ออมและลงทุน
เรื่องเงินที่ควรจัดการก่อนอายุ 30
ปัจจุบันนี้คนไทยส่วนใหญ่มักจะมีการใช้จ่ายเดือนชนเดือน แค่นำเงินไปจ่ายหนี้ก็ไม่พอที่จะออมแล้ว ประเทศไทยจึงมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากเกาหลีใต้ โดยสูงถึง 13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 78.7% เมื่อเทียบกับ GDP (ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 1/2562)* ที่น่าตกใจคือ คนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยคนไทยที่มีอายุ 30 ปี จำนวน 100 คน มีหนี้ถึง 50 คน** และจะไม่ใช่เรื่องน่ากังวลใจเลยหากส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หากวันนี้เราฉุกคิดสักนิดก่อนใช้เงิน เราจะมีเงินเหลือออมและสามารถนำเงินไปลงทุนได้มากขึ้น K-Expert ขอแนะนำวิธีการจัดการเงินให้ปังก่อนอายุ 30 ดังนี้ค่ะ
1. ตกผลึกสักนิด ก่อนคิดเป็นหนี้
เมื่อเราเรียนจบและเริ่มต้นทำงานก็จะมีเงินเดือนเป็นของตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นคนมีเครดิต สามารถสมัครได้ทั้ง
บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดจากหลายๆ สถาบันการเงิน เมื่อเงินเดือนเดือนแรกออก เรามักจะคิดว่าจะเอาเงินไปทำอะไรดี โดยทั่วไปที่มักพบเจอคือ สาวๆ จะมีนิสัยนัก Shop และแพ้ป้าย Sale ส่วนหนุ่มๆ กิจกรรมที่ขาดไม่ได้เลยคือ การเข้าสังคม ออกไปกินและดื่มกับเพื่อนๆ แต่ไม่ว่าเราจะไปเดินห้าง หรือไปปาร์ตี้นั้นล้วนแต่ต้องใช้เงิน บางคนใช้เงินสด ใช้ก่อนเก็บทีหลัง และบางคนเลือกที่จะใช้
บัตรเครดิต เข้าคอนเซ็ปต์ที่ว่า “ใช้ก่อนจ่ายทีหลัง”
หากวันนี้เราวางแผนจัดการเงินที่ดี
บัตรเครดิตจะมีประโยชน์มากถ้าเรารู้จักวิธีใช้ โดยมีทั้งส่วนลดร้านค้าและสะสมคะแนนเพื่อแลกรับของรางวัล
แนะนำให้เราคิดทุกครั้งก่อนรูดบัตรเครดิตซื้อสินค้า ว่าหากรูดแล้วเราจะมีเงินจ่ายชำระคืนเต็มจำนวนได้ไหวแน่ๆ แต่หากเราไม่มีการวางแผนที่ดีแล้ว สิ่งที่ตามมากับการใช้บัตรเครดิตคือ ภาระดอกเบี้ยและหนี้ก้อนโต
สำหรับคนที่อยากมีรถมอเตอร์ไซด์ หรือรถยนต์ เคยลองถามตัวเองไหมว่า ถ้าไม่มีรถแล้ว เราสามารถเดินทางไปทำงานด้วยรถสาธารณะได้ไหม หากตอบตัวเองว่าได้ ก็ยังไม่ต้องรีบไปเป็นหนี้ แต่หากไม่มีทางเลือกเพราะรถเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ สำหรับการเดินทางไปทำงาน ก่อนออกรถใหม่ก็อย่าลืมคิดถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าภาษี ค่าพ.ร.บ. ค่าประกัน ค่าน้ำมันและค่าบำรุงรักษารถ เป็นต้น
เมื่อคิดจะสร้างหนี้แล้ว การรักษาเครดิตของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ควรผ่อนรถให้ตรง จะได้ไม่โดนค่าปรับและดอกเบี้ยผิดนัดชำระ การเป็นหนี้ไม่ผิดเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ ว่าหนี้ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะความจำเป็นในชีวิตประจำวัน หรือเป็นเพียงแค่อยากได้ อยากมีตามกระแสสังคม
แนะนำให้คิดทุกครั้งก่อนใช้เงิน แค่นี้เราก็จะมีเงินเหลือมาออมและลงทุนได้เพิ่มขึ้นค่ะ
2. อยากรวย ต้องลองผิดลองถูก
สำหรับคนที่อายุยังไม่ถึง 30 ปี ช่วงนี้เป็นช่วงแสวงหาความรู้ ลองผิดลองถูก หากอยากรวย ช่วงนี้แหละเป็นช่วงที่ควรต้องฝึกซ้อมลงทุน เพราะแม้จะพลาดพลั้งไปก็ยังไม่ใช่เงินจำนวนที่มากนัก คำว่าลงทุนในที่นี้หมายความถึงการลงทุนต่างๆ ตามที่มีกฎหมายรองรับ เช่น กองทุนรวม หรือหุ้นรายตัว สำหรับการลงทุนที่เข้าข่ายผิดกฎหมายซึ่งมักจะให้ผลตอบแทนที่สูงจนผิดสังเกต แนะนำว่าไม่ต้องลอง เพราะมีคนที่ตกเป็นเหยื่อและถูกโกงมามากพอแล้ว เช่น แชร์ลูกโซ่ เป็นต้น
• กองทุนรวมหุ้น VS หุ้นรายตัว
กองทุนรวมหุ้น เหมาะสำหรับคนที่อยากมีมืออาชีพที่เราเรียกว่า “ผู้จัดการกองทุน” คอยตัดสินใจเลือกซื้อขายหุ้นแทนเรา โดยจะมีการกระจายการลงทุนในหุ้นหลายตัว และหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เราสามารถลงทุนในกองทุนรวมหุ้นโดยเริ่มต้นเพียงแค่ 500 บาท ผ่านธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม หรือนายหน้าขายหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาต
ส่วนการลงทุนในหุ้นรายตัว เหมาะสำหรับคนที่ติดตามข้อมูลข่าวสารด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยจะเริ่มลงทุนได้เราต้องเปิดพอร์ตหุ้นกับทางบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ก่อน โดยจะมีผู้แนะนำการลงทุนที่เรียกว่า “Marketing” คอยแนะนำว่าหุ้นตัวไหนน่าลงทุน แต่เราจะเป็นคนตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นด้วยตัวเอง
• การสร้าง Passive Income โดยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นหรือหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง
โดยปกติแล้วไม่ว่าเราจะลงทุนในกองทุนรวมหุ้นหรือหุ้นรายตัว นักลงทุนจะคาดหวังกำไรจากราคาที่สูงขึ้น เช่น ลงทุนในหุ้น 10 บาท หากราคาหุ้นขึ้นไปที่ 15 บาท เมื่อเราขายทำกำไร จะได้กำไร 5 บาท โดยกำไรในส่วนนี้จะได้รับการยกเว้นภาษี
สำหรับการสร้าง Passive Income หรือการให้เงินทำงานแทนเรา แนะนำให้เลือกลงทุนในกองทุนหุ้นที่มีนโยบายจ่ายปันผล หรือหุ้นรายตัวที่มีประวัติการจ่ายปันผลในอดีตอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ และคาดว่าแนวโน้มธุรกิจของหุ้นตัวที่เราเลือกยังจะมีกำไรเติบโตต่อเนื่อง โดยดูเบื้องต้นได้จากหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET High Dividend (SETHD)
สำหรับใครที่อยากรวยและพร้อมลองผิดลองถูก เมื่อได้รับเงินเดือนมา ก่อนอื่นแนะนำให้แบ่งเงินสัก 20% ของเงินเดือนไปลงทุน โดยตั้งเป็นระบบอัตโนมัติให้หักจากบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีเงินเดือนทุกเดือน การที่เราทยอยนำเงินไปลงทุนเท่าๆ กันทุกเดือน หรือหลายคนมักจะเรียกว่า “DCA (Dollar Cost Average)” จะทำให้เราได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ไม่แพงจนเกินไป และเป็นการสร้างวินัยในการออมและลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย
3. เงินเดือนยังน้อย ต้องรีบวางแผน
หลายคนมักมีคำถามว่าอยากจะเริ่มบริหารเงินจะเริ่มต้นอย่างไรดี ขอแนะนำดังนี้ค่ะ
• เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
หากมีเหตุต้องใช้เงินเร่งด่วน เช่น เจ็บป่วย ตกงาน และอื่นๆ เราจะได้ไม่ต้องไปก่อหนี้และจ่ายดอกเบี้ย เช่น มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท แนะนำให้เก็บเงินสำรองฉุกเฉินจำนวน 60,000 บาท (10,000 บาท X 6 เดือน) โดยเก็บไว้ในรูปแบบของเงินฝากออมทรัพย์และกองทุนรวมตลาดเงินซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ
• จัดทำบันทึกรับจ่าย
การทำบันทึกรับจ่ายจะช่วยให้เรารู้ว่า เราหมดเงินไปกับอะไรบ้างในแต่ละเดือน และเราสามารถปรับลดค่าใช้จ่ายอะไรได้อีกบ้างเพื่อให้มีเงินเหลือไปออมและลงทุนได้มากขึ้น
• รู้จักตัวช่วยลดหย่อนภาษีเบื้องต้น
วันนี้หากรายได้ของเรายังไม่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษี ตัวช่วยลดหย่อนภาษีอาจจะยังไม่มีความจำเป็น แต่วันใดก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกว่านายจ้างหักภาษี ณ ที่จ่ายเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน และเราอยากได้เงินคืนภาษี ตัวช่วยลดหย่อนภาษีมีหลายตัวช่วย เช่น การเพิ่มเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) การลงทุนในกองทุน RMF ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันบำนาญ เป็นต้น
หากเราไม่อยากเป็นหนี้ เราจำเป็นต้องรู้จักใช้ รู้จักออม และรู้จักนำเงินไปลงทุน หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า
“ออมก่อน รวยกว่า” เพราะด้วยพลังของผลตอบแทนทบต้น คนที่ออมและลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้มีเงินเก็บก้อนโตได้ก่อนเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน ซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินตามที่ได้วางแผนไว้