ออมและลงทุน
เที่ยวไหนดี ค่าเงินถูกขนาดนี้ อยากบิน
HIGHLIGHTS
• คนไทยนิยมไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น โดยปี 2560 สูงถึง 8.83 ล้านคน มียอดใช้จ่ายสูงถึง 286.02 พันล้านบาท และมีทริปเฉลี่ยเกือบ 4 ทริปต่อปี
• K-Expert แนะนำให้คุณลองเลือกประเทศที่ไปเที่ยวจากการดูค่าเงินในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ นำโดยประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยุโรปตะวันออก ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ใกล้จะปลายปีแล้ว ไปเที่ยวไหนดีนะ? ญี่ปุ่น เกาหลี หรือยุโรปดี?
ก่อนจะตอบคำถามนี้ K-Expert อยากชวนคุณไปดูตัวเลขเรื่องการออกไปเที่ยวของชาวไทยกันก่อนว่า หลายปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรกันบ้าง
จากตัวเลขจะเห็นว่า คนไทยนิยมไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงมียอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยปี 2560 มีจำนวนนักท่องเที่ยวขาออกสูงถึง 8.83 ล้านคน มียอดใช้จ่ายรวม 286.02 พันล้านบาท ส่วนจุดหมายปลายทางว่าประเทศไหนคนไทยชอบไปกันมาก ก็หนีไม่พ้นโซนเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้
นอกจากนี้ จากผลสำรวจแผนการท่องเที่ยวระดับโลกของวีซ่า (Visa Global Travel Intentions Study) ถึงการวางแผนท่องเที่ยวในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยสำรวจเกี่ยวกับเทรนด์และพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักเดินทาง 17,500 รายจาก 27 ประเทศทั่วโลก พบว่า นักท่องเที่ยวไทยติดอับดับการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยที่สุด ด้วยจำนวนทริปที่คาดว่าจะเพิ่มเป็นปีละ 3.9 ทริปภายในปี 2562
ย้อนกลับมาคำถามที่ว่า แล้วปีนี้จะไปเที่ยวไหนดี?
โดยทั่วไป ถ้าจะเดินทางออกนอกประเทศเพื่อการพักผ่อนหรือไปเที่ยวกับครอบครัวในวันหยุดยาว การเลือกประเทศจุดหมายปลายทางนั้นอาจมาจากความชอบ สายการบินขยายเส้นทาง จุดหมายปลายทางใหม่ๆ งบประมาณหรือการจัดโปรโมชั่นราคา
แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา สังเกตไหมว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในมุมคนอยากไปเที่ยวนอก การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเท่ากับว่าเราใช้เงินจำนวนเท่าเดิม แต่จะแลกเงินของประเทศปลายทางได้เพิ่มขึ้น และนั่นก็หมายความว่า ไปเที่ยวแล้วคุ้มขึ้นนั่นเอง!!! ได้เวลาไปเที่ยวแล้วสิเรา
ลองปักหมุดประเทศปลายทางจากค่าเงิน
อันดับแรก K-Expert เอาตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศต่างๆ ในปี 2561 เทียบกับปี 2562 พบว่า ในทุกประเทศประเทศหลักนั้น เงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบทั้งหมด นำมาโดยประเทศแถบสแกนดิเวียอย่าง
สวีเดน นอร์เวย์ ตามมาด้วยประเทศในแถบยุโรปตะวันออกอย่าง
ฮังการี เช็ก โปแลนด์
ส่วนประเทศยอดนิยมสำหรับชาวไทยอย่างญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน หรือเวียดนามที่เป็นน้องใหม่มาแรงสำหรับนักเดินทาง ค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นเช่นกัน แต่อาจจะน้อยกว่าหน่อย อย่างไรก็ดี ถือว่ายังเหมาะกับการจัดกระเป๋าเดินทางไปเยือน
