลื่อนไหวตามผลตอบแทนดัชนีที่อ้างอิง) และแบบ Active (ผู้จัดการกองทุนพยายามจะลงทุนแบบให้ชนะตลาด) มีทั้งแบบจ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายเงินปันผล ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกตามระดับความเสี่ยงและความต้องการของตนเองได้

 

​ทั้งนี้ ในการลงทุน มีข้อคิดสะกิดใจสำหรับทุกคนว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลทุกครั้งก่อนตัดสินใจลงทุน ดังนั้น ทุกครั้งที่จะลงทุนกับอะไร ควรศึกษาให้เข้าใจ และต้องมั่นใจว่ารับความเสี่ยงนั้นได้  และที่แน่นอน ไม่ควรนำเงินไปลงทุนกับสินทรัพย์ใดไว้เพียงอย่างเดียว แต่ควรกระจายความเสี่ยงออกไป โดยกระจายลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทด้วย 


ให้คะแนนบทความ

อิสราภรณ์ บุรณิกานนท์ CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย