04 ก.พ. 62

Gong Xi Fa ‘Click’ อั่งเปาดิจิทัล

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

Gong Xi Fa ‘Click’ อั่งเปาดิจิทัล


ตรุษจีนปีนี้ เตรียมแลกแบงก์ใหม่ใส่ซองให้ลูกหลานกันแล้วหรือยัง?

 

เทศกาลตรุษจีนหรือวันขึ้นปีใหม่ตามธรรมเนียมจีน นอกจากจะออกไปจับจ่ายซื้อของไหว้กันแล้ว การเตรียมหาธนบัตรใหม่ๆ ไว้ใส่ซองให้ลูกหลาน ก็ดูเป็นอีกหนึ่งเรื่องจำเป็นของผู้ใหญ่หลายๆ บ้าน

 

แต่สำหรับประเทศจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย การให้อั่งเปาดิจิทัลกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคสังคมไร้เงินสดอย่างทุกวันนี้



เมื่อชาวจีนแทบไม่รู้จักว่าธนบัตรหน้าตาเป็นอย่างไร


อย่างที่รู้กันว่าประเทศจีน การใช้จ่ายเงินผ่านมือถือ หรือ Mobile Payment ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โดยชาวจีนกว่า 500 ล้านคนใช้เงินผ่านระบบนี้ ซึ่งแตกต่างไปจากบัตรเครดิตที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากความเชื่อเรื่องการไม่อยากเป็นหนี้ของชาวจีน

 

เมื่อปลายปี 2018 ธนาคารกลางจีนออกธนบัตร 50 หยวนรุ่นใหม่เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 70 ปีของการเริ่มใช้สกุลเงินหยวน แต่เรื่องนี้กลับถูกมองเป็นเรื่องล้าสมัยในสังคมโซเชียล โดยชาวจีนหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นว่า      พวกเขาเองไม่ได้ใช้เงินจริงมานานมากแล้ว จนแทบนึกไม่ออกว่าธนบัตรหน้าตาเป็นอย่างไร

 

ผู้เล่นยักษ์ใหญ่ของจีน ประกอบไปด้วย Alibaba และ Tencent ผู้ให้บริการ Alipay และ WeChat ตามลำดับ โดยมียอดธุรกรรมการเงินกว่า 16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่ทำผ่านแพลตฟอร์มมือถือ หรือแพลตฟอร์ม Social Chat

 

ความนิยมนี้ แสดงให้เห็นไล่ตั้งแต่การรับชำระเงินของร้านค้าทั่วไปในตลาดสด ห้างร้าน แท็กซี่ หรือแม้กระทั่งนักแสดงเปิดหมวกริมถนน ที่ตั้ง QR Code เพื่อรับเงินที่ทุกคนจะบริจาคให้

 

 

ขนบธรรมเนียมยังคงเกิดได้ แม้ตัวจะอยู่ห่างไกลกัน

 

สำหรับอั่งเปาดิจิทัล มีการเปิดตัวครั้งแรกในปี 2014 โดยบริษัท Tencent ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ด้วยยอดการส่งอั่งเปาดิจิทัลกว่า 40 ล้านซอง หรือคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 400 ล้านหยวน

 

แม้ว่าผู้ใหญ่หลายคนจะยังคงชื่นชอบการให้ซองอั่งเปาแบบดั้งเดิม แต่อีกหลายคนมองว่า อั่งเปาดิจิทัลนั้นเพิ่มความสะดวกให้อย่างมาก โดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่ไกลกันคนละซีกประเทศ ยังคงสามารถให้ซองเพื่ออวยพรปีใหม่กันได้ตามขนบธรรมเนียม

 

จากผลสำรวจของ Light Speed Research บนกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ชาวจีนกว่าร้อยละ 80 พร้อมที่จะเลือกส่งซองอั่งเปาดิจิทัลให้ลูกหลาน โดยหนึ่งคนจะส่งอั่งเปาดิจิทัลเฉลี่ยอย่างน้อย 20 ซอง

 

ด้านสถาบันการเงินเอง หลางแห่งก็พยายามพัฒนารูปแบบของอั่งเปาดิจิทัลให้มีลูกเล่นมากขึ้น เพื่อกระตุ้นความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้สวยงาม ใช้งานง่าย หรือนำระบบ AR เข้ามาช่วยเพิ่มความสนุกในการล่าซองอั่งเปา

 

บางแห่งพยายามเอาใจลูกค้าที่ยังคงชอบการให้ซองอั่งเปาแบบจับต้องได้ ด้วยการออกเป็น อั่งเปา QR โดยผู้ให้สแกนจำนวนเงินที่จะใส่ผ่าน QR Code บนหน้าการ์ดอั่งเปา จากนั้นนำอั่งเปานี้ไปมอบให้แก่ลูกหลาน เมื่อผู้รับเปิดซองแดงก็สามารถรับเงินได้ด้วยการสแกน QR บนหน้าการ์ด


 

ที่มา : Walk the Chat


สอนลูกหลาน จัดการเงินอั่งเปาให้งอกเงย

 

จากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รูปแบบการให้อั่งเปาจึงมีความหลากหลายมากขึ้น จากอั่งเปาธนบัตรสู่อั่งเปาดิจิทัล แต่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด การได้รับอั่งเปาก็คือการได้รับเงินก้อนมาจำนวนหนึ่ง เมื่อได้รับมาแล้ว หากมีวิธีบริหารจัดการที่ดี ก็จะช่วยต่อยอดให้อั่งเปาเรางอกเงย

 

ประเด็นที่ชวนนึก คือ หลายคนมักมองว่า เงินอั่งเปานี้เป็นเงินลาภลอย ได้มาเปล่าๆ การจะนำไปใช้อะไร จึงระวังน้อยกว่าเงินที่ได้จากทำงาน

 

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า คนส่วนใหญ่มักนำเงินอั่งเปาที่ได้ ไปฝากธนาคารไว้ อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่การต่อยอดเงินก้อน ผู้รับสามารถนำเงินนี้ไปเลือกแหล่งเก็บให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ระยะเวลา และความเสี่ยงได้อีกหลายทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ กองทุนรวม หุ้น หรือแม้กระทั่งนำไปโปะหนี้เพื่อลดภาระหนี้ก็ตาม

 

ขอแค่อย่ามองว่า เงินอั่งเปานี้ เป็นแค่เงินก้อนที่ลอยมาเข้ากระเป๋า เท่านั้นเอง


บทความที่เกี่ยวข้อง: 

Tool: K-Expert MyPort



ให้คะแนนบทความ