ออมและลงทุน
เงินซื้อความสุขได้จริงเหรอ?
“ สมมติว่า วันนี้คุณมีเงินเหลือใช้จำนวนหนึ่ง
คุณคิดว่าอยากนำเงินจำนวนนี้ไปใช้กับอะไรที่จะสร้างความสุขให้ตัวเองได้มากที่สุด? “
คำถามนี้ไม่ได้มีคำตอบตายตัว มันอาจจะขึ้นอยู่กับการให้นิยามความสุขและวิถีการใช้เงินของแต่ละปัจเจกบุคคล แต่กำลังจะชวนนึกต่อว่า จริงๆ แล้ว เงินใช้ซื้อความสุขได้ไหม?
ความสุขประเมินอย่างไร
จากหลายงานวิจัย ประเมินความสุขในชีวิตของคนเราออกเป็น 2 ด้าน ซึ่งด้านหนึ่งจะเพิ่มขึ้นไปตามระดับรายได้ ขณะที่อีกด้านจะเพิ่มมาจนถึงระดับหนึ่ง แล้วกลับคงที่
ด้านแรก เป็นความสุขจากการประเมินชีวิตของตนเอง (Evaluative) ซึ่งเป็นตัววัดจากงานวิจัยของ Justin Wolfers และ Betsey Stevenson สองนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำการวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจและผลสำรวจความสุขจากคนทั่วโลก พบว่า คนมีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะมีความสุขมากกว่าคนมีรายได้น้อย แต่กับเงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้เพิ่มขึ้นนั้น คนมีรายได้น้อยมีแนวโน้มที่จะมีความสุขเพิ่มขึ้น มากกว่าคนมีรายได้สูง เพราะเขาสามารถนำเงินส่วนเพิ่มนั้นไปใช้จับจ่ายเพื่อตอบสนองการยังชีพพื้นฐานได้ดีขึ้นนั่นเอง
ด้านที่สอง เป็นความสุขจากการประเมินด้านอารมณ์ (Affective) อย่างเช่น ความรู้สึกสนุก มีความสุข หรือเครียด จากงานศึกษาเรื่องเงินกับความสุขในชีวิตของ Daniel Kahneman และ Angus Deaton พบว่า ความพึงพอใจในชีวิตจะเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้สูงขึ้น แต่เมื่อรายได้เพิ่มถึงจุดๆ หนึ่ง (ในงานวิจัยคือประมาณ 75,000$ ต่อปี หรือ 2.6 ล้านบาท) กลับพบว่าการมีรายได้เพิ่ม ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับอารมณ์ความสุข หรือเสียงหัวเราะของพวกเขาเลย
กลับไปที่คำถามด้านบน สมมติเรากำลังเลือกว่าจะนำเงินเหลือใช้นั้น ไปใช้กับอะไรดี ระหว่างการซื้อสิ่งของ กับการสร้างประสบการณ์ในชีวิต อย่างเช่น ไปท่องเที่ยวกับเพื่อน หรือทานข้าวกั
บครอบครัว
การลงทุนกับความทรงจำ
จากงานวิจัยของ Ryan Howell ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา พบว่า คนมักคิดว่าใช้เงินไปซื้อของน่าจะดีกว่านำไปใช้สร้างประสบการณ์ เพราะสิ่งของ เมื่อซื้อมาแล้ว จะยังอยู่ไปอีกนาน ขณะที่การใช้เงินไปเที่ยวหรือทานข้าวนั้น ใช้แล้วก็หมดไป แต่ในความเป็นจริง พวกเขากลับพบว่า เมื่อมองย้อนกลับไป การใช้เงินเพื่อสร้างประสบการณ์นั้น สร้างคุณค่าทางจิตใจมากกว่าและคงอยู่ในใจยาวนานกว่า
ซึ่งก็จะสอดคล้องกับงานอีกชิ้นของ Thomas Gilovich ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ที่พูดเรื่อง “การปรับตัวด้านอารมณ์ (หรือ Hedonic Adaptation)" บอกว่า การนำเงินไปซื้อของนั้นสร้างความสุขได้ก็จริง แต่จะคงอยู่ไม่นาน เช่น ซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ เรามักจะตื่นเต้นในช่วงแรกๆ แต่เมื่อใช้งานไปสักพัก ความตื่นเต้นก็จะลดลง จนกระทั่งมีรุ่นใหม่ออกมานั่นเอง
