ออมและลงทุน
วิธีรักษาอาการสายตาสั้นทางการเงิน
ถ้าถามว่า คุณมีการลงทุนแบบไหน? บ้างอาจตอบว่าลงทุนในหุ้น บ้างตอบทองคำ บ้างตอบกองทุนรวมหรือตราสารการเงินอื่นๆ แต่มีครั้งหนึ่งที่เคยไปถามคำถามนี้กับเกษตรกรที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด คำตอบที่ได้รับ คือ ถ้าอยากลงทุนระยะสั้น เขาเลือกลงทุนด้วยการเลี้ยงปลา แต่ถ้าอยากลงทุนระยะยาว เขาเลือกเลี้ยงวัว เหตุผลเพิ่มเติมคือ พวกเขาพิจารณาระยะเวลาลงทุนให้สอดคล้องกับวงจรชีวิตของสัตว์ประเภทนั้นๆ นั่นเอง
แล้วถ้าไปถามคำถามนี้กับคนอินเดียล่ะ คุณคิดว่าเขาจะลงทุนในอะไร?
จะแปลกใจไหม ถ้าคำตอบที่ได้รับ คือ เขาก็ลงทุนในวัว!
ทำไมคนอินเดียจึงลงทุนในวัวมากกว่าฝากธนาคาร?
ว่ากันว่า ที่อินเดียมีประชากรวัวกว่า 280 ล้านตัว ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก เหตุผลนอกเหนือจากความที่วัวถูกมองเป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาแล้ว การเลี้ยงวัวนั้นให้ผลผลิตอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนและเพื่อสร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำนม มูลวัว หรือได้ลูกวัวเพื่อขายต่อ
แต่หากจะมองเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนในวัว เมื่อนำไปเทียบกับต้นทุนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่ายา ค่าดูแล และค่าแรง รวมๆ แล้ว ต้นทุนเฉลี่ยของการเลี้ยงวัวหนึ่งตัว สูงถึงปีละ 10,000 รูปี (หรือประมาณ 5,000 บาท) ในขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยนั้น ออกมาติดลบถึง 64%
แล้วทำไมคนอินเดียจึงยังลงทุนในวัว ทั้งที่ขาดทุนมากขนาดนั้น?
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนอินเดียมองการเป็นเจ้าของวัวด้วยเหตุผลด้านอื่นที่ไม่ใช่การเงินอย่างที่พูดถึงข้างต้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะ คนอินเดียส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงสาขาของธนาคารมากนัก จากตัวเลขของ Indian Council for Research on International Economic Relations (ICRIER) พบว่า มีหมู่บ้านเพียง 7% ของทั้งประเทศที่มีสาขาธนาคารไปตั้งอยู่ ดังนั้น เมื่อคนมีรายได้และกำลังมองหาช่องทางในการเก็บเงิน หากพวกเขาไม่ได้ไปร่วมกับชมรมเก็บเงินของชุมชนหรือนำไปซุกไว้ใต้พรมในบ้านแล้ว ช่องทางในการเก็บเงินที่ใกล้ตัวและเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับพวกเขา ก็คือ นำเงินไปซื้อวัวนั่นเอง
การลงทุนในวัว ช่วยแก้พฤติกรรมสายตาสั้นทางการเงินอย่างไร?
แม้ว่าการนำเงินไปลงทุนในวัวจะดูไม่ค่อยคุ้ม แต่เมื่อมองในอีกมุมหนึ่ง เงินที่ลงทุนในวัวนั้นจะแปลงกลับมาเป็นเงินสดได้ค่อนข้างยาก (หรือเรียกว่าเป็น Illiquid Asset) ซึ่งถือเป็นข้อดี เพราะช่วยลดโอกาสที่พวกเขาจะนำเงินไปซื้อของล่อตาล่อใจหรือของไม่จำเป็นลงได้ สำหรับในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว การนำเงินไปใช้จ่ายนั้นสร้างความสุขให้กับเจ้าของเงินได้ง่ายและทันทีมากกว่าการนำเงินไปเก็บออมหรือลงทุน เราเรียกอาการนี้ว่า “พฤติกรรมสายตาสั้นทางการเงิน (Myopia)”
ลองกลับมานึกถึงเรื่องของคนทั่วไป หลายครั้งที่เรามัก “ใช้ก่อน ออมทีหลัง” เพราะรู้สึกว่าการนำเงินไปจับจ่ายใช้สอย ซื้อของที่อยากได้นั้น สร้างความสุขได้ทันทีเมื่อเราได้เป็นเจ้าของ การใช้จ่ายจึงมักเป็นไปด้วยความรู้สึก “เต็มใจ” ต่างกับการเอาเงินไปเก็บ ซึ่งมักเป็นไปด้วยความรู้สึก “ตัดใจ” หรือเจ็บปวดมากกว่า
พฤติกรรมสายตาสั้นทางการเงินนี้ ยังเกิดขึ้นกับนักลงทุนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีราคาผันผวนสูง ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับผลกำไรหรือขาดทุนระยะสั้นมากกว่าการอดทนรอดูผลตอบแทนระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น คนที่วางแผนจะเริ่มต้นลงทุนในหุ้น แล้วตั้งปณิธานกับตัวเองว่า “ฉันจะเป็นนักลงทุนระยะยาว” เมื่อถึงเวลาลงทุนจริง หลายคนเปิดหน้าจอเฝ้าดูการขึ้น-ลงของราคาหุ้นทั้งวัน วันไหนที่ราคาลงมากๆ ก็เกิดอาการกินไม่ได้นอนไม่หลับ ส่วนวันไหนราคาขึ้นมากๆ ก็เริ่มคันไม้คันมืออยากจะขายทำกำไร จากที่เคยตั้งใจจะลงทุนระยะยาว เลยกลายเป็นลงทุนเก็งกำไรรายวันแทน เป็นต้น
ถ้าไม่ใช่วัว เราจะแก้พฤติกรรมสายตาสั้นทางการเงินนี้อย่างไร?