ประเทศ |
สกุลเงิน |
ณ วันที่ 21 ก.ย. 2561 |
ณ วันที่ 20 ก.ย. 2562 |
% เงินบาทแข็งค่าขึ้น |
อัตราขายถัวเฉลี่ย |
อัตราขายถัวเฉลี่ย |
สวีเดน
| SEK
| 3.7315
| 3.1821
| 14.72%
|
นอร์เวย์
| NOK
| 4.0209
| 3.4359
| 14.55%
|
ฮังการี
| HUF
| 0.1186
| 0.1019
| 14.08%
|
สาธารณรัฐเช็ก
| CZK
| 1.5001
| 1.3076
| 12.83%
|
โปแลนด์
| PLN
| 8.9396
| 7.7960
| 12.79%
|
ออสเตรเลีย
| AUD
| 24.0077
| 21.0793
| 12.20%
|
เกาหลีใต้
| KRW
| 0.0292
| 0.0257
| 11.99%
|
เดนมาร์ก
| DKK
| 5.1673
| 4.5577
| 11.80%
|
ยูโรโซน
| EUR
| 38.5117
| 34.0576
| 11.57%
|
นิวซีแลนด์
| NZD
| 21.9588
| 19.4725
| 11.32%
|
สหราชอาณาจักร
| GBP
| 43.4592
| 38.6667
| 11.03%
|
จีน
| CNY
| 4.8001
| 4.3535
| 9.30%
|
สวิตเซอร์แลนด์
| CHF
| 34.1394
| 31.0748
| 8.98%
|
ลาว (ต่อ 100 กีบ)
| LAK
| 0.3821
| 0.3484
| 8.82%
|
แคนาดา
| CAD
| 25.3623
| 23.2426
| 8.36%
|
ไต้หวัน
| TWD
| 1.0601
| 0.9891
| 6.70%
|
สหรัฐอเมริกา
| USD
| 32.5713
| 30.6673
| 5.85%
|
เวียดนาม (ต่อ 100 ดอง)
| VND
| 0.1397
| 0.1321
| 5.44%
|
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th
คำถามคือ อัตราแลกเปลี่ยนมีผลกับการเลือกประเทศไปเที่ยวจริงเหรอ?
ตัวอย่างงานศึกษาของ World Travel & Tourism Council ที่ใช้ตัววัดที่เรียกว่า
Visitor-weighted exchange rate เพื่อดูผลจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินต่อตัวเลขการท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ พบว่า การแข็งขึ้นหรืออ่อนลงของอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนักท่องเที่ยว มีผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศปลายทาง เช่น เม็กซิโกมีนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศที่ใช้เงินสกุล USD เป็นหลัก ดังนั้นช่วงปี 2012-2015 ที่เงิน USD แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบเปโซ นักท่องเที่ยวรู้สึกว่างบเที่ยวของพวกเขาถูกลงไปมาก จึงส่งผลให้ออกเดินทางไปนอกประเทศและมีผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวในเม็กซิโกนั่นเอง
ดังนั้น คุณอาจลองเล็งประเทศปลายทางสำหรับทริปถัดไป จากตารางอัตราแลกเปลี่ยนข้างบนดูก็ได้นะ
เช็คสภาพอากาศว่า อยากไปเที่ยวแบบไหน
อีกเรื่องที่พลาดไม่ได้เวลาวางแผนเที่ยว ก็หนีไม่พ้นการเช็คสภาพอากาศของประเทศปลายทาง บางประเทศเหมาะที่จะไปเพียงบางฤดูกาล อย่างโซนสแกนดิเนเวีย แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่มีอะไรให้เที่ยวได้ ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะแถบเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลองมาดูตัวอย่างกันหน่อยว่า
ในกลุ่มประเทศที่ค่าเงินถูกลง เดือนไหนเป็นฤดูอะไรกันบ้าง
|
ม.ค. - มี.ค. |
เม.ย. - มิ.ย. |
ก.ค. - ก.ย. |
ต.ค. - ธ.ค. |