ในขณะที่การนำเงินไปสร้างประสบการณ์ อย่างการใช้เวลาไปเที่ยวกับครอบครัว มันคือการใช้เวลาร่วมกับคนอื่น เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับคนสำคัญ และส่วนหนึ่งยังเป็นการสร้างตัวตนอีกด้วย อย่างเช่น ถ้าเราไปทริปปีนเขา การพิชิตยอดเขาได้ ก็จะกลายเป็นเรื่องเล่าของเราไปอีกนาน
การใช้เงินไปเพื่อสร้างประสบการณ์ในชีวิตนั้น อาจจะเรียกอีกอย่างได้ว่า “เป็นการลงทุนกับความทรงจำ" ซึ่งงานวิจัยของ Leaf Van Boven เล่าถึง 3 เหตุผลที่การลงทุนกับความทรงจำสร้างความสุขให้เราได้มากกว่า นั่นคือ
1. สร้างความตรึงใจ เช่น การใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว การเดินจูงมือลูกวัย 5 ขวบไปเที่ยว เหล่านี้อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ครั้งเดียว แต่จะอยู่ในใจอีกนาน และเมื่อเวลาผ่านไป การมองย้อนกลับมา เรื่องราวนั้นก็ยังติดตราตรึงใจอยู่เสมอ พูดอีกอย่างคือ ประสบการณ์เหมือนไวน์ ยิ่งนานยิ่งรสชาดดี
2. สร้างความไม่เหมือนใคร เช่น การไปทริปท่องเที่ยว แม้จะไปประเทศเดียวกัน แต่เรื่องเล่าของเรากับของเพื่อนย่อมแตกต่างกัน เปรียบเทียบกันไม่ได้ว่าใครดีกว่าต่างกับเวลาพูดถึงเรื่องการหารายได้ ที่มีเรื่องของตัวเลขมาให้เปรียบเทียบว่าใครหาได้มาก หาได้น้อย
3. สร้างความสัมพันธ์ การใช้เวลาอยู่กับคนที่เราให้ความสำคัญ นำมาซึ่งการสร้างความสัมพันธ์และความทรงจำร่วมกัน ซึ่งประเมินค่าไม่ได้
ลงทุนไปกับการให้
นอกเหนือจากการลงทุนกับความทรงจำแล้ว อีกเรื่องที่ทำให้คนมีความสุขจากการใช้เงิน คือ นำเงินไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ต้องการมากกว่าเรา
Elizabeth Dunn ได้ทำการทดลองด้วยการให้เงินจำนวนหนึ่งแก่นักศึกษา โดยให้เลือกว่าจะนำเงินไปใช้กับตัวเอง หรือนำเงินไปช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งผลพบว่า กลุ่มนักศึกษาที่นำเงินไปใช้ช่วยเหลือผู้อื่นมีความสุขจากการให้มากกว่า กลุ่มที่นำเงินไปใช้กับตัวเอง และการทดลองทำนองนี้ ก็ได้ผลคล้ายกัน ไม่ว่าจะทำในประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง หรือรายได้ต่อหัวต่ำกว่า ก็ตาม
พูดอีกอย่างหนึ่ง คือ อีกเรื่องที่จะทำให้คนเรามีความปิติยินดีจากการใช้เงิน ก็เป็นเรื่องการบริจาค หรือการมอบของขวัญให้กับผู้อื่น ซึ่งนับเป็นการลงทุนสร้างความสุขของเราในรูปแบบของการส่งต่อความสุขนั่นเอง
จากที่เขียนมาทั้งหมด เราสามารถนำเงินไปซื้อความสุขได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนกับความทรงจำ การบริจาค หรือการมอบของขวัญให้แก่กันและกัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเงินก้อนนี้จะใช้ไปกับการสร้างความสุขให้คุณในรูปแบบใด หวังว่าคุณจะเลือกใช้ไปกับเรื่องที่จะสร้างความสุข ความประทับใจที่จะอยู่กับคุณยาวนานที่สุด
โดยไม่ลืมว่า ต้องไม่เป็นการใช้เงินเกินตัว จนทำให้ตัวเองลำบากหรือเป็นหนี้จากการสร้างความสุขนั้น
เห็นแบบนี้แล้ว คุณคิดว่าเงินซื้อความสุขได้ไหม?