รวบตึงสิ่งต้องรู้ก่อนซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี 2567 พร้อมโพยกองทุน

เตรียมพร้อมลดหย่อนภาษีปี 2567 ด้วยกองทุนลดหย่อนภาษี ทั้ง SSF, RMF และ Thai ESG ลดหย่อนภาษีและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นใจด้วย โพยกองทุนลดหย่อนภาษีแนะนำ

• กองทุนลดหย่อนภาษี ทั้ง SSF, RMF และ Thai ESG นอกจากจะช่วยประหยัดภาษีแล้ว ยังช่วยสร้างเงินออมไปพร้อมกัน ทำให้เงินงอกเงยและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว


• เลือกกองทุนลดหย่อนภาษีให้เหมาะกับตัวเอง โดยพิจารณาถึงเป้าหมายการลงทุนและความเสี่ยงที่รับได้ ซึ่งกองทุนลดหย่อนภาษีแนะนำ เช่น กองทุน K-SF-SSF, K-GINCOME-SSF, K-USA-SSF, KSFRMF, KWPBALRMF, KCHANGERMF, K-ESGSI-ThaiESG, K-TNZ-ThaiESG




เคยรู้สึกว่าไหมว่าในแต่ละปีเสียภาษีค่อนข้างเยอะ หรืออยากเก็บเงินให้อยู่ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร กองทุนลดหย่อนภาษีอาจเป็นคำตอบที่คุณกำลังมองหา มาทำความรู้จักกับวิธีการลงทุนที่จะช่วยให้คุณประหยัดภาษีไปพร้อมๆ กับการสร้างเงินออมไว้ใช้ในอนาคตกัน



กองทุนลดหย่อนภาษีคืออะไร

กองทุนลดหย่อนภาษี คือ กองทุนพิเศษที่รัฐบาลสร้างขึ้นเพื่อช่วยคนไทยเก็บออมเงินและลงทุน โดยสามารถนำเงินลงทุนในแต่ละปีมาลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งมีข้อดีคือ

1. ช่วยลดภาษี เมื่อลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีจะช่วยให้จ่ายภาษีน้อยลง และยิ่งลงทุนมาก ก็ยิ่งประหยัดภาษีได้มาก แม้รายได้จะยังไม่เยอะ ฐานภาษี 5% แต่ได้เงินคืนภาษี 5% ก็ยังดีกว่าไม่ได้ลงทุน

2. มีโอกาสทำให้เงินงอกเงย เงินที่คุณลงทุนอาจเพิ่มขึ้นได้ในอนาคตจากผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งดีกว่าการเก็บเงินไว้เฉยๆ


ทั้งนี้ แต่ละกองทุนลดหย่อนภาษีจะมีกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่น ลงทุนได้เท่าไหร่ ต้องถือนานแค่ไหน ต้องลงทุนต่อเนื่องกันทุกปีหรือไม่ จึงควรทำความเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ ให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน



กองทุนลดหย่อนภาษีมีกี่แบบ

ปัจจุบันกองทุนลดหย่อนภาษีมี 3 แบบด้วยกัน ได้แก่


1. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) คือ กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการออมระยะยาว พร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยมีเงื่อนไขดังนี้

• กองทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้และสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์

• ผู้ลงทุนสามารถลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนในกลุ่มการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ (กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ประกันชีวิตแบบบำนาญ) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

• ผู้ลงทุนต้องถือหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ (แบบวันชนวัน)

• ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อและไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี

• ปี 2567 เป็นปีสุดท้ายที่สามารถซื้อกองทุน SSF แล้วนำมาลดหย่อนภาษีได้


2. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) คือ กองทุนรวมที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถออมเงินเอาไว้ใช้จ่ายเมื่อเกษียณอายุ พร้อมสิทธิลดหย่อนภาษี โดยมีเงื่อนไขดังนี้

• กองทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้และสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์

• ผู้ลงทุนสามารถลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนในกลุ่มการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ (กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ประกันชีวิตแบบบำนาญ) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

• ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ แต่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี (สามารถเว้นการลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน)

• ผู้ลงทุนต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก และถือจนถึงอายุ 55 ปี จึงจะขายคืนได้


3. กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) คือ กองทุนรวมที่ส่งเสริมให้มีการลงทุนในตราสารหนี้ หุ้น และสินทรัพย์อื่นๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ในกิจการที่เน้นความยั่งยืนตามหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) โดยมีเงื่อนไขดังนี้

• ผู้ลงทุนสามารถลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท (ไม่รวมกับค่าลดหย่อนในกลุ่มการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ)

• ผู้ลงทุนต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุน (แบบวันชนวัน) • ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อและไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี



ทำไมต้องซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี

การลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีทำให้ได้ประโยชน์ 2 ต่อ เพราะนอกจากประโยชน์จากการประหยัดภาษีที่ได้แน่นอนซึ่งขึ้นอยู่กับฐานภาษีของแต่ละคนแล้ว ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากกองทุนที่เลือกลงทุนอีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้เงินก้อนนี้งอกเงยมากขึ้น


กองทุนลดหย่อนภาษีมีหลากหลายสินทรัพย์ให้เลือกลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้ เช่น

• คนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ จะเหมาะกับกองทุนตราสารหนี้ ที่ลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดีทั้งภาครัฐและเอกชน

• คนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง จะเหมาะกับกองทุนผสม ที่ลงทุนในหลายสินทรัพย์เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงและยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น

• คนที่รับความเสี่ยงได้สูง จะเหมาะกับกองทุนหุ้น ที่ลงทุนในหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศ แม้ความเสี่ยงจะสูง แต่ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงด้วยเช่นกัน



เลือกซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี 2567 แบบไหนดี

การเลือกซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีอยากให้พิจารณาถึงเป้าหมายการลงทุนและความเสี่ยงที่รับได้ เช่น

เป้าหมายการลงทุน

- อยากได้เงินคืนเร็ว เหมาะกับกองทุน Thai ESG เพราะถือหน่วยลงทุน 5 ปี ก็สามารถขายคืนได้แล้ว

- อยากเก็บเงินระยะยาวไว้ใช้ในอนาคตหรือในวัยเกษียณ

• อายุ < 45 ปี เหมาะกับกองทุน SSF เพราะระยะเวลาถือหน่วยลงทุนสั้นกว่า

• อายุ > 45 ปี เหมาะกับกองทุน RMF เพราะระยะเวลาถือหน่วยลงทุนสั้นกว่า


ความเสี่ยงที่รับได้

- เสี่ยงน้อย เลือกกองทุนตราสารหนี้ โดยกองทุนลดหย่อนภาษีแนะนำ ได้แก่

• กองทุน SSF: K-SF-SSF (ระดับความเสี่ยง 4 จาก 8 ระดับ)

• กองทุน RMF: KSFRMF (ระดับความเสี่ยง 4 จาก 8 ระดับ)

• กองทุน Thai ESG : K-ESGSI-ThaiESG (ระดับความเสี่ยง 3 จาก 8 ระดับ)


- เสี่ยงปานกลาง เลือกกองทุนผสม โดยกองทุนลดหย่อนภาษีแนะนำ ได้แก่

• กองทุน SSF: K-GINCOME-SSF (ระดับความเสี่ยง 5 จาก 8 ระดับ)

• กองทุน RMF: KGINCOMERMF, KWPBALRMF (ระดับความเสี่ยง 5 จาก 8 ระดับ) KWPULTIRMF (ระดับความเสี่ยง 6 จาก 8 ระดับ)


- เสี่ยงสูง เลือกกองทุนหุ้น โดยกองทุนลดหย่อนภาษีแนะนำ ได้แก่

• กองทุน SSF: K-USA-SSF, K-VIETNAM-SSF, K-CHANGE-SSF (ระดับความเสี่ยง 6 จาก 8 ระดับ)

• กองทุน RMF: KUSARMF, KCHANGERMF, KGHRMF, KGSELECTRMF (ระดับความเสี่ยง 6 จาก 8 ระดับ) KGTECHRMF ระดับความเสี่ยง 7 จาก 8 ระดับ)

• กองทุน Thai ESG : K-TNZ-ThaiESG (ระดับความเสี่ยง 6 จาก 8 ระดับ)



ข้อควรระวังในการลงทุน

แม้การลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม แต่ก็มีข้อควรระวังในการลงทุน ได้แก่

1. อย่าลงทุนเกินสิทธิ เช็กรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษีและคำนวณจำนวนเงินที่สามารถลงทุนได้ในกองทุนลดหย่อนภาษีแต่ละประเภท เพื่อป้องกันการลงทุนเกินสิทธิ

2. เลือกกองทุนให้เหมาะกับตัวเอง อย่าซื้อตามเพื่อน ศึกษานโยบายการลงทุน ดูความเสี่ยงที่รับได้และเป้าหมายการลงทุนของตัวเองเป็นหลัก

3. แจ้งความจำนงใช้สิทธิ หากเพิ่งเริ่มลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษีเป็นครั้งแรก ให้แจ้งบริษัทจัดการกองทุนที่ไปลงทุนว่าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

4. ติดตามผลการดำเนินงานสม่ำเสมอ เมื่อลงทุนไปแล้ว อย่าลืมดูว่ากองทุนนั้นทำผลงานได้ดีหรือไม่ หากไม่เป็นที่พอใจสามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังกองทุนลดหย่อนภาษีในประเภทเดียวกันได้

5. ลงทุนตามเงื่อนไข อย่างกองทุน RMF ที่แม้ไม่มีขั้นต่ำในการลงทุน แต่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ไปจนถึงอายุ 55 ปี

6. ระวังการขายคืนก่อนกำหนด ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขให้เข้าใจและมั่นใจว่าเป็นเงินที่ถือลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนดได้ เพื่อป้องกันการทำผิดเงื่อนไขซึ่งอาจต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับมาและเสียค่าปรับ


กองทุนลดหย่อนภาษีเป็นวิธีที่ช่วยให้คุณประหยัดภาษีไปพร้อมกับการสร้างเงินออม ไม่ว่าจะเป็น SSF ลดหย่อนภาษี RMF ลดหย่อนภาษี หรือ Thai ESG ก็ล้วนมีข้อดีที่แตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือต้องเลือกให้เหมาะกับตัวเอง ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขให้เข้าใจ และอย่าลืมติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนอย่างสม่ำเสมอ เริ่มต้นลงทุนวันนี้เพื่ออนาคตการเงินที่สดใส ยิ่งเริ่มต้นเร็ว ยิ่งมีโอกาสให้เงินงอกเงยและสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :

• บลจ.กสิกรไทย, SET Investnow