สวีเดน
(กลุ่มสแกนดิเนเวีย) | ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่ ธ.ค. หิมะตก อุณหภูมิ -4 ถึง 2 C (ตอนเหนือสุด มีฤดูหนาวนานถึง 8 เดือน)
| ฤดูใบไม้ผลิ อุณหภูมิกลางวัน กลางคืนค่อนข้างต่าง ประมาณ 5-15 C
| ฤดูร้อน อุณหภูมิ 20-25 C ตอนเหนือสุดถือเป็นดินแดนแห่งพระอาทิตย์เที่ยงคืน
| ฤดูใบไม้ร่วง อากาศค่อนข้างสดชื่น เย็นสบาย อุณหภูมิ 5-18 C
|
ฮังการี
(กลุ่มยุโรปตะวันออก) | ฤดูหนาวเริ่งตั้งแต่ ธ.ค. อุณหภูมิ -2 ถึง 5 C หิมะตก ช่วงนี้พระอาทิตย์จะตกเร็ว ประมาณ 4-5 โมงเย็น
| ฤดูใบไม้ผลิ อากาศดีน่าเที่ยว ช่วง พ.ค.-ก.ย. อุณหภูมิเฉลี่ย 20 C
| ฤดูร้อน อุณหภูมิ 25-35 C ช่วงนี้พระอาทิตย์จะตกช้า ประมาณ 3 ทุ่ม เที่ยวได้นานขึ้น
| ฤดูใบไม้ร่วง อุณหภูมิเริ่มลดลง ช่วง พ.ย.จะเริ่มหนาว อุณหภูมิเฉลี่ย 3 C |
ญี่ปุ่น | ฤดูหนาว หิมะตกมากทางเหนือ ส่วนทางใต้อากาศจะอุ่นกว่าอยู่ที่ 5-7 C
| ฤดูใบไม้ผลิ อากาศอบอุ่น
| ฤดูร้อน อุณหภูมิ 30-35 C
| ฤดูใบไม้ร่วง อากาศอบอุ่น อุณหภูมิ 22-27 C
|
จีน | ฤดูหนาว อุณหภูมิ 10 C ลงมา
| ฤดูใบไม้ผลิ อุณหภูมิ 10-22 C
| ฤดูร้อน อุณหภูมิเฉลี่ย 22 C ขึ้นไป
| ฤดูใบไม้ร่วง อุณหภูมิ 10-22 C แต่ช่วงพ.ย.ไป ก็จะเริ่มเข้าหน้านาวแล้ว |
ไต้หวัน | เดือนมกราคมอากาศหนาวที่สุด อุณหภูมิ 14-20 C
| ฤดูใบไม้ผลิ เดือนมิถุนายนฝนกตกมากสุด อุณหภูมิ 19-30 C
| ฤดูร้อน เดือนสิงหาคมมักร้อนที่สุด อุณหภูมิ 24-33 C มักมีไต้ฝุ่น
| ฤดูใบไม้ร่วง อุณหภูมิ 15-26 C อากาศดี เหมาะกับการไปเที่ยว
|
อังกฤษ | ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ ธ.ค. อุณหภูมิอยู่ที่ 0-4 C
| ฤดูใบไม้ผลิ อุณหภูมิ 15-20 C อากาศเปลี่ยนบ่อยสุด ทั้งแดดจัด หนาวเย็น และฝนตก
| ฤดูร้อน อุณหภูมิ 15-32 C อากาศดี คนนิยมออกมาเดินสวน
| ฤดูใบไม้ร่วง อุณหภูมิ 8-14 C เป็นช่วงใบไม้เปลี่ยนสี
|
ก่อนออกเดินทาง อยากให้เตรียมอีกนิด
หลังจากเลือกประเทศได้แล้ว เลือกช่วงเวลาสำหรับการเดินทางแล้ว K-Expert อยากฝากให้คุณตามข่าวสถานการณ์บ้านเมือง ของประเทศปลายทางด้วยว่าเป็นอย่างไร หลายครั้งที่บางประเทศเกิดความไม่สงบทางการเมือง พายุเข้า แผ่นดินไหว เป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยระหว่างเดินทาง และคงอรรถรสในการเที่ยวนั่นเอง
นอกจากนี้
ประกันการเดินทางก็เป็นอีกสิ่งที่อยากให้เตรียมไป หลายประเทศเป็นข้อบังคับ แต่นอกเหนือจากนั้น ก็เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน คุณจะได้มีคนดูแลค่าใช้จ่าย อีกทั้งการพก
บัตรเครดิตที่เหมาะสมกับการใช้งานในต่างประเทศไปด้วย นอกจากจะไว้ใช้เผื่อกรณีแลกเงินไปไม่พอ ก็ยังมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ใช้ระหว่างเดินทางไม่ว่าจะเป็น การช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย หรือ Privilege อื่นๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับทริปของคุณเพิ่มขึ้นอีกด้วย
สุดท้ายเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้
คุณได้ที่เที่ยวในทริปถัดไปของคุณแล้วหรือยัง?