กลับไปที่ประเทศอินเดีย หน่วยงานภาครัฐต่างก็รู้ดีว่า ถ้าจะแก้ไขปัญหาเรื่องความยากจนแล้ว การนำวัวไปแจกให้ประชาชนนั้นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะผลตอบแทนที่ได้นั้นไม่คุ้มค่าใช้จ่าย จึงมีความพยายามที่จะเพิ่มตัวช่วยในการเก็บออมด้านอื่นๆ เช่น ขยายการให้บริการธนาคารบนมือถือเพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงธนาคารได้มากขึ้น หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบ Commitment Saving Account ซึ่งเป็นเงินฝากที่ผู้ฝากจะถอนเงินออกได้ก็ต่อเมื่อฝากเงินครบตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เป็นต้น
สำหรับท่านผู้อ่านที่รู้สึกว่า อืม...ตัวเราก็ดูจะมีอาการสายตาสั้นทางการเงินเหมือนกันนะ เราลองมาดูวิธีแก้ไขกัน
K-Expert แนะนำให้ลองเก็บเงินด้วยบัญชีเงินฝากทวีทรัพย์ ซึ่งจะกำหนดให้เราฝากเงินจำนวนเท่าๆ กัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 24 เดือน เมื่อฝากครบกำหนดเวลา ก็จะได้รับดอกเบี้ย แถมดอกเบี้ยที่ได้รับนี้ไม่ต้องเสียภาษี หรือใช้ตัวช่วยทางการเงินอื่นๆ อย่างเช่น ใช้ระบบการตั้งเวลาล่วงหน้า ให้โอนเงินจากบัญชีเงินใช้ไปเก็บไว้ที่บัญชีเงินเก็บทุกเดือน หรือให้นำเงินนั้นไปซื้อกองทุนรวมทุกเดือนแบบอัตโนมัติ โดยสามารถทำได้เองผ่านระบบ K-Cyber Invest ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยลดทอนอาการ “ตัดใจ” จากการเก็บเงินลงได้ เพราะใช้ระบบช่วยตัดเงินไปเก็บ ก่อนที่เราจะได้ใช้เงินนั่นเอง
สำหรับใน ฝั่งนักลงทุน ก็สามารถลดอาการสายตาสั้นทางการเงินนี้ได้ ด้วยการลงทุนแบบจัดเป็นพอร์ต เริ่มจากการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารต่างๆ ให้เหมาะสมกับตัวเอง จากนั้นก็ตั้งหน้าตั้งตาทยอยลงทุนแบบถัวเฉลี่ยเท่าๆ กันในทุกๆ สินทรัพย์ไปเรื่อยๆ เมื่อครบปี ก็กลับมาทบทวนกันดูอีกทีว่า สัดส่วนพอร์ตเบี้ยวไปจากตอนตั้งต้นหรือไม่ ถ้าเพี้ยนไป ก็ปรับให้สัดส่วนกลับมาคงเดิมด้วยการขายสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนเกิน แล้วนำเงินไปซื้อสินทรัพย์เพิ่มที่สัดส่วนพร่องไป วิธีนี้จะช่วยให้เราจดจ่ออยู่กับการรักษาวินัยในการลงทุน โดยให้เรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องให้น้อยที่สุดนั่นเอง
แหล่งข้อมูล: