ออมและลงทุน
สุขภาพการเงินดี ต้องใช้เงินแบบคลีนๆ
คงจะหลีกหนีความจริงไม่ได้ หากจะบอกว่า “รายจ่ายในชีวิตประจำวัน" ในปัจจุบันนั้นเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ค่าใช้จ่ายครัวเรือนโดยเฉลี่ยของคนไทยนั้นเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีอย่างต่อเนื่อง (เพิ่มขึ้น 1.4% จากปี 2559 ถึงปี 2561) ดังนั้น การจัดการเงินๆ ทองๆ จึงเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น เพื่อให้เราจัดการเงินได้อย่างดีที่สุด ซึ่ง K-Expert มีแนวคิดง่ายๆ มานำเสนอ โดยใช้หลักการ 3Rs ที่หลายๆ คนรู้จักซึ่งมาจาก “Reduce Reuse Recycle" ที่เรามักจะได้ยินในการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือเพื่ออนุรักษ์โลกของเรา แต่ใครจะไปนึกว่าแนวคิดดังกล่าวยังสามารถช่วยเราในการลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ด้วยเช่นกัน
หลักการ 3Rs คืออะไร แล้วเกี่ยวกับการเงินอย่างไร
3Rs นั้นย่อมาจาก Reduce Reuse Recycle ซึ่งถือว่าเป็นหลักการที่ช่วยให้เราลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น ไปจนถึงลดการก่อให้เกิดขยะส่วนเกินที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการ สุดท้ายแล้วทำให้เราสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าสูงสุด ดังนั้น หากเราเปลี่ยนคำว่า “ทรัพยากร" ไปเป็น “เงินในกระเป๋า" แล้ว ก็จะทำให้เห็นภาพมากขึ้นว่า จะดีแค่ไหนที่เราสามารถใช้เงินของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ไปดูกันเลยดีกว่าว่า 3Rs นั้นมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
1. Reduce การลด: คิดก่อนใช้ ลดค่าใช้จ่ายได้
Reduce คือ การลดปริมาณการใช้โดยไม่จำเป็น ซึ่งวิธีนี้ถือว่าเข้าใจได้ง่าย และเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะเพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็สามารถช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ และทำให้ประหยัดเงินได้มากขึ้น ดังนั้น ไปดูกันว่าเราสามารถประยุกต์ใช้งานได้อย่างไร เช่น
- ลดการใช้ทรัพยากรในชีวิตประจำวัน: ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำมัน โดยการวางแผนการเดินทางแบบ Real-time หลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงเวลาที่รถติด ลดการใช้ไฟฟ้าจากสิ่งของเครื่องใช้ที่ไม่จำเป็น และประหยัดน้ำที่ใช้ในบ้าน
- ลดการใช้สิ่งของไม่จำเป็นหรือเกินตัว: วางแผนการซื้อของให้พอดี ไม่ซื้อมากจนเกินไปจนของที่ซื้อมานั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์
ประโยชน์ทางการเงิน: การลดการใช้ทรัพยากร หรือลดส่วนเกินที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ย่อมหมายถึงรายจ่ายที่ลดลงในแต่ละเดือน ซึ่งการวางแผนมาเป็นอย่างดีนั้นจะทำให้เรามีเงินเหลือ ได้เงินเพิ่มขึ้นจากการลดการใช้ทรัพยากรมาเก็บออมต่อไปได้
2. Reuse การใช้ซ้ำ: แม้จะใช้ซ้ำ แต่ช่วยให้มีเงินใช้ได้นาน
Reuse คือ การใช้ซ้ำของเดิม หรือผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่จนกว่าจะหมดสภาพ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรามักจะทิ้งของ เหล่านั้นไปก่อนเวลาอันควรเสมอ ทั้งที่จริงแล้ว สิ่งของเหล่านั้นยังสามารถใช้งานได้อยู่ เพราะไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ตัวอย่างที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างง่ายๆ คือ
- ใช้ผลิตภัณฑ์ซ้ำในขณะที่ยังใช้งานได้ เช่น ใช้กระดาษ A4 ให้ครบทั้งสองหน้า ใช้ถุงพลาสติก หรือขวดแก้วบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ซ้ำ
- เลือกซื้อสินค้าที่ใช้ซ้ำได้ เช่น แบตเตอรี่แบบชาร์จได้ ใช้สินค้าที่สามารถ Refill เติมซ้ำได้
- นำสิ่งของมาดัดแปลงหรือประดิษฐ์เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ใหม่อีกรอบ หรือเฟอร์นิเจอร์เก่าๆ ก็สามารถนำมาตกแต่งซ่อมแซมให้เป็นสไตล์เก๋ๆ ได้
ประโยชน์ทางการเงิน: การใช้ซ้ำแทนที่การซื้อใหม่ทุกๆ ครั้ง ทำให้ลดรายจ่ายต่อเดือนลงไปได้ เนื่องจากช่วยลดจำนวนครั้งในการซื้อใหม่หรือจ่ายเงินต่อเดือน ทำให้เพิ่มความคุ้มค่าในการใช้เงินไปอีกขั้น
3. Recycle การแปรรูปใช้ใหม่: นำกลับไปเป็นวัตถุดิบใหม่
Recycle คือ การที่เรานำสิ่งของที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว หรือซ่อมไม่ได้อีกต่อไปเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพ เพื่อให้ กลายเป็นวัตถุดิบตั้งต้นใหม่อีกครั้ง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตใหม่อีกรอบหนึ่ง แต่เราคงไม่สามารถแปรรูปได้เอง ง่ายกว่านั้นเราสามารถทำได้โดย
- นำของเก่า หรืออุปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้แล้ว เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่า อย่างคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ พลาสติก ขวดพลาสติกใสประเภท PET และ PE รองเท้าเก่า หรือเสื้อผ้าที่ใช้ไม่ได้แล้วไปขายที่ศูนย์รับซื้อของเก่าได้
- เข้าร่วมแคมเปญต่างๆ ที่มีการรณรงค์ให้นำ “ของเก่ามาแลกซื้อของใหม่ได้" เช่น นำสมาร์ทโฟนรุ่นเก่ามาแลกรับส่วนลดสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ทำให้เราได้ของใหม่ในราคาที่ถูกลง เมื่อเทียบกับการไม่ได้รับส่วนลดอีกด้วย
ประโยชน์ทางการเงิน: สิ่งที่เราจะได้รับกลับมาคือ เงินหรือส่วนลดหรือสินค้าที่ได้จากการนำของเหล่านี้ไปแลกเป็นผลตอบแทน
สุดท้ายหากเรานำหลัก 3Rs มาใช้ในการจัดการทางการเงินก็จะช่วยให้เราคิดทุกครั้งก่อนตัดสินใจใช้เงิน และใช้เงินอย่างประหยัดมากขึ้น นอกจากประโยชน์ของ 3Rs ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินส่วนบุคคลแล้ว เรายังสามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลดต้นทุนในการทำธุรกิจ หรือใช้แนวคิดนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบมากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย
Reference
บทความที่เกี่ยวข้อง