10 ต.ค. 61

Money Script: เพราะเชื่อเช่นนั้น จึงเป็นเช่นนี้

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

Money Script: เพราะเชื่อเช่นนั้น จึงเป็นเช่นนี้


          เคยสังเกตไหมว่า เวลาคุยเรื่องเงินกับใครก็ตาม แต่ละคนมีทัศนคติการให้ค่าของวัตถุ และการแสดงออกต่อเรื่องเงินที่ต่างกัน หลายต่อหลายครั้ง ก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่าทำไมคนนั้นตัดสินใจใช้เงินแบบนี้ คนนี้ตัดสินใจลงทุนแบบนั้น


 

          Dr.Brad Klontz นักจิตวิทยาการเงินผู้เขียนหนังสือเรื่อง Mind Over Money ได้ทำการศึกษาและสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อทางการเงิน ที่เรียกว่า Money Script ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นฐานทางครอบครัว ที่ส่งผลต่อทัศนคติและมุมมองที่มีต่อเรื่องเงินในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่าย การเก็บออม การรับความเสี่ยงในการลงทุน


 

          จากบทวิจัยเรื่อง Money Belief and Financial Behaviors: Development of the Klontz Money Script Inventory ของ Dr.Klontz ร่วมกับ Dr.Sonya Britt และ Jennifer Mentzer พบว่า ภายใต้ความเชื่อทางการเงิน หรือ Money Script ผ่านการทำแบบทดสอบ เราสามารถแบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ


 

          Money Avoidance - เงินคือมารร้าย คนกลุ่มนี้มองว่าการมีเงินเป็นเรื่องไม่ดี “คนรวย คือคนโลภ” “เราจะมีเงินไปทำไม ถ้ายังมีคนอื่นที่ยังขาดแคลนกว่า” หากคุณคิดว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มนี้ มีโอกาสที่จะใช้จ่ายเงินโดยไม่ใส่ใจอะไรมากนัก นำมาซึ่งการเป็นหนี้เกินตัว ไม่เน้นเรื่องเก็บออม ส่วนการลงทุนนั้น เป็นไปได้ที่จะลงทุนตามกระแส เพราะผลกำไรหรือขาดทุนไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญ


 

          Money Worship - เงินคือพระเจ้า ภายใต้ความคิดว่า การมีเงินจะช่วยให้ทุกอย่างเป็นไปได้ “ถ้าฉันถูกรางวัลที่หนึ่ง ชีวิตจะดีกว่านี้มาก” “ยิ่งมีเงินมาก ยิ่งมีความสุข” กลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะทำงานหนัก เพื่อให้ได้เงินมากๆ แล้วนำเงินไปใช้จ่ายสร้างความสุข จึงมีโอกาสที่จะใช้บัตรเครดิตสูง สำหรับการลงทุน เป็นไปได้ที่จะรับความเสี่ยงได้สูง คาดหวังผลตอบแทนสูงๆ เพื่อให้รวยเร็วๆ


 

          Money Status - เงินคือหน้าตา “ฉันจะซื้อของรุ่นใหม่ที่สุดเสมอ” เพราะเงินสร้างตัวตน สำหรับใครที่เข้าประเภทนี้มักยินดีใช้เงินไปกับวัตถุนิยมต่างๆ เพื่อสร้างการยอมรับ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการใช้เงินเกินตัว มีโอกาสที่จะนำพาไปสู่การพนันเพื่อให้ได้เงินมาจับจ่ายใช้สอย ทางด้านการลงทุนก็คล้ายกับกลุ่ม Money Worship ที่พร้อมจะลงทุนเสี่ยงๆ เพื่อสร้างทางลัดให้ร่ำรวย


 

          Money Vigilance - เงินคือของรัก เงินทองต้องปลอดภัย “เราจะไม่พูดเรื่องเงินกับใครๆ” “เงินมีไว้เก็บ ไม่ใช่ไว้ใช้” หลายครั้งอาจถูกมองว่าเป็นมนุษย์ขี้เหนียว กลุ่มนี้ค่อนข้างคิดแล้วคิดอีกกว่าจะยอมให้เงินทุกบาททุกสตางค์กระเด็นออกจากกระเป๋า บางครั้งถึงขั้นไม่ยอมใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น สำหรับการลงทุนนั้น ด้วยความที่เป็นคนระแวดระวัง จึงมักลงทุนในของที่ให้ผลตอบแทนแน่นอน เพราะกังวลเรื่องผลขาดทุน 


 

