10 ธ.ค. 56

8 ตัวช่วยลดหย่อนภาษี (ตอนที่ 1)

คะแนนเฉลี่ย

ภาษี

8 ตัวช่วยลดหย่อนภาษี (ตอนที่ 1)


“การใช้สิทธิลดหย่อนจากการเลี้ยงดูพ่อแม่ บุตร หรือคนพิการ จะช่วยให้เราประหยัดภาษีในแต่ละปีไปได้ไม่น้อย” 
- K-Expert -

          ใกล้โค้งสุดท้ายของปีเข้าไปเต็มที ใครที่อยากใช้สิทธิลดหย่อนภาษีก็อย่าได้ชะล่าใจว่ายังพอมีเวลาเพราะยิ่งใกล้ปีใหม่เวลาก็ยิ่งหมดไปอย่างรวดเร็ว มารู้ตัวอีกทีอาจจะไม่ทันการลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี วันนี้ขอแนะนำ 8 ตัวช่วยลดหย่อนภาษีมาแนะนำกัน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ ตัวช่วยลดหย่อนภาษีโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม และตัวช่วยลดหย่อนภาษีโดยการลงทุนเพิ่ม ซึ่งในบทความนี้เรามาทำความรู้จักกับตัวช่วยลดหย่อนภาษีโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มกันก่อนค่ะ

          ​1. สิทธิลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ ตัวช่วยแรกนี้ สำหรับลูกๆ ที่มีคุณพ่อคุณแม่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และคุณพ่อคุณแม่มีรายได้ไม่เกินคนละ 30,000 บาท สามารถใช้สิทธิลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ได้ท่านละ 30,000 บาท โดยพี่น้องจะต้องตกลงกันก่อนว่าใครจะเป็นผู้ใช้สิทธิ เพราะสิทธินี้จะไม่สามารถนำมาเฉลี่ยได้หากคุณพ่อคุณแม่มีลูกหลายคน ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่มีลูก 2 คน คุณพ่ออาจให้สิทธิลูกคนโต คุณแม่ให้สิทธิกับลูกคนเล็กก็ได้ค่ะ (รายได้ในที่นี้รวมถึงดอกเบี้ยรับจากธนาคารที่คุณพ่อคุณแม่ฝากเงินเอาไว้ด้วยนะคะ เนื่องจากบางครั้งเราเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่เกษียณแล้วไม่น่าจะมีรายได้อะไร แต่ปรากฏว่าท่านมีรายได้จากดอกเบี้ยสูงกว่า 30,000 บาท จะไม่สามารถใช้สิทธิได้) 

          2. การใช้สิทธิลดหย่อนบุตร ในกรณีที่จดทะเบียนสมรส ต่างฝ่ายจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 17,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 3 คน (หากบุตรไม่เรียนหนังสือ หรือเรียนต่างประเทศ จะสามารถใช้สิทธิได้เพียงคนละ 15,000 บาท) ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่มีบุตร 3 คน และบุตรทั้ง 3 อยู่ในระหว่างการศึกษาในประเทศไทย สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้สูงสุดฝ่ายละ 51,000 บาท

          3. อุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ในกรณีที่บุคคลในครอบครัวเป็นคนพิการ สามารถใช้สิทธิอุปการะเลี้ยงดูคนพิการได้ คนละ 60,000 บาท ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะต้องเป็นคุณพ่อคุณแม่ของเรา หรือคุณพ่อคุณแม่ของคู่สมรส เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสิ้น (ไม่จำกัดจำนวนคน) ในกรณีที่เป็นบุคคลอื่นๆ นอกเหนือจากบุคคลดังกล่าว สามารถอุปการะเลี้ยงดูได้อีก 1 คน ทั้งนี้ จะต้องทำตามเงื่อนไข โดยผู้มีเงินได้จะต้องเป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ ก็สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้ค่ะ 

          เราได้ทำความรู้จักกับตัวช่วยลดหย่อนภาษีโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มกันแล้ว ในบทความหน้า เราจะมาดูกันว่าตัวช่วยลดหย่อนภาษีโดยการลงทุนเพิ่มนั้น มีอะไรบ้าง เพื่อให้เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกันได้อย่างเต็มที่ค่ะ

K-Expert Action :
- เลือกใช้สิทธิลดหย่อนโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มให้เต็มที่ก่อน เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานที่สามารถใช้ได้
- เช็คอายุคุณพ่อคุณแม่ว่าถึง 60 ปี หรือยัง จากนั้นพิจารณารายได้ของท่านว่าถึง 30,000 บาทหรือไม่ หากไม่ถึงก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่


ให้คะแนนบทความ

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า

ธนาคารกสิกรไทย