ภาษี
SSF พิเศษ น่าซื้อไหม?
เมื่อพูดถึง “กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund)” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “กองทุน SSF” นั้น เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อนี้กันมาบ้างแล้ว และพอทราบว่าเป็นกองทุนลดหย่อนภาษีกองใหม่ที่มาแทนกองทุน LTF ในปีนี้ โดยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเรื่องมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทย โดยให้คนที่ซื้อกองทุน SSF พิเศษในช่วงเวลาที่กำหนดสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นสูงสุด 200,000 บาท รายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร กองทุนนี้น่าซื้อไหม ใครควรซื้อ และควรซื้อแบบไหน K-Expert มีคำแนะนำมาฝาก
กองทุน SSF พิเศษคืออะไร ต่างจาก SSF ปกติอย่างไร
“กองทุน SSF พิเศษ” คือ กองทุนลดหย่อนภาษีที่ส่งเสริมการออมเงินระยะยาว ซึ่งเป็นมาตรการทางภาษีที่ภาครัฐออกมาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน โดยให้สิทธินักลงทุนที่ซื้อกองทุน SSF พิเศษในช่วงเวลาที่กำหนดสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งสิทธินี้แยกต่างหากจากกองทุน SSF ปกติ จึงทำให้นักลงทุนลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น
กองทุน SSF พิเศษแตกต่างจากกองทุน SSF ปกติ ทั้งในเรื่องของนโยบายการลงทุน สิทธิที่สามารถซื้อได้ และช่วงเวลาในการซื้อกองทุน
ลองดูตารางเปรียบเทียบความแตกต่างกัน
| กองทุน SSF พิเศษ
| กองทุน SSF ปกติ
|
นโยบายการลงทุน
| ลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65%
| ลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท
|
สิทธิที่สามารถซื้อได้
| สูงสุด 200,000 บาท โดยไม่อิงตามรายได้ของคนซื้อ และไม่นับรวมกับกลุ่มออมเงินเพื่อเกษียณ
| 30% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
|
|
| (และเมื่อรวมกับกลุ่มออมเงินเพื่อเกษียณ* แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท)
|
ช่วงเวลาในการซื้อกองทุน
| 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 63
| ภายใน 30 ธ.ค. 63
|
ขั้นต่ำในการซื้อกองทุน
| ไม่มีขั้นต่ำ และไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
|
ระยะเวลาในการถือหน่วยลงทุน
| 10 ปีเต็มนับจากวันที่ซื้อ
|
*กลุ่มออมเงินเพื่อเกษียณ ได้แก่ กองทุน SSF ปกติ กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และประกันบำนาญ
สำหรับสิ่งที่เหมือนกันของกองทุน SSF พิเศษกับกองทุน SSF ปกติคือ ระยะเวลาในการถือหน่วยลงทุนที่ต้องถือหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 10 ปีเต็มนับจากวันที่ซื้อ โดยนับแบบวันชนวัน จึงจะสามารถขายคืนได้ และไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ รวมถึงไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี อยากใช้สิทธิลดหย่อนภาษีปีไหนก็ซื้อปีนั้น
ใครเหมาะที่จะซื้อกองทุน SSF พิเศษ
สำหรับใครที่มีคำถามว่า “ตัวเองควรซื้อกองทุน SSF พิเศษไหม?” มีเรื่องที่อยากให้พิจารณาก่อนตัดสินใจดังนี้
• แผนใช้เงินในอนาคต
หากยังไม่มีแผนใช้เงินที่จะนำมาลงทุนในกองทุน SSF พิเศษในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็พิจารณาซื้อกองทุนนี้ได้ เพราะเงื่อนไขคือ ต้องถือหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 10 ปีเต็มนับจากวันที่ซื้อ โดยนับแบบวันชนวัน ผู้ลงทุนจึงต้องมั่นใจว่าจะสามารถถือหน่วยลงทุนจนครบกำหนดได้ โดยไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องจนต้องขายหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนด
• อายุ
หากอายุน้อยกว่า 45 ปี เมื่อคำนวณระยะเวลาในการลงทุนแล้ว การซื้อกองทุน SSF พิเศษก็น่าจะเหมาะกว่ากองทุน RMF เพราะระยะเวลาลงทุนสั้นกว่า คือถือหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 10 ปีเต็มนับจากวันที่ซื้อก็สามารถขายคืนได้แล้ว ต่างจากกองทุน RMF ที่ต้องลงทุนต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็มนับจากวันลงทุนวันแรกด้วย จะเห็นได้ว่า หากลงทุน RMF ตามเงื่อนไข กว่าจะขายคืนได้ก็ต้องอายุอย่างน้อย 55 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น ยิ่งอายุน้อย ยิ่งต้องถือหน่วยลงทุน RMF นาน ซึ่งต่างจาก SSF
• ความเสี่ยงที่รับได้
หากรับความเสี่ยงได้สูง คือรับความผันผวนที่เกิดจากการลงทุนในหุ้นไทยได้ ก็เหมาะกับกองทุน SSF พิเศษ เพราะต้องไม่ลืมว่านโยบายการลงทุนของกองทุน SSF พิเศษนี้ต้องลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% รวมถึงไม่สามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังกองทุน SSF ปกติ
ได้ หากต้องการสับเปลี่ยนจะสับเปลี่ยนได้เฉพาะในกลุ่ม SSF พิเศษด้วยกันเท่านั้น ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องรับความเสี่ยงหรือความผันผวนจากการลงทุนได้นั่นเอง
• ฐานภาษี
หากใครมีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 80,000 – 100,000 บาทขึ้นไป คือฐานภาษีตั้งแต่ 20% ขึ้นไป ซึ่งถือว่ารายได้ทั้งปีค่อนข้างสูง และมีภาระต้องเสียภาษีในฐานที่สูง แนะนำให้ซื้อกองทุน SSF พิเศษเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น เนื่องจากหากเฉลี่ยผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการประหยัดภาษีเมื่อเทียบกับระยะเวลาในการลงทุนแล้วอยู่ที่ปีละ 2% (20% ÷ 10 ปี) จึงน่าสนใจที่จะลงทุน และยิ่งในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยผันผวน ดัชนีลงมาอยู่ในระดับต่ำจึงเป็นโอกาสดีในการเข้าลงทุนที่มีโอกาสได้ต้นทุนเฉลี่ยค่อนข้างต่ำด้วย
ซื้อกองทุน SSF พิเศษแบบไหนถึงจะดี (ก้อนเดียว หรือทยอยซื้อ)
เมื่อรู้คำตอบแล้วว่าเราควรซื้อกองทุน SSF พิเศษหรือไม่ สำหรับคนที่ตัดสินใจซื้อกองทุนคงมีคำถามต่อว่า “แล้วควรซื้อกองทุนนี้แบบครั้งเดียวทั้งก้อนหรือทยอยซื้อดีกว่ากัน?” เนื่องจากระยะเวลาในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีมีจำกัดแค่ 3 เดือนเท่านั้น จำเป็นต้องทยอยลงทุนไหม ลองมาดูข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบกัน
• ซื้อครั้งเดียวทั้งก้อน
หากใครมีเงินก้อนพร้อมซื้อกองทุน ไม่ติดปัญหาเรื่องเงินลงทุน การซื้อแบบครั้งเดียวทั้งก้อนก็สามารถทำได้ ข้อดีคือ ไม่กลัวลืมลงทุน สะดวก ซื้อครั้งเดียวจบ และไม่สับสนเมื่อถือจนครบกำหนดแล้วต้องการขายคืน เพราะสามารถขายคืนได้พร้อมกันทีเดียว แต่มีข้อเสียคือ มีโอกาสที่จะได้ต้นทุนสูง เพราะไม่มีใครรู้ว่าในวันที่เราซื้อกองทุนนั้น ดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับใดเมื่อเทียบกับวันอื่นๆ ในช่วงการใช้สิทธิ 3 เดือน
• ทยอยซื้อ
การซื้อกองทุนแบบทยอยซื้อ เช่น ซื้อเดือนละครั้งในช่วงเดือนเม.ย. – มิ.ย. จะเหมาะกับคนที่อาจไม่มีเงินก้อนพร้อมซื้อครั้งเดียว หรือยังกล้าๆ กลัวๆ ไม่มั่นใจในการหาจังหวะเข้าซื้อ ค่อยๆ ทยอยนำเงินมาลงทุนในแต่ละเดือน ข้อดีคือ มีโอกาสได้ต้นทุนเฉลี่ยต่ำกว่าการซื้อครั้งเดียวทั้งก้อน ตัดเรื่องอารมณ์ความรู้สึกว่าจะซื้อตอนนี้ดี หรือไม่ซื้อดีออกไป แต่มีข้อเสียคือ อาจสับสนเมื่อต้องการขายคืน เนื่องจากวันครบกำหนดไม่พร้อมกัน ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังเรื่องการขายคืนเพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไข
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของทั้งสองแบบแล้ว หากใครต้องการซื้อ กองทุน SSF พิเศษ นี้ K-Expert แนะนำให้ทยอยซื้อเดือนละครั้งในช่วงเดือนเม.ย. – มิ.ย. และขายคืนพร้อมกันทีเดียวตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 73 เป็นต้นไป เพื่อป้องกันการขายคืนผิดเงื่อนไขนั่นเอง
กองไหนมาแรงน่าลงทุน
ทางบลจ.กสิกรไทย ได้ออกกองทุน SSF พิเศษ ได้แก่ “
กองทุนเปิดเค ซูเปอร์สตาร์ เพื่อการออมพิเศษ (K-SUPSTAR-SSFX)” ความเสี่ยงระดับ 6 ซึ่งมีนโยบายการลงทุนในหุ้นไทย โดยเน้นลงทุนในหุ้นใหญ่ พื้นฐานดี ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับกองทุน
K-STAR-A(R) ที่เป็นกองทุนหุ้นปกติของ บลจ.กสิกรไทย ซึ่งจดทะเบียนกองทุนมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 49 และปัจจุบันได้รับการจัดลำดับ 5 ดาว จาก Morningstar RatingTM อีกด้วย (ข้อมูล ณ 30 มี.ค. 63)
กองทุน SSF พิเศษถือเป็นตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่น่าสนใจสำหรับคนที่กำลังมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมในปีนี้เพราะหากซื้อกองทุน SSF พิเศษเต็มสิทธิ 200,000 บาท รวมถึงซื้อกองทุน SSF ปกติ และ RMF เต็มสิทธิรวมกัน 500,000 บาท รวมทั้งหมดแล้วจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุดถึง 700,000 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีฐานภาษีตั้งแต่ 20% ขึ้นไปรับความเสี่ยงได้สูง อายุน้อยกว่า 45 ปี และที่สำคัญคือ ยังไม่มีแผนใช้เงินส่วนนี้ในอีก 10 ปีข้างหน้าไม่ควรพลาดใช้สิทธินี้กัน ทั้งนี้ อยากให้ลองศึกษานโยบายการลงทุน รวมถึงรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ให้เข้าใจก่อน เพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไขการลงทุนและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุดนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง :