04 ก.พ. 64

เทคนิคการเพิ่มผลตอบแทนแม้พอร์ตขาดทุน

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​เทคนิคการเพิ่มผลตอบแทนแม้พอร์ตขาดทุน


          สถานกาณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่ำสุดถึง 1,024.46 จุด ในวันที่ 23 มี.ค. 2563 (จาก 1,600.48 จุด ในวันที่ 17 ม.ค. 2563) ส่งผลให้สินทรัพย์ประเภทหุ้นนั้นปรับตัวลดลง และถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ดัชนีหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่านักลงทุนหลายคนยังคงประสบปัญหาขาดทุนอยู่ และเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสที่จะทำกำไร นักลงทุนสามารถมองหาทางเลือกโดยการใช้กองทุนมาช่วยเพิ่มผลตอบแทนเพื่อชดเชยผลขาดทุนได้


นำเงินที่ได้จากการประหยัดภาษีมาชดเชยผลขาดทุนด้วยการสับเปลี่ยนไปกองทุนลดหย่อนภาษี SSF /RMF

  หลังจากพ้นช่วงวิกฤตตลาดหุ้นก็มีการปรับเพิ่มขึ้นมาเป็นระยะ ถึงแม้ว่าปัจจุบันอาจจะยังไม่ได้กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับที่นักลงทุนเข้าซื้อ แต่การถือลงทุนระยะยาวมีโอกาสที่สินทรัพย์นั้นอาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาได้อีก และในจังหวะที่นักลงทุนถือกองทุนเพื่อรอให้สินทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น (จากขาดทุนมาเป็นกำไร) นักลงทุนยังสามารถเพิ่มผลตอบแทนได้โดยการสับเปลี่ยนกองทุนนั้นไปยังกองทุนลดหย่อนภาษีที่มีนโยบายคล้ายคลึงกัน แทนการถือกองทุนเดิมไปเรื่อยๆ เพราะอย่างน้อยส่วนที่ประหยัดภาษีจะช่วยชดเชยผลขาดทุนและค่าเสียโอกาสในการถือกองทุน ในขณะที่เงินก้อนใหม่ทำให้นักลงทุนมีอิสระในการเลือกลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย เช่น

          ลงทุนในกองทุน A ที่มีนโยบายการลงทุนหุ้น จำนวนเงิน 100,000 บาท ปัจจุบันขาดทุน 15,000 บาท โดยตั้งใจจะถือกองทุนนี้จนกว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ในปีนี้นักลงทุนต้องการซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีจึงได้ทำการสับเปลี่ยนกองทุนหุ้นไปยังกองทุน SSF (นโยบายเดียวกัน) เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี หากฐานภาษีอยู่ที่ฐาน 20% เมื่อลงทุน 85,000 บาท จะประหยัดภาษีไปได้ 17,000 บาท เมื่อเทียบกับผลขาดทุนตก่อนหน้านี้แล้วพบว่ามีส่วนต่างเป็นบวกอยู่ 2,000 บาท หรือเสมือนว่ายังไม่ขาดทุนเนื่องจากได้ผลประโยชน์ทางภาษีมาชดเชย และหากตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลให้ได้รับกำไรจากกองทุน เช่นเดียวกับที่ถือกองทุนเดิม อย่างไรก็ตามการสับเปลี่ยนแบบนี้อย่าลืมว่าเหมาะกับการลงทุนระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป ตามเงื่อนไขการถือครองกองทุน SSF ด้วย


หาจังหวะซื้อสินทรัพย์ที่ราคาถูกด้วยการปรับสัดส่วนการลงทุน (ปรับพอร์ต)

  ในช่วงวิกฤติการตัดสินใจนำเงินมาลงทุนเพิ่มอาจจะเป็นเรื่องลำบากใจ หรือบางครั้งเงินที่เตรียมไว้ก็นำไปลงทุนเพิ่มหมดแล้ว นักลงทุนสามารถใช้หลักการจัดพอร์ตเพื่อเป็นจุดตัดสินใจเข้าซื้อขายสินทรัพย์ โดยใช้วิธีการต่อไปนี้
1. กำหนดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงและเป้าหมายที่วางไว้ เช่น หากรับความเสี่ยงได้สูงมาก กำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น 5% ตราสารหนี้ระยะยาว 35% หุ้น 55% และ ทองคำ5%
2. ปรับสัดส่วน หากพบว่าสัดส่วนไม่เป็นไปที่ตั้งเป้าไว้ เช่น เมื่อมูลค่าการลงทุนในหุ้นปรับตัวลดลง และมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้มากเกินไป ให้ทำการขายตราสารหนี้และนำเงินไปซื้อหุ้นในจังหวะที่ราคาหุ้นอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งถือโอกาสเป็นการขายทำกำไรและนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ที่อยู่ในระดับต่ำโดยยังอยู่บนความเสี่ยงที่เหมาะสม ทำให้นักลงทุนมีโอกาสเพิ่มผลตอบแทนได้


​สัดส่วนการลงทุน
​ตราสารหนี้ระยะสั้น
​ตราสารหนี้ระยะยาว
​ตราสารทุน
​ทองคำ
​ตั้งเป้าหมาย
​5%
​35%
​55%
​5%
​ปัจจุบัน
​5%
​45%
​40%
​10%
​ปรับด้วยการ
​ไม่ต้องทำอะไร
​ขายออก 10%
​ซื้อเพิ่ม 15%​
​ขายออก 5%

          การสับเปลี่ยนกองทุนที่ขาดทุนไปยังกองทุนเพื่อการลดหย่อนภาษีหรือการปรับพอร์ตนั้นถือเป็นจังหวะที่ทำให้นักลงทุนได้มีโอกาสทบทวนแผนการลงทุนของตนเอง และที่สำคัญต้องมีการทำบันทึกผลขาดทุนเพื่อทำให้ทราบต้นทุนและกำไรที่แท้จริงหลังสับเปลี่ยนหรือปรับพอร์ต



บทความที่เกี่ยวข้อง : 

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง :
​- KEQRMF



ให้คะแนนบทความ

เสาวนีย์ พงษ์เสนีย์ CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย