สินเชื่อ/ธุรกิจ
ติดอาวุธพร้อม Sale ไม่ให้พลาดโอกาสทำกำไร
เย้! เผลอแป๊ปเดียวก็เข้าสู่เทศกาลแห่งความสุขอีกแล้ว อากาศเย็นสบาย เที่ยวที่ไหนก็ฟิน พอคิดว่าจะได้ไปเที่ยว ก็อยากใส่เสื้อผ้าใหม่ เน้นสีสัน งานนี้ชอปกระจาย ที่กินก็ต้องเน้นอร่อย บริการดีงาม บรรยากาศเลิศ ที่สำคัญ ต้องมีมุมสวยๆ ให้ถ่ายรูป Check in ด้วย
นอกจากคนไทยแล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติก็โหยหาอยากมาเที่ยวไทย โดยในปี 2561 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.08 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก (ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) สำหรับปี 62 ประเทศไทยตั้งเป้ารักษามาตรฐานนี้ไว้ โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติต่ออายุมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival ตลาดจีนและอินเดีย จากสิ้นสุด ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2562 เป็นสิ้นสุด ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 อีกทั้งคณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว สำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศ ด้วยมาตรการ “ ชิม ช้อป ใช้ ”
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวน่าจะช่วยให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศดีขึ้นจากช่วงต้นปี โดยในช่วงที่เหลือของปี มาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยกระตุ้นกลุ่มที่ยังไม่มีแผนเที่ยว หรือแผนใช้จ่าย ให้ออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น
ธุรกิจคุณพร้อมสำหรับลงแข่งในเทศกาลแห่งความสุขนี้แล้วหรือยัง?
เช็กความพร้อมในธุรกิจ ด้วย Business Model Canvas ซึ่งถูกคิดโดย Alex Osterwalder เป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจที่ทำให้เรามองธุรกิจตนเองได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ทั้งจุดเด่น และจุดด้อย ซึ่งนำไปสู่ความพร้อมในการทำธุรกิจและการแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว หลายคนวางแผนทำธุรกิจจากสิ่งที่ชอบ สิ่งที่อยากทำ แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เที่ยวนี้ต้องไม่พลาดอีกแล้ว แค่ปรับกระบวนการคิดใหม่ โดยให้คุณตั้งคำถามให้ครบ 4 ข้อนี้ อย่าเข้าข้างตัวเอง ถ้ายังไม่พร้อมตรงไหน เดี๋ยวเรามาช่วยกัน
ขอขอบคุณ: business model generation Copyright © MarketingOops.com
ข้อ 1. WHO: ลูกค้าคุณคือใคร คือสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง
Customer Segments: เราตั้งใจจะขายลูกค้ากลุ่มไหน ปัญหาลูกค้าคืออะไร ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมอย่างไร
Customer Relationships: การสร้างและรักษาความสัมพันธ์เป็นอีกเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการบอกต่อ (Word of Mouth) และซื้อซ้ำ จนนำไปสู่การเป็นลูกค้าที่มีความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Royalty)
Channels: คุณขายสินค้าและบริการ และสื่อสารกับลูกค้าผ่านช่องทางไหนถึงจะตรงเป้าหมาย ส่งแล้วปัง ซึ่งช่องทางในการติดต่อต้องเกิดเป็นกระบวนการขาย ตั้งแต่ก่อนขายไปจนหลังการขาย ประกอบด้วย 5 ระยะคือ
- Awareness ลูกค้าจะรู้ได้อย่างไรว่ามีสินค้าของเราอยู่ในตลาด
- Evaluation ลูกค้าจะเห็นถึงคุณค่าของสินค้าและบริการได้ทางใดบ้าง
- Purchase ลูกค้าจะซื้อสินค้าและบริการของเราได้ผ่านช่องทางไหนบ้าง
- Delivery ลูกค้าจะได้รับสินค้าและบริการผ่านช่องทางใดบ้าง
- After Sale ลูกค้าจะได้รับการดูแลหลังการขายอย่างไร
ความชัดเจนของลูกค้าเป้าหมาย รูปแบบการสร้างความสัมพันธ์ และช่องทางการสื่อสาร จะเป็นแนวทางในการประเมินคุณภาพลูกค้า และความสามารถในการสร้างรายได้ รวมถึงความสามารถในการทำกำไร
ข้อ 2. WHAT: อะไรทำให้ลูกค้าต้องเลือกสินค้าและบริการของคุณ
Value Propositions: เป็นสิ่งสำคัญมาก จาก WHO คุณตอบได้ไหมว่า อะไรคือปัญหาของลูกค้า แล้วคุณค่าในสินค้าและบริการที่คุณจะส่งมอบให้ลูกค้าคืออะไร แก้ปัญหาได้ไหม ลูกค้าจะได้คุณค่าคุ้มกับการยอมจ่ายเงินให้คุณหรือไม่ เช่น รอบๆ บ้านมีร้านอาหารอยู่หลายสิบร้าน แต่มีร้านที่ไปเป็นประจำ ทั้งๆ ที่แพงกว่า รอนานกว่า สิ่งที่แตกต่างและทำให้เรายอมจ่ายแพงกว่าคือ เจ้าของร้านใส่ใจในทุกรายละเอียด ทั้งรสชาติ ความสะอาด จัดจานสวย (ไปทีไรเป็นต้องขอถ่ายรูปอาหารก่อนทาน) พนักงานในร้านบริการดีมาก ที่สำคัญเจ้าของร้านจดจำลูกค้าได้
“มองให้ลึก ฝึกหาปัญหาให้เจอ เสนอสิ่งที่ตรงใจ ใครๆ ก็ยอมจ่าย”
ข้อ 3. HOW: เมื่อรู้ WHO และ WHAT ก็ถึงเวลาลงมือทำแล้ว ว่าแต่พร้อมแล้วหรือยัง 3 องค์ประกอบของ HOW คือ
Key Activities: ต้องทำอะไรบ้าง List ออกมาแบบละเอียด อะไรที่ทำเองได้ดี หรืออะไรที่ควรให้คนอื่นทำแทน
Key Partner: ใครที่จะทำให้ธุรกิจคุณมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น อาทิ หุ้นส่วน หน่วยงานรัฐ Supplier Sub-contract เขากับคุณจะไปกันได้หรือเปล่า ต้องคุยกันให้เคลียร์ก่อน
Key Resource: ธุรกิจเติบโตต้องมีอะไรบ้าง ร้าน โรงงาน เครื่องจักร รถขนส่ง วัตถุดิบ สินค้ารอขาย ลิขสิทธิ์ เทคโนโลยี
- คุณไม่ต้องทำทุกอย่างด้วยตนเอง หากมองว่าสิ่งใดที่ให้คนอื่นทำแทนมีประสิทธิภาพมากกว่า หรือต้นทุนต่ำกว่า เช่น ส่งของใกล้ๆ ส่งเองก็ได้ ถ้าส่งไกลๆ เราไม่สะดวกก็ให้บริษัทขนส่งเขาจัดการให้
- คุณไม่จำเป็นต้องมี Facilities ครบทุกอย่าง คิด ประเมินความคุ้มค่าจากการลงทุนก่อน ถ้ามั่นใจว่าจะมี Order เข้ามาอย่างต่อเนื่อง หรือพร้อมทุกอย่างแล้วค่อยลงทุน ถ้าขาดแค่เงินทุนบางส่วน ลองคุยกับธนาคารได้
- หากคุณไม่มีความชำนาญ อาจต้องปรึกษาหรือหาผู้มีประสบการณ์มาช่วย ประสบการณ์ของทีมงานจะช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น
คิดให้ครบ ทบทวนให้ดี ไม่มีสะดุด ถ้าหลุดรีบเติม
เสริมทีมเข้าช่วย ทำเองด้วยถ้าถนัด คุยให้ชัดถึงแผน สแกนด้วยประสบการณ์
ข้อ 4. MONEY: เช็กความพร้อมมาถึงจุดนี้ ถ้าจะก้าวเดินต่อเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นแล้วใช่ไหม แต่แค่นั้นยังไม่พอ ยังเหลือด่านหินอีก 1 ด่าน นั่นคือ ทุกด่านที่ผ่านมาคุณต้องใช้เงิน ทำธุรกิจ คุณต้องมีกำไร
Cost Structure: นโยบายโครงสร้างต้นทุนและค่าใช้จ่ายในธุรกิจเป็นอย่างไร คุณบริหารจัดการกระแสเงินสดที่ใช้ในธุรกิจอย่างไร High Season นี้คุณต้องลองประเมินรายได้ รายจ่ายในธุรกิจ เพื่อตอบตัวเองว่ามีความต้องการเงินในธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ซึ่งขอพิจารณาเป็น 2 แบบคือ
> หากคุณตอบได้ว่าช่วงปลายปีต้องซื้อของเพิ่มขึ้น ต้องผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องใช้เงินหมุนเวียนในธุรกิจเพิ่ม
- ถ้าธุรกิจยังเล็กจิ๋ว และไม่มีหลักประกัน ไม่ต้องกังวล สินเชื่อไม่มีหลักประกันก็มี มีทั้งบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และเงินกู้ไม่มีหลักประกัน ดอกเบี้ยอาจสูงสักหน่อย ใช้เท่าที่จำเป็น
- ถ้าธุรกิจเล็กๆ แต่พอมีหลักประกัน ขอเป็นเงินกู้ก็ดี ทยอยจ่ายคืนเดือนละนิดจะได้ไม่หนักเกินไป
- ถ้าธุรกิจซื้อสด-ขายสด และมีหลักประกัน ขอเป็นวงเงิน O/D น่าจะเหมาะ เมื่อต้องจ่ายเงิน ตีเช็คจ่าย หรือ โอนเงินไปจ่ายได้เลย ขายได้มีเงินกลับมาให้รีบเอาเข้าบัญชี ยอดเงินกู้ O/D จะลดทันที เพราะคิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน สิ่งที่อยากย้ำ ทุกเดือน อย่าให้มีดอกเบี้ยค้าง เพราะดอกเบี้ยจะทบต้นทุกสิ้นเดือน
- ถ้ามีรถยนต์ หรือเครื่องจักรที่ปลอดภาระ ก็เอามาขอสินเชื่อ เพื่อเอาเงินไปหมุนเวียนในธุรกิจได้
> หากคุณตอบได้ว่าธุรกิจมีความจำเป็นต้องลงทุน เพื่อขยายร้าน ตกแต่งร้าน เช่าหน้าร้าน สร้างและต่อเติมโรงงาน หรือโกดัง
- ให้ถามตัวเองว่าการลงทุนครั้งนี้จะคุ้มค่ากับการลงทุนไหม อย่าเข้าข้างตัวเอง เอาแค่พอไหว อย่าซื้อเรือใหญ่เพื่อใช้จับปลาซิว ต้องแน่ใจว่าจับปลาวาฬ แล้วค่อยซื้อเรือใหญ่
- มีหน้าตักเท่าไหร่ ยังขาดอีกเท่าไหร่ กู้เท่าที่จำเป็น จะได้ไม่เป็นภาระในอนาคต กู้แล้วต้องมั่นใจว่าจ่ายคืนได้ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
- ถ้าต้องลงทุนซื้อรถ หรือเครื่องจักร ควรขอกู้เป็น Leasing ในนามธุรกิจ เพราะคุณสามารถนำค่างวด Financial Lease มาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้
- ระวัง อย่าใช้สินเชื่อผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำวงเงินใช้หมุนเวียนมาซื้อสินทรัพย์ถาวร เพราะมีความเสี่ยงที่อาจไม่สามารถจ่ายคืนได้ตามเงื่อนไข
ไม่มีเงิน ใช่ว่าไม่มีอนาคต อย่าได้ลด ความพยายามแสวงหา
โอกาสรอดอยู่รอบตัว ลุกขึ้นมา เน้นคุ้มค่าการลงทุน หนุนทุนตน
Revenue Streams: รายได้มาจากทางใดบ้าง เราขายเชื่อหรือขายสด ปัจจัยใดจะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของรายได้บ้าง ลูกค้าเราสะดวกจ่ายผ่านช่องทางไหน Concept ของเรา “ลูกค้าจะจ่ายด้วยวิธีไหน เรารับได้หมด”
- รับเงินสด >> สิ่งที่คุ้นเคย แต่ต้องกังวลเรื่องที่เก็บเงิน และเงินไม่ผ่านบัญชี หากจะขอสินเชื่อในอนาคต จะไม่มีหลักฐาน
- รับเงินโอนผ่านบัญชีธนาคาร >> เรา Print ชื่อบัญชี เลขที่บัญชี และชื่อธนาคาร วางไว้ที่ร้านแล้วหรือยัง หรือมีเลขที่บัญชีพร้อมส่งให้ลูกค้าหากคุณขาย Online หรือยัง
- รับเงินผ่านช่องทาง QR Code >> เรารับเงินได้ง่ายๆ แม้ลูกค้าไม่พกเงินสด และไม่ต้องการความยุ่งยากในการ Key เลขที่บัญชี แค่ลูกค้ามี Application โอนเงินในมือถือก็จ่ายเราได้
- รับบัตรเครดิต >> บัตรเครดิตจะทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น และหากเครื่องรูดบัตรมีโปรแกรมผ่อน ยิ่งทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายขึ้นไปอีก และซื้อยอดสูงขึ้น
- รับเงินจากลูกค้าต่างชาติ >> เครื่องรูดบัตรของคุณรับเงินสกุลต่างประเทศได้ไหม เช่น รับเงินจากลูกค้าชาวจีนเครื่องรูดบัตรรองรับระบบ V-Chat และ Ali Pay ที่ชาวจีนเค้าใช้หรือยัง
- เพิ่มความคล่องตัวในการจัดการทางการเงินด้วยการใช้ Application ที่สามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา
โลกเปลี่ยน Gen เปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน รูปแบบเปลี่ยน รับ-จ่ายเปลี่ยน
โอกาสรอคุณอยู่ ขึ้นอยู่ที่คุณ!! คุณพร้อมจะกอบโกยโอกาสนั้นหรือไม่?
บทความที่เกี่ยวข้อง :