จากมุมมองของคนทั้ง 4 กลุ่ม มีแนวโน้มที่จะสะท้อนพฤติกรรมต่อการจัดการเรื่องเงินในด้านต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน ส่งผลให้มีวิธีจัดการเงินที่ต่างกัน เช่น

        

          Money Avoidance - เงินคือมารร้าย แม้จะไม่ชอบเรื่องเงินเอาเสียเลย แต่ควรหาเวลาเอาใบเสร็จหรือสมุดบัญชีต่างๆ มานั่งดูบ้าง เพื่อทบทวนสถานะการเงินของตัวเอง ด้านการใช้จ่าย K-Expert แนะนำให้ทำบันทึกรับจ่ายและให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ กับตัวเองบ้างเมื่อเก็บเงินได้ แบ่งเงินบางส่วนไปใช้กับการสร้างสังคมให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีกับการมีเงินของตัวเอง หรือลองใช้ระบบอัตโนมัติอย่างการตัดบัญชีรายเดือนเพื่อชำระค่าใช้จ่าย เช่นกันกับด้านการลงทุน เพื่อให้เก็บเงินได้ได้สม่ำเสมอโดยไม่ต้องเอาตัวเองไปทำธุรกรรมบ่อยๆ แนะนำให้ใช้ระบบตั้งเวลาซื้อขายกองทุนรวมล่วงหน้า


 

          Money Worship - เงินคือพระเจ้า ด้านการใช้จ่าย ก่อนที่จะใช้เงินไปเพื่อสร้างความอิ่มเอมใจให้กับตัวเอง K-Expert อยากให้ลองตั้งคำถามก่อนว่า กำลังจะซื้อสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร นอกจากนี้ ลองใช้เวลากับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงให้มากขึ้น เพราะความสุขอาจจะมาจากความสัมพันธ์ที่ดีมากกว่าการทำงานหาเงินได้มากๆ เพียงอย่างเดียว สำหรับในด้านการลงทุน แนะนำให้กลับมาดูระดับความเสี่ยงที่รับได้ เป้าหมายเงินลงทุนและระยะเวลาลงทุน เพื่อหาการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง มากกว่าเน้นแค่เรื่องผลตอบแทน


 

          Money Status - เงินคือหน้าตา ด้วยความเป็นมนุษย์วัตถุนิยม ในด้านการใช้จ่าย K-Expert แนะนำให้ตั้งคาถาหลายๆ ข้อก่อนช้อปปิ้ง เช่น ฉันกำลังจะตัดสินใจซื้อด้วยอารมณ์ไหม จะรู้สึกดีกับการได้อวดของใหม่ชิ้นนี้ไปอีกนานเท่าไร แล้วถ้ารอเดือนหน้ากลับมาใหม่ จะยังรู้สึกอยากได้ของชิ้นนี้อีกไหม เป็นต้น เช่นกันกับการลงทุน ลองหันมาทำความเข้าใจสินทรัพย์การลงทุนนั้นๆ อย่างละเอียดก่อนลงทุน เช่น อ่านหนังสือชี้ชวนกองทุน หรือเข้า Class เพิ่มความรู้เรื่องการลงทุน จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับเงินคุณได้มากขึ้น


 

          Money Vigilance - เงินคือของรัก ด้านการใช้จ่าย การประหยัดหรือรอบคอบเรื่องการใช้จ่ายเป็นสิ่งที่ดี แต่ K-Expert แนะนำให้ลองแบ่งเงินบางส่วนไปหาความบันเทิงให้กับตัวเองบ้าง หรือเมื่อเก็บเงินได้ตามเป้าหมายก็ให้รางวัลตัวเองหรือครอบครัวเพื่อสร้างความสุขทางใจ ส่วนการลงทุน แนะนำให้พูดคุยกับที่ปรึกษาการเงิน เพื่อหาแผนลงทุนที่เหมาะสม โดยเฉพาะกับเป้าหมายระยะยาว เพื่อเพิ่มโอกาสที่คุณจะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น


 

          ไม่ว่าเราจะเป็นคนกลุ่มไหนหรือหลายกลุ่มรวมกัน แต่การทำความเข้าใจมุมมองพื้นฐานที่มีต่อเรื่องเงิน จะช่วยให้คุณได้กลับมาทบทวนพฤติกรรมการเงินของตัวเอง และหาวิธีจัดการการเงินที่เหมาะกับวิถีชีวิตตนเองมากขึ้น


 

บทความที่เกี่ยวข้อง: 

- 5 พฤติกรรมทำเจ็บ เก็บเงินไม่อยู่

วิธีรักษาอาการสายตาสั้นทางการเงิน 


 

ให้คะแนนบทความ

บุษยพรรณ วัชรนาคา CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย