ภาษี
เทคนิคยื่นภาษีง่าย ๆ สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์
หลังจากที่มีประกาศเกี่ยวกับกฎหมายภาษี e-Payment ปี 62 ที่ผ่านมา คงทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เกิดความกังวลขึ้นไม่มากก็น้อย เพราะสถาบันการเงินต้องส่งข้อมูลธุรกรรมตามเกณฑ์ที่กำหนดไปยังกรมสรรพากร สำหรับการขายของออนไลน์ ซึ่งจะถือเป็นเงินได้ 40(8) ต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้งด้วยกัน ได้แก่ (1) ยื่นภาษีสิ้นปีจากรายได้ทั้งหมดด้วยแบบ ภ.ง.ด.90 ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. (2) ยื่นภาษีกลางปีด้วยแบบ ภ.ง.ด.94 ซึ่งจะเป็นรายได้ในช่วงครึ่งปีแรก 40(5)-40(8) ช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย.
แม้การยื่นแสดงรายได้เพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องอาจเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับใครหลายคน แต่ก็ถือเป็นหน้าที่สำคัญของคนไทย ไม่ว่าจะมีรายได้จากทางใดก็ตาม ทั้งนี้อย่าเพิ่งกังวลใจจนเกินไป หากเราทำความเข้าใจ และเตรียมวิธีรับมือก็จะช่วยบรรเทาความกังวลลงไปได้นั่นเอง ทาง K-Expert จึงรวบรวม 3 ข้อกังวลยอดฮิตเกี่ยวกับการเสียภาษีของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ พร้อมเทคนิคจัดการภาษีในแต่ละเรื่องมาฝากกัน เริ่มต้นที่
1) ต้นทุนสูง กลัวภาษีเยอะกว่ากำไรที่ได้
ความกลัวนี้เป็นความกลัวยอดฮิตอันดับ 1 ของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลายๆ ท่านที่มีต้นทุนสูงในการขายสินค้า กลัวว่าหากเสียภาษีเพิ่มจะทำให้กำไรที่ได้น้อยลงไปอีก ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถใช้เทคนิคยื่นภาษี แบบหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยยิ่งเรามีต้นทุนที่สูง ก็สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้สูง และเมื่อหักค่าใช้จ่ายไปแล้ว เงินได้สุทธิที่ต้องนำมาคำนวณภาษีก็จะลดลงไปด้วย และไม่ต้องกังวลไปว่าภาษีที่เสียจะเกินกว่ากำไรที่ได้ เพราะเมื่อหักค่าใช้จ่ายตามจริงไปแล้วกำไรที่ได้ที่ต้องเสียภาษี หากเป็นบุคคลธรรมดาภาษีจะจ่ายไม่เกิน 1 ใน 3 ของกำไรนั้นเอง (อัตราภาษีบุคคลธรรมดาสูงสุดที่ 35%)
ส่วนเอกสารที่จะนำมาใช้เพื่อหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีนั้นควรมีข้อมูลดังนี้ ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อและผู้ขาย หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีหรือหมายเลขบัตรประชาชน รายละเอียดสินค้าหรือบริการ จำนวนเงิน ที่สำคัญรายจ่ายที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือกิจการที่ทำอยู่ ตัวอย่างเอกสารในการนำมาหักค่าใช้จ่าย เช่น (1)ใบเสร็จรับเงิน (2)ใบกำกับภาษี (3)บิลเงินสด (4)ใบสำคัญรับเงิน ทั้งนี้อย่าลืมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และเงื่อนไขของเอกสารที่นำมาใช้กับทางสรรพากรเพิ่มเติมด้วยนะ
2) กำไรเยอะ กลัวจ่ายภาษีเยอะ
กำไรเยอะที่ว่านี้สำหรับคนขายของออนไลน์แต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ให้ลองนึกคร่าวๆ ถึงกำไรที่แท้จริงจากการขายสินค้า และบริการ หากกำไรที่แท้จริงหลังหักค่าใช้จ่ายมีมากกว่า 40% นั้นหมายความว่าต้นทุนของธุรกิจเราจะน้อยกว่า 60% ของรายได้ทั้งหมดในกรณีแบบนี้ K-Expert แนะนำให้ยื่นแบบเหมา ซึ่งหากเป็นการขายโดยทั่วไปแล้วสามารถเลือกหักแบบเหมาได้ 60% ของยอดขาย การยื่นแบบนี้ เราไม่ต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายใดๆ กับกรมสรรพากร แม้ต้นทุนที่แท้จริงของเราจะน้อยกว่า 60% ก็ตาม ทำให้เราได้ประโยชน์ทางภาษีในส่วนต่างของต้นทุนที่แท้จริง กับค่าใช้จ่ายแบบเหมานั่นเอง
อีกทั้งเรายังมีวิธีอื่นๆ ที่สามารถช่วยในการลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีก เช่น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มีเงินสำรองเหลือแนะนำใช้ค่าลดหย่อนเข้าช่วย ยกตัวอย่างเช่นการลงทุนในกองทุน SSF ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ (โดยมาแทนกองทุน LTF) กองทุน RMF เบี้ยประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เป็นต้น ทั้งนี้จะใช้ค่าลดหย่อนตัวใด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ความเสี่ยง และความพึงพอใจของแต่ละคนที่นำมาใช้ เช่น การลงทุนกับกองทุน SSF ที่นำเงินไปให้ผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารให้เงินงอกเงยตามวัตถุประสงค์ของแต่ละกองทุน แถมยังลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย อย่างกองทุน
K-FIXEDPLUS-SSF ที่เน้นลงทุนในตราสารนี้ เหมาะสำหรับผู้รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างน้อย หรือ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่อยากจะเก็บออมเงินแบบไม่ต้องลุ้นกับความเสี่ยงจากการลงทุน แถมได้ประโยชน์ทางภาษี ที่สำคัญชำระเบี้ยครั้งเดียวจบ ไม่มีพันธะต้องจ่ายเบี้ยปีต่อๆ ไป เหมาะที่สุดก็จะเป็นประกันชีวิต วันพลัส 10/1 ที่เข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยาก สมัครก็ง่ายผ่านช่องทาง K PLUS
หรือ
พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มีคู่สมรสจดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย สามารถทำได้ทั้งการแยกกันยื่นรายได้ทั้งหมดของใครของมัน หรือสามารถแยกยื่นเฉพาะรายได้ 40(1) เช่น เงินเดือน โบนัส ในฝั่งตนเอง ส่วนรายได้ขายของออนไลน์ที่เป็น 40(8) ไปรวมยื่นเพื่อคำนวณภาษีกับคู่สมรส ซึ่งการ
แยกยื่นรายได้ทั้งหมด เหมาะกับคู่สมรสที่มีฐานภาษีใกล้เคียงกัน หลังหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวรวมไปถึงค่าลดหย่อนต่างๆ ส่วนการ
แยกยื่นเฉพาะรายได้ 40(1) โดยนำรายได้ 40(2)-(8) ไปรวมคำนวนภาษีกับอีกฝ่ายที่มีรายได้น้อยกว่า จะเหมาะกับ คู่สามีภรรยาที่มีฐานภาษีแตกต่างกันเยอะ ยกตัวอย่าง เช่น สามีมีรายได้ 40(1) ปีละ 960,000 บาท และรายได้จากกการขายของอออนไลน์ 40(8) ปีละ 300,000 บาท หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% 180,000 บาท ส่วนภรรยามีรายได้เฉพาะ 40(1) ปีละ 324,000 บาท เราลองมาดูความแตกต่างระหว่างการการแยกยื่นรายได้ทั้งหมด กับการแยกยื่นเฉพาะ 40(1) ตามตารางด้านล่าง
ตารางคำนวณภาษีแบบกรณีแยกยื่นรายได้ทั้งหมด
รายการ/บาท : ปี
| สามี
| ภรรยา
|
รายได้ 40(1)
| 960,000 บาท
| 324,000 บาท
|
รายได้ 40(8)
| 300,000 บาท
| -
|
หักค่าใช้จ่าย
| 280,000 บาท
(100,000 + 180,000)*
| 100,000 บาท*
|
หักค่าลดหย่อนส่วนตัว
| 60,000 บาท
| 60,000 บาท
|
เสียภาษีฐาน %
| 20% (99,000 บาท)
| 5% (700 บาท)
|
รวมเสียภาษี
| 99,700 บาท
|
* รายได้ 40(1) หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนรายได้ 40(8) หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง
จากตารางจะเห็นได้ว่าสามีภรรยาคู่นี้แยกยื่นรายได้ทั้งหมดจะเสียภาษีอยู่ที่ 99,700 บาท แต่หากสามีแยกยื่นเฉพาะรายได้ 40(1) และโยกรายได้ขายของออนไลน์ 40(8) ไปที่ภรรยาจะเสียภาษีน้อยลง ตามตารางด้านล่าง
ตารางคำนวณภาษีแบบแยกยื่น เฉพาะ 40(1) โดยนำรายได้ 40(2)-40(8) ไปรวมคำนวณกับภรรยา
รายการ/บาท : ปี
| สามี
| ภรรยา
|
รายได้ 40(1)
| 960,000 บาท
| 324,000 บาท
|
รายได้ 40(8)
| -
| 300,000 บาท
|
หักค่าใช้จ่าย
| 100,000 บาท*
| 280,000 บาท
(100,000 + 180,000)*
|
