บทบาทความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

คณะกรรมการธนาคาร
คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อและการลงทุน
คณะกรรมการตรวจสอบ
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ
คณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน
1. นายชนินทธ์ โทณวณิกประธานกรรมการ
2. นางศุภจี สุธรรมพันธุ์กรรมการ
3. นายสราวุฒิ อยู่วิทยากรรมการ
4. นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์กรรมการ

บทนำ

คณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทนตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการบริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ("ธนาคาร") ในการประชุม ครั้งที่ 3/2545 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2545


ความมุ่งหมาย

คณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน ("คณะกรรมการ") ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยคณะกรรมการธนาคาร ในความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรบุคคล ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการธนาคาร


วัตถุประสงค์

คณะกรรมการมีบทบาทในการเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการธนาคาร เกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทนของประธานกรรมการ และกรรมการธนาคาร (โดยขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในภายหลัง) นอกจากนี้ คณะกรรมการมีหน้าที่จัดทำนโยบายอัตราค่าตอบแทน และกำหนดเงื่อนไขในการว่าจ้างประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร

คณะกรรมการมีหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับผู้สืบทอดตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และทบทวนแผนการสืบทอดตำแหน่ง ผู้บริหารระดับสูง และพนักงานในตำแหน่งที่สำคัญที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้จัดทำไว้

คณะกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการธนาคารและติดตามดูแลการดำเนินการเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ทางด้านทรัพยากรบุคคลของธนาคาร รวมทั้งแผนงานพัฒนาผู้บริหารของธนาคารด้วย

คณะกรรมการจะทำการสรรหาและนำชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการเป็นครั้งแรก และพิจารณาผลงาน คุณสมบัติ และความเหมาะสมของกรรมการที่พ้นตำแหน่งและสมควรได้รับเลือกตั้งใหม่ เสนอต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการธนาคาร


โครงสร้างคณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน

คณะกรรมการได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งประกอบด้วย กรรมการอิสระหรือกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร ไม่น้อยกว่า 3 คน คณะกรรมการธนาคารจะแต่งตั้งกรรมการอิสระเป็นประธานกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน ซึ่งจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการกำหนดวาระการประชุมและดำเนินการประชุม ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ตามกำหนดเวลาที่เห็นสมควร

กรรมการในคณะกรรมการ มีวาระการดำรงตำแหน่งตามวาระที่ดำรงตำแหน่งกรรมการของธนาคาร กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งโดยคณะกรรมการธนาคารให้ดำรงตำแหน่งต่อได้

ประธานกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทนเป็นผู้แต่งตั้งเลขานุการของคณะกรรมการ

คณะกรรมการอาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอิสระได้ ในกรณีที่จำเป็นด้วย ค่าใช้จ่ายของธนาคาร เช่น การสำรวจสภาพตลาด การจ้างงาน การสำรวจเงินเดือน สรรหากรรมการและผู้บริหารของธนาคาร เป็นต้น


อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ

คณะกรรมการมีหน้าที่และความรับผิดชอบหลัก ได้แก่

กลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคล

  1. พิจารณาและให้ความเห็นต่อข้อเสนอของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการธนาคารเกี่ยวกับนโยบายด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจของธนาคาร
  2. สร้างความมั่นใจว่าแผนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งที่สำคัญ และรายชื่อผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาได้รับการทบทวนอยู่เสมอเป็นระยะๆ
  3. กำกับดูแลการกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการในการสรรหากรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน

กลยุทธ์ด้านผลประโยชน์ตอบแทน

  1. ทบทวนกลยุทธ์ในการให้ผลประโยชน์ตอบแทน และเสนอคณะกรรมการธนาคารเพื่อรับรอง
  2. ทบทวนและเสนอคณะกรรมการธนาคาร เพื่อการจัดการให้มีสิ่งจูงใจแก่พนักงานในผลการปฏิบัติงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการพิจารณาให้ถือหุ้นของธนาคารด้วย
  3. ให้คำเสนอแนะแก่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารในการประเมินผลงานและความสามารถในการทำงาน เพื่อพิจารณาเงินเดือนหรือผลประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หน้าที่และความรับผิดชอบ และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และเป้าหมายในการทำธุรกิจของธนาคารซึ่งครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  4. พิจารณาและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการธนาคารเกี่ยวกับนโยบายและรูปแบบของการให้ผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งออกแบบไว้สำหรับการจูงใจ และรักษาไว้ซึ่งพนักงานที่มีความสามารถ มีคุณภาพ และมีศักยภาพ
  5. กำกับดูแลการกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการในการจ่ายค่าตอบแทนและผลประโยชน์อื่นใดแก่กรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่สำคัญของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
  6. หารือกับคณะกรรมการกำกับความเสี่ยง เพื่อให้นโยบายเกี่ยวกับการกำหนดค่าตอบแทนสะท้อนความเสี่ยงที่สำคัญของสถาบันการเงิน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

  1. ช่วยดูแลให้มีระบบสำหรับคณะกรรมการธนาคารในการประเมินผลงานและความสามารถในการทำงาน เพื่อพิจารณาเงินเดือนหรือผลประโยชน์ต่างๆ แก่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หน้าที่และความรับผิดชอบ และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และเป้าหมายในการทำธุรกิจของธนาคารซึ่งครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  2. กำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขต่างๆ ในการว่าจ้างประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รวมถึงผลประโยชน์ตอบแทนด้วย
  3. วางแผนหาผู้สืบทอดตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยพิจารณาจากผู้บริหารของธนาคาร หรือบุคคล ภายนอกที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
  4. สรรหาและเสนอแนะแก่คณะกรรมการธนาคาร เพื่อพิจารณาผู้สืบทอดตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมื่อถึงคราวจำเป็น

คณะกรรมการธนาคาร

  1. ทบทวนสัดส่วน จำนวน และความหลากหลายขององค์ประกอบของคณะกรรมการธนาคารอย่างสม่ำเสมอ
  2. สรรหาและเสนอแนะแก่คณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นกรรมการในคณะกรรมการ รวมถึงคณะกรรมการชุดย่อย ทั้งด้านทักษะ ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ สอดคล้องกับทิศทางและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของธนาคาร
  3. ให้ข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการธนาคารในการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่ได้รับการเสนอให้เป็นกรรมการธนาคาร เพื่อเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีเพื่อการแต่งตั้งต่อไป
  4. ทบทวนผลประโยชน์ตอบแทนของคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หน้าที่และความรับผิดชอบ และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เปรียบเทียบได้กับของธนาคารอื่นๆ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคาร เพื่อเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น
  5. ทบทวนผลการปฏิบัติงานตามแบบประเมินของธนาคาร ในรอบปีที่ผ่านมา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  6. อนุมัติการทบทวนนโยบายตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธนาคาร
  7. รับพิจารณาในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการธนาคาร
คณะกรรมการกำกับความเสี่ยง
1. นายกลินท์ สารสินประธานกรรมการ
2. นางสาวสุจิตพรรณ ล่ำซำกรรมการ
3. นางสาวขัตติยา อินทรวิชัยกรรมการ
4. นางศุภจี สุธรรมพันธุ์กรรมการ
5. นางไขศรี เนื่องสิกขาเพียรกรรมการ
6. นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์กรรมการ

บทนำ

คณะกรรมการกำกับความเสี่ยง ตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการ บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (“ธนาคาร”) ในการประชุมครั้งที่ 9/2561 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561


ความมุ่งหมาย

คณะกรรมการกำกับความเสี่ยง ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยคณะกรรมการธนาคารรับผิดชอบในการกำกับดูแลความเสี่ยงในภาพรวมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คณะกรรมการกำกับความเสี่ยงจะต้องมั่นใจว่า กลุ่มธุรกิจทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย (“กลุ่มธุรกิจทางการเงิน”) มีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ครอบคลุมความเสี่ยงทั้งหมดรวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ รวมทั้งดำเนินการรายงานความเสี่ยงให้คณะกรรมการธนาคารได้รับทราบ


วัตถุประสงค์

ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการกำกับความเสี่ยงต้องดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิผลกับคณะกรรมการธนาคาร เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล คณะกรรมการกำกับความเสี่ยงแต่ละคนต้องมีความเข้าใจในความรับผิดชอบตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร มีความเข้าใจในธุรกิจ การดำเนินการและการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน


โครงสร้างของคณะกรรมการกำกับความเสี่ยง

  1. คณะกรรมการกำกับความเสี่ยงได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการธนาคาร ประกอบด้วย กรรมการธนาคารหรือผู้บริหารที่เหมาะสม จำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน โดยสมาชิกอย่างน้อยกึ่งหนึ่งต้องเป็นกรรมการอิสระ หรือกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร และคณะกรรมการธนาคารแต่งตั้งประธานกรรมการกำกับความเสี่ยงโดยพิจารณาคัดเลือกจากกรรมการอิสระ หรือกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร
  2. องค์ประชุมของคณะกรรมการกำกับความเสี่ยงต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกในคณะกรรมการกำกับความเสี่ยงทั้งหมด
  3. ประธานกรรมการกำกับความเสี่ยงเป็นผู้แต่งตั้งเลขานุการของคณะกรรมการกำกับความเสี่ยง
  4. ให้คณะกรรมการกำกับความเสี่ยงมีการประชุมไม่น้อยกว่าไตรมาสละ 1 ครั้ง และอาจจะมีการประชุมเพิ่มเติมได้ในกรณีที่ต้องการ
  5. สมาชิกอย่างน้อย 1 คนจะต้องมีความรู้ ความชำนาญและความเข้าใจด้านความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสถาบันการเงิน
  6. สมาชิกในคณะกรรมการกำกับความเสี่ยงที่เป็นกรรมการธนาคารมีวาระการดำรงตำแหน่งตามวาระที่ดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคาร สำหรับสมาชิกที่เป็นผู้บริหารมีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการธนาคาร โดยสมาชิกที่พ้นจากตำแหน่ง อาจได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการธนาคารให้ดำรงตำแหน่งต่อได้
  7. คณะกรรมการกำกับความเสี่ยงอาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอิสระได้ในกรณีที่จำเป็นด้วยค่าใช้จ่ายของธนาคาร

อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ

  1. ให้คำแนะนำคณะกรรมการธนาคารเกี่ยวกับกรอบการกำกับดูแลความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
  2. ดูแลให้ผู้บริหารระดับสูงรวมถึงหัวหน้าหน่วยงานบริหารความเสี่ยงปฏิบัติตามนโยบายและกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงรวมถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
  3. ดูแลให้กลยุทธ์ในการบริหารเงินกองทุนและสภาพคล่องเพื่อรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ มีความสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ที่ได้รับอนุมัติ
  4. ทบทวน สอบทานความเพียงพอและประสิทธิผลของนโยบายและกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงโดยรวม และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้อย่างน้อยปีละครั้งหรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ รวมถึงการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ โดยควรมีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อประเมินว่านโยบายและกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงครอบคลุมความเสี่ยงทุกประเภทและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงมีการดำเนินการตามนโยบายและกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  5. รายงานต่อคณะกรรมการธนาคารถึงฐานะความเสี่ยง ประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยง และสถานะการปฏิบัติตามวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเสี่ยง ตลอดจนปัจจัยและปัญหาที่มีนัยสำคัญ และสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยง
  6. ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้ง โยกย้าย เลิกจ้าง และประเมินผลงานหัวหน้าหน่วยงานบริหารความเสี่ยง และหัวหน้าหน่วยงานกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์
  7. อนุมัติการทบทวนนโยบายตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธนาคาร
  8. ปฎิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางการกำหนด หรือคณะกรรมการธนาคารมอบหมาย
คณะจัดการ
1. นางสาวขัตติยา อินทรวิชัยประธาน
2. นายพิพิธ เอนกนิธิสมาชิก
3. นายเรืองโรจน์ พูนผลสมาชิก
4. ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์สมาชิก
5. นายธิติ ตันติกุลานันท์สมาชิก
6. นายพัชร สมะลาภาสมาชิก
7. นายจงรัก รัตนเพียรสมาชิก
8. นายรุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์สมาชิก

