คณะกรรมการธนาคารมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นทั้งหมดของธนาคาร กรรมการแต่ละคนเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด และมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลกิจการของธนาคารด้วยความเป็นอิสระและเป็นกลาง เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและต่อผู้มีส่วนได้เสียอื่น
คณะกรรมการธนาคารมีบทบาทในการกำกับดูแลการบริหารงานของธนาคาร เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริหารได้มุ่งมั่นสู่การมีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงสภาวะความเสี่ยง
คณะกรรมการธนาคาร มีหน้าที่ :
- ก) พิจารณาและหารือเกี่ยวกับกลยุทธ์ต่างๆ ที่นำเสนอโดยฝ่ายจัดการ ประเมินศักยภาพในการสร้างคุณค่าแก่ธนาคาร และความเชื่อมโยงกับทิศทางกลยุทธ์โดยรวม และอนุมัติในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับทิศทางและนโยบายของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทย ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- ข) พิจารณาและอนุมัติแผนธุรกิจประจำปี งบประมาณ ค่าใช้จ่ายประเภททุน เป้าหมายการปฏิบัติงาน ที่นำเสนอโดยฝ่ายจัดการ
- ค) ดูแลและพิจารณาความสมดุลของวัตถุประสงค์ในระยะสั้นและระยะยาว
- ง) สรรหาและแต่งตั้งผู้สืบทอดตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประเมินผลการปฏิบัติงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รวมทั้งดูแลให้ธนาคารมีกระบวนการที่มีประสิทธิผลในการประเมินผลงานของผู้บริหารระดับสูง
- จ) ติดตามผลการดำเนินงานของธนาคารและความคืบหน้าในการบรรลุวัตถุประสงค์และการปฏิบัติที่สอดคล้องกับนโยบาย กฎระเบียบ รวมทั้งกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ฉ) ติดตามกรอบการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งประสิทธิผลของการควบคุมภายใน
- ช) อนุมัติสิ่งริเริ่มใหม่ที่สำคัญของธนาคาร
- ซ) ดูแลให้มีระบบที่เหมาะสมในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิผลกับผู้มีส่วนได้เสียของธนาคารและสาธารณชน
คณะกรรมการธนาคารประกอบด้วย 1) กรรมการที่เป็นผู้บริหาร 2) กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร และ 3)กรรมการอิสระ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด และไม่น้อยกว่า 3 คน
กรรมการธนาคาร ประกอบด้วย ผู้มีทักษะและประสบการณ์หลากหลายที่สามารถใช้วิจารณญาณได้อย่างเป็นอิสระ มีความเป็นผู้นำ และมีความรู้ เพื่อนำมาหารือในคณะกรรมการธนาคาร ในการแต่งตั้งกรรมการธนาคาร กรรมการแต่ละคนจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับธนาคาร และคำชี้แจงเกี่ยวกับพันธะทางกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ในฐานะกรรมการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กรรมการอาจขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญอิสระตามความเหมาะสม ด้วยค่าใช้จ่ายของธนาคาร
คณะกรรมการธนาคารเป็นผู้แต่งตั้งเลขานุการบริษัท ซึ่งอาจเป็นบุคคลภายนอกก็ได้
กรรมการธนาคารทุกคน จะได้รับคำแนะนำและการบริการจากเลขานุการบริษัทซึ่งรับผิดชอบ ในการดูแลการปฏิบัติตามแนวการปฏิบัติของคณะกรรมการธนาคาร และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ประธานกรรมการธนาคารต้องเป็นกรรมการอิสระ หรือเป็นกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารทำหน้าที่เป็นตัวแทนของฝ่ายจัดการในคณะกรรมการ
ประธานกรรมการ มีหน้าที่ :
- มีบทบาทเป็นผู้นำของคณะกรรมการธนาคาร
- เรียกประชุมและดำเนินการประชุมคณะกรรมการธนาคาร และดูแลการจัดส่งหนังสือนัดประชุม รวมทั้งเอกสารต่างๆ เพื่อให้คณะกรรมการได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ และทันเวลา
- กำหนดวาระการประชุมคณะกรรมการธนาคาร ร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยเรื่องที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการได้รับการพิจารณาและจัดสรรเวลาอย่างเหมาะสม
- เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร
- เสริมสร้างมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีของคณะกรรมการธนาคาร
- เป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น และควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับธนาคาร และตามระเบียบวาระที่กำหนดไว้
- สนับสนุนและเปิดโอกาสให้กรรมการแสดงความเห็นอย่างเป็นอิสระ และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกรรมการ และระหว่างกรรมการกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารและฝ่ายจัดการ
- ทำหน้าที่แนะนำ ให้คำปรึกษา และติดตามดูแลการบริหารงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
- ดูแลให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกรรมการและผู้ถือหุ้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะให้เป็นหน้าที่ของประธานกรรมการ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีหน้าที่ :
- มีความรับผิดชอบหลักในการบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจประจำวันของธนาคารและดูแลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทย
- กำหนดกลยุทธ์และประเมินทางเลือกในการดำเนินการด้านกลยุทธ์ร่วมกับคณะกรรมการธนาคาร
- ดำเนินการด้านกลยุทธ์ ธุรกิจ และเป้าหมายทางการเงินตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารร่วมกับฝ่ายจัดการ
- กำหนดมาตรฐานและแนวทางการจัดการตามจุดมุ่งหมาย วัฒนธรรมองค์กร จริยธรรม และค่านิยมหลัก
- ส่งเสริมการดำเนินการด้วยความรับผิดชอบและความโปร่งใสตามนโยบายที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคาร เพื่อบริหารจัดการการดำเนินงานและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิผล และติดตามดูแลให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
- หารือร่วมกับกรรมการธนาคารและประธานกรรมการอย่างต่อเนื่อง
- ดูแลให้คณะกรรมการธนาคารได้รับข้อมูลที่จำเป็นในเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้คณะกรรมการธนาคารปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- จัดให้มีแผนพัฒนาผู้บริหารระดับสูงที่สำคัญสอดคล้องกับแผนการสืบทอดตำแหน่ง
- ดำเนินการทบทวนผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารระดับสูง และบุคลากรที่มีศักยภาพสูง
ภาระหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารและผู้บริหารมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน คณะกรรมการธนาคารจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในภาระหน้าที่ของผู้บริหาร หรือในการนำนโยบายของคณะกรรมการธนาคารไปใช้ในทางปฏิบัติ คณะกรรมการธนาคารมีบทบาทในการติดตามการบริหารงานเพื่อให้มั่นใจว่านโยบายและกระบวนการที่เหมาะสมได้นำมาใช้ในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล เพื่อให้บรรลุถึงภาระหน้าที่ที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด
ความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการธนาคารและฝ่ายจัดการเป็นไปในรูปแบบการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ธนาคาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมีความรับผิดชอบต่อคณะกรรมการธนาคารในด้านการดำเนินธุรกิจประจำวันของธนาคารที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการดำเนินการ การตัดสินใจ และการปฏิบัติการ คณะกรรมการธนาคารกำหนดทิศทางกลยุทธ์และการกำกับดูแล รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะและติดตามการปฏิบัติการและผลการดำเนินงาน
ฝ่ายจัดการมีความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจประจำวันของธนาคาร หน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารคือ การกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของธนาคารและของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของธนาคาร
หน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารรวมถึง :
- ก) ประชุมทุกเดือนเว้นแต่มีเหตุขัดข้อง แต่อย่างน้อยต้องมีการประชุมคณะกรรมการ 3 เดือน ต่อ 1 ครั้ง และอาจมีการประชุมเพิ่มเติมได้ในกรณีที่มีความจำเป็น กรรมการทุกคนมีหน้าที่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการธนาคารทุกครั้ง โดยต้องเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนครั้งของการประชุมที่จัดขึ้นในแต่ละปี เว้นแต่มีเหตุจำเป็น เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ วาระการประชุมควรมีการจัดเตรียมและเห็นชอบร่วมกันในแต่ละปี ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าภาระหน้าที่ที่สำคัญของคณะกรรมการธนาคารได้ระบุไว้ในวาระการประชุม
- ข) พิจารณากลยุทธ์ของธนาคารอย่างสม่ำเสมอ
- ค) รับทราบการประเมินผลการดำเนินงานของธนาคารในรายละเอียด ประเด็นสำคัญที่แต่ละหน่วยธุรกิจภายในธนาคารเผชิญอยู่ และข้อมูลอื่นที่สามารถนำมาประกอบในการปฏิบัติงานตามความรับผิดชอบ
กรรมการธนาคารจะได้รับข้อมูลล่วงหน้าที่เหมาะสมและทันเวลาในการประชุมคณะกรรมการธนาคารแต่ละครั้ง ซึ่งจะทำให้กรรมการธนาคารสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลเกี่ยวกับการกำกับดูแลกลยุทธ์ด้านการเงิน การปฏิบัติงาน การปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และประเด็นที่เกี่ยวกับการกำกับดูแล สำหรับข้อมูลอื่นเพิ่มเติมจะดำเนินการตามที่กรรมการร้องขอ
ผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการธนาคาร จะได้รับการประเมินสำหรับคณะกรรมการธนาคารทั้งคณะและรายบุคคล
การดำรงตำแหน่งของกรรมการธนาคาร เมื่อมีการประชุมสามัญประจำปีของธนาคารทุก ๆ คราว ให้กรรมการออกจากตำแหน่งจำนวนหนึ่งในสามของกรรมการทั้งหมด กรรมการซึ่งอยู่ในตำแหน่งนานที่สุดนั้นออกจากตำแหน่งก่อน และถ้าตกลงกันในเรื่องการออกจากตำแหน่งไม่ได้ ให้ใช้วิธีจับสลาก และกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการเลือกตั้งใหม่ได้โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น
กรรมการมีอายุไม่เกิน 72 ปี และกรรมการอิสระมีวาระการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องไม่เกิน 9 ปี