หักค่าลดหย่อนส่วนตัว
| 60,000 บาท
| 60,000 บาท
|
เสียภาษีฐาน %
| 20% (75,000 บาท)
| 5% (6,700 บาท)
|
รวมเสียภาษี
| 81,700 บาท
|
* รายได้ 40(1) หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนรายได้ 40(8) หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง
จะเห็นได้ว่าทั้งคู่ประหยัดภาษีไปได้ถึง 18,000 บาท (99,700 – 81,700) จากการทำให้เงินได้ 40(8) ซึ่งเดิมเสียภาษีฐาน 20% ตามฝั่งสามี ไปเสียฐาน 5% ในฝั่งภรรยา ทั้งนี้จะลดหย่อนแบบใดอย่าลืมศึกษาเงื่อนไขต่างๆ เพิ่มเติม
3) ไม่รู้ว่าจะเอาภาษีที่จ่าย มาคิดต้นทุนยังไง
ไหนๆ ก็ต้องจ่ายภาษีอยู่แล้วเพราะเป็นหน้าที่ของผู้มีเงินได้ทุกคนที่พึงปฏิบัติ แต่สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์อย่าลืมนะว่าภาษีที่เราต้องจ่ายไปนั้นถือเป็นต้นทุนของราคาสินค้าและบริการ ในธุรกิจออนไลน์ ดังนั้นเราควรนำภาษีที่จ่ายไปมาคิดถัวเฉลี่ยบวกเป็นต้นทุนสินค้าด้วยเพื่อไม่ให้ราคาที่ตั้งผิดพลาดจนทำให้เราขาดทุนไม่รู้ตัว โดยวิธีคิดต้นทุนมีตัวอย่างดังนี้
สมมติธุรกิจขายเสื้อผ้าออนไลน์
ค่าเฉลี่ยในการขายต่อปีคือ 4,800 ชิ้น โดยราคาขายต่อชิ้นอยู่ที่ 210 บาท จะมีรายได้ต่อปีอยู่ที่ 1,008,000 บาท ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% (604,800 บาท) และค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท จะมีเงินได้สุทธิที่อยู่ที่ 343,200 บาท โดยจะเสียภาษีอยู่ที่ฐาน 10% ภาษีที่ต้องชำระจะอยู่ที่ 11,820 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ควรนำมาคำนวณเป็นต้นทุนของสินค้าด้วยนั่นเอง โดยคิดจากค่าใช้จ่ายภาษี 11,820 บาท หารด้วย จำนวนสินค้าที่ขายต่อปี 4,800 ชิ้น (11,820/4,800 = 2.5 บาท ต่อชิ้น) ต้นทุนทางภาษีต่อสินค้า 1 ชิ้นเมื่อรวมกับราคาขายเดิมควรจะอยู่ที่ 212.5 บาทนั่นเอง แต่…..ก็ต้องระมัดระวังคือหากตั้งราคาสินค้าสูงกว่าคู่แข่ง ก็อาจทำให้การตัดสินใจซื้อของลูกค้าเปลี่ยนไป ทำให้ยอดขายลดลง กำไรก็ลดลงด้วยเช่นกัน
อ่านมาถึงตรงนี้หวังว่าคงทำให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์คลายความกังวลกันได้บ้าง จาก 3 ข้อกังวลยอดฮิตที่อยู่ในใจคนขายของออนไลน์ เพราะหากเรามีการจัดการวางแผนเรื่องภาษีที่ดี ก็จะช่วยบรรเทาความกังวลได้นั่นเอง แต่อย่าลืมการเก็บเอกสาร รายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องตรงตามเงื่อนไขของสรรพากร สำคัญที่สุดต้องไม่เป็นหลักฐานเท็จเพื่อใช้หลีกเลี่ยงการเสียภาษี ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย จะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ การยื่นภาษีออนไลน์ก็จะไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป
นอกจากนั้นในปัจจุบันการยื่นภาษีสามารถทำได้ง่ายยิ่งขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งสะดวก ไม่ยุ่งยาก และรวดเร็ว โดยเข้าไปที่ Website ของกรมสรรพากรแล้วเลือกยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ต จากนั้นกรอกข้อมูลต่างๆให้ครบถ้วน ซึ่งระบบจะคำนวณภาษีให้อัตโนมัติ เพื่อให้เราตรวจสอบอีกครั้งก่อนจ่ายเพิ่มหรือขอคืน ดังนั้นไม่ต้องกังวลเลยเกี่ยวกับภาษีของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ถ้าเราเตรียมตัวและวางแผนจัดการภาษีมาอย่างดีก็จะช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ลงได้ อย่ากังวลจนถอดใจไม่ขายของ หรือ เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นเพราะกลัวภาษี ยิ่งในยุคเศรษฐกิจแบบนี้
วันใดที่อยากล้มเลิกความตั้งใจ ให้ถามย้อนกลับไป…ว่าทำไมถึง “เริ่มขาย”
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง:
• K-SSF