บทนำ

คณะจัดการตั้งขึ้นตามข้อบังคับของ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (“ธนาคาร”) โดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 88 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543


วัตถุประสงค์

คณะจัดการตั้งขึ้นเพื่อจัดการงานและดำเนินกิจการของธนาคารตามที่คณะกรรมการธนาคารกำหนด เพื่อก้าวไปสู่การมีผลการดำเนินงานที่ยั่งยืนและเป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงสภาวะความเสี่ยงทั้งในปัจจุบันและอนาคต และให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ จุดมุ่งหมาย และจรรยาบรรณทางธุรกิจ รวมทั้งหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี


โครงสร้างของคณะจัดการ

  1. คณะกรรมการธนาคารแต่งตั้งคณะจัดการ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร สมาชิกคณะจัดการ ประกอบด้วย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ พนักงาน และบุคคลที่คณะกรรมการเห็นสมควร
  2. คณะจัดการประกอบด้วยบุคคลต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติและประสบการณ์ที่เหมาะสม และเป็นผู้มีวิจารณญาณที่ดีในการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร
  3. ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นประธานคณะจัดการโดยตำแหน่ง
  4. ประธานคณะจัดการเป็นผู้แต่งตั้งเลขานุการของคณะจัดการ
  5. ให้คณะจัดการมีการประชุมตามเวลาที่สมควร แต่ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง เว้นแต่จำเป็น หรือไม่มีกิจการงานที่จะประชุมกัน หรือมีเหตุสมควรที่ว่าจะไม่มีการประชุม
  6. ให้องค์ประชุมคณะจัดการ ประกอบด้วย จำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกคณะจัดการทั้งหมด ซึ่งจะต้องมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือบุคคลที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมอบหมายร่วมอยู่ด้วย
  7. สมาชิกคณะจัดการทุกคนมีหน้าที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งอาจเป็นการเข้าประชุมด้วยตนเองหรือการร่วมประชุมผ่านระบบสื่อสาร ตามความเหมาะสม
  8. คณะจัดการอาจเชิญบุคคลอื่นรวมทั้งตัวแทนผู้บริหารระดับสูงที่มีความเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบในวาระที่พิจารณาในที่ประชุมเข้าร่วมประชุมตามความจำเป็น

อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะจัดการ

  1. จัดการงานและดำเนินกิจการของธนาคารตามที่คณะกรรมการธนาคารกำหนด หรือได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธนาคารให้ดำเนินการเฉพาะกรณี
  2. บริหารธุรกิจของธนาคารตามนโยบายและแผนงานที่กำหนดไว้ และตามที่คณะกรรมการธนาคารมอบอำนาจ รวมทั้งตามที่กำหนดในอำนาจดำเนินการของธนาคาร เพื่อบริหารธนาคารให้ประสบความสำเร็จ บรรลุเป้าหมายของธนาคาร
  3. ให้ประธานคณะจัดการ หรือบุคคลที่ประธานคณะจัดการมอบหมาย รายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารทราบถึงกิจการที่คณะจัดการได้ทำไปแล้ว อย่างไรก็ดี กิจการดังต่อไปนี้ ให้เสนอเพื่อรับอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารก่อน
    1. เรื่องเกี่ยวกับนโยบายของธนาคาร
    2. เรื่องที่หากทำไปแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญแก่กิจการของธนาคาร
    3. เรื่องที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยคณะกรรมการธนาคารเอง
    4. เรื่องที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ธนาคารวางไว้
    5. เรื่องที่คณะจัดการเห็นสมควรเสนอเพื่ออนุมัติเป็นรายเรื่อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการธนาคารได้วางไว้ เช่น เรื่องการอนุมัติเครดิต เป็นต้น

บทบาทหน้าที่เลขานุการบริษัท

คณะกรรมการธนาคารได้แต่งตั้ง นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิ คุณสมบัติ และประสบการณ์ที่เหมาะสม เป็นเลขานุการบริษัทและเลขานุการคณะกรรมการ โดยมีสำนักเลขาธิการและธรรมาภิบาลองค์การ สายงานเลขาธิการองค์การ เป็นหน่วยงานสนับสนุนงานเลขานุการบริษัท


คุณสมบัติและประสบการณ์

  1. มีความรู้พื้นฐานด้านธุรกิจ บัญชี กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร หรือผ่านการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเลขานุการบริษัท
  2. มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และข้อพึงปฏิบัติที่ดีของการกำกับดูแลกิจการ
  3. มีความเป็นอิสระและตรงไปตรงมาในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในด้านการให้ข้อแนะนำและข้อคิดเห็นต่างๆ
  4. มีประสบการณ์ในงานเลขานุการคณะกรรมการ หรือคุณสมบัติอื่นที่ช่วยให้งานเลขานุการบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

หน้าที่และความรับผิดชอบหลักได้แก่

  1. ให้ข้อแนะนำเบื้องต้นแก่กรรมการเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ข้อควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของทางการ ระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของธนาคาร ติดตามให้มีการปฏิบัติตามอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ รวมถึงรายงานการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญแก่กรรมการ
  2. ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ ให้ข้อมูล และผลักดันคณะกรรมการธนาคารให้ปฏิบัติตาม รวมทั้งให้มีการตรวจสอบผลการปฏิบัติตามข้อกำหนดของหลักการดังกล่าว
  3. จัดเตรียมระเบียบวาระการประชุม เอกสารประกอบการประชุมผู้ถือหุ้น และการประชุมคณะกรรมการธนาคาร
  4. จัดการประชุมผู้ถือหุ้นและการประชุมคณะกรรมการธนาคารให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับของธนาคาร และข้อพึงปฏิบัติที่ดี
  5. บันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นและการประชุมคณะกรรมการธนาคาร รวมทั้งติดตามให้มีการปฏิบัติตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นและที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร
  6. จัดทำและเก็บรักษาทะเบียนกรรมการ รายงานประจำปีของธนาคาร หนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น หนังสือนัดประชุมคณะกรรมการธนาคาร รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น และรายงานการประชุมคณะกรรมการธนาคาร
  7. ดำเนินการให้กรรมการและผู้บริหารจัดทำรายงานการมีส่วนได้เสียของตนและผู้ที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนดกฎหมาย
  8. เก็บรักษารายงานการมีส่วนได้เสียที่รายงานโดยกรรมการหรือผู้บริหาร และส่งสำเนาให้ประธานกรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบตามที่กฎหมายกำหนด
  9. ดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลและรายงานสารสนเทศในส่วนที่รับผิดชอบต่อหน่วยงานที่กำกับธนาคาร ตามระเบียบและข้อกำหนดของหน่วยงานทางการ
  10. ติดต่อและสื่อสารกับผู้ถือหุ้นเพื่อให้ได้รับทราบสิทธิต่าง ๆ ของผู้ถือหุ้นและข่าวสารของธนาคาร และเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ถือหุ้น คณะกรรมการธนาคารและผู้บริหาร
  11. ดูแลกิจกรรมของคณะกรรมการธนาคาร
  12. จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการธนาคาร และรายงานผลการประเมินต่อคณะกรรมการธนาคาร
  13. ติดตามกฎหมาย ข้อกำหนด และข้อพึงปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจธนาคารและกรรมการ เพื่อการให้คำแนะนำเบื้องต้น
  14. ประสานงานระหว่างคณะกรรมการธนาคารและผู้บริหารของธนาคาร