ออมและลงทุน
ข้อควรระวัง! ก่อนเริ่มหาคู่ออนไลน์
ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นทุกวันนี้ มีบทบาทช่วยให้เราใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน การเงิน รวมไปถึงเรื่องความรักก็เช่นกัน ที่ทุกวันนี้ต่างคนต่างเร่งรีบในการใช้ชีวิต ทำให้ไม่มีเวลาที่จะออกไปตามหาหัวใจ ซึ่งข้อมูลจากหน่วยงานด้านการวิจัยและจัดทำผลสำรวจ (YouGov)* ก.ย. 60 สำรวจข้อมูลพบว่า คนไทยมากถึง 4 ใน 10 เคยใช้แอปพลิเคชันหาคู่ทางอินเทอร์เน็ต หรือทางออนไลน์ ซึ่งมีตัวเลขที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งแอปฯ หาคู่ที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้กัน เช่น IG, Tinder, Skout, การหาคู่ผ่าน FB เป็นต้น แอปฯ เหล่านี้จะช่วยจับคู่หนุ่มสาวที่มีความชอบคล้ายๆ กันให้ได้พูดคุยกันมากยิ่งขึ้น และทำได้ง่ายเพียงผ่านระบบมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้สะดวก แต่เหรียญก็มักจะมีทั้ง 2 ด้านเสมอ แม้จะช่วยให้การหาคู่ง่าย แต่ก็ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพใช้โอกาสจากช่องทางนี้ในการหลอกล่อเหยื่อของตนเองด้วยเช่นกัน
จากสำนักงานตำรวจ** พบว่า การหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่นิยมใช้เพื่อหลอกเหยื่อจากการหาคู่มากที่สุดเรียกว่า "โรแมนซ์สแกม" คือการสร้างตัวตนปลอมขึ้นมาให้ดูน่าเชื่อถือ หน้าตาดี มีฐานะร่ำรวย หรือมีอิทธิพล โดยจะหลอกเข้ามาตีสนิทกับเหยื่อให้ตายใจซึ่งบางกรณีอาจมีการติดต่อกับเหยื่อนานเกิน 7-8 เดือนเพื่อให้เหยื่อตายใจ แล้วยกเหตุผลมากมาย เพื่อให้เหยื่อหลงกลส่งเงินไปให้กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้
จากเคสดังที่ผ่านมา มีผู้ชายคนหนึ่งถูกผู้หญิงหลอกลวงให้โอนเงินไปแล้วกว่า 7 ล้านบาท ในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งฝ่ายมิจฉาชีพอาศัยจังหวะที่ผู้ชายเลิกกับแฟน และธุรกิจกำลังมีปัญหา ทำให้จิตใจไม่มั่นคงเข้ามาตีสนิทด้วยโดยใช้โปรไฟล์รูปผู้หญิงที่หน้าตาดี เป็นดารา ทำให้ฝ่ายชายตายใจ และหาข้ออ้างต่างๆ เพื่อให้เหยื่อโอนเงินให้ ทำให้หลายๆ คนที่ตกเป็นเหยื่อสูญเสียเงินไปมากมาย K-Expert มีคำแนะนำเพื่อป้องกันเรื่องนี้มาฝากกันก่อนที่จะเริ่มหาคนรู้ใจผ่านทางออนไลน์ โดยการสร้างเกราะป้องกันขึ้นมาทั้ง 2 ด้าน
สร้างเกราะป้องกันจากภายนอก
1. ตรวจสอบโปรไฟล์ทุกครั้ง ก่อนที่จะเริ่มคุยกับใคร หรือมีใครที่มาคุยกับเรา เช่น โปรไฟล์ส่วนบุคคลมีความ อัปเดตสม่ำเสมอแค่ไหน มีการอัปเดตเป็นประจำหรือไม่ มีเพื่อนอยู่กี่คน รูปส่วนตัวมีมากน้อยแค่ไหน และเปิดใช้งานบัญชีนี้มานานหรือยัง รวมถึงมีเพื่อนที่เรารู้จักพอจะเช็กข้อมูลได้ไหม เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าคนที่เรากำลังจะเริ่มต้นคุยด้วยนั้นมีตัวตนอยู่จริงๆ นั่นเอง หรือเราอาจจะนำชื่อคนเหล่านั้นไปค้นหาในระบบการค้นหาอื่นๆ เช่น Facebook หรือใน Google ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่
2. ระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ไม่บอกข้อมูลทั้งหมดกับคนที่เพิ่งรู้จัก เมื่อใช้บริการหาคู่ออนไลน์ต่างๆ เช่น นามสกุล สถานที่ทำงาน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เพราะถึงแม้ระบบเหล่านี้จะมีวิธีป้องกันมากเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดจะไม่หลุดออกไปยังกลุ่มมิจฉาชีพ เพื่อความสบายใจ กันไว้ดีกว่าแก้ดีกว่า
3. เริ่มต้นให้ช้า และไม่เร่งรีบ แม้อีกฝ่ายจะพยายามอยากเจอเรามากเพียงใดก็ตาม แต่อยากจะให้เริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการที่เราจะศึกษาใครต้องใช้เวลาเพื่อรู้จิตใจของอีกฝ่าย ผ่านการพูดคุย ศึกษาแนวคิด อาชีพ งานอดิเรก กีฬาที่ชอบ เพราะข้อมูลเหล่านี้จะช่วยยืนยันตัวตนของอีกฝ่ายได้อีกด้วย ว่าเขาจริงใจในการให้ข้อมูลมากน้อยเพียงใด การให้เบอร์โทรศัพท์ หรือการนัดพบอยากจะให้ทำก็ต่อเมื่อเราคิดว่าเราสามารถวางใจในตัวเขาได้แล้วจริงๆ เท่านั้น และควรจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย หรืออาจชวนเพื่อนที่เราไว้ใจไปด้วย
4. สังเกตอารมณ์โกรธ หรือพฤติกรรมที่เราเห็นว่าไม่สมควรทุกครั้ง เช่น พยายามขอเบอร์โทรศัพท์ของเราให้ได้ แม้เราจะยังไม่อยากให้ก็ตาม โดยแสดงความไม่พอใจออกมาทางคำพูด เพราะกริยาเหล่านี้คือเรื่องที่สำคัญว่าเราควรจะคุยกับคนๆ นี้ต่อไปหรือไม่นั่นเอง
5. ไม่ใจอ่อน หรืออยากได้ในสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา เพราะมิจฉาชีพส่วนใหญ่มักจะสร้างโปรไฟล์ว่าเป็นคนที่ร่ำรวย เป็นคนมีอิทธิพล หรือหน้าตาดี เมื่อเหยื่อหลงกลก็จะสร้างสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อมาหลอกเงินเรา เช่น กำลังป่วย หรือกำลังจะส่งเงินมาให้กับเรา แต่ติดปัญหาบางอย่าง ซึ่งเราจำเป็นต้องจ่ายเงินบางส่วนเพื่อนำเงินนั้นออกมา หรือหากมิจฉาชีพเป็นหญิงสาวบางกรณีที่เกิดขึ้นคือ บอกเหยื่อว่าลืมบัตรเครดิตมาจึงขอยืมเงินเหยื่อแล้วจะคืนให้ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่สูงนัก แต่ทำเรื่อยๆ กว่าเหยื่อจะรู้ตัวอีกทีก็ได้เงินไปจำนวนมากแล้ว หรือบางรายมีการส่งภาพเชิงชู้สาวออกไปให้กลุ่มมิจฉาชีพ โดยเหยื่อไม่รู้เลยว่าภาพเหล่านี้จะถูกกลุ่มมิจฉาชีพนำมาแบล็คเมล์ในภายหลัง โดยข่มขู่ว่าจะนำภาพเหล่านี้ออกสู่สาธารณะเพื่อเรียกเงินนั่นเอง
หากเกิดเหตุเหล่านี้ ควรเก็บหลักฐานทุกอย่างที่มี แล้วนำไปแจ้งความกับทางตำรวจเพื่อให้ดำเนินการต่อไป เช่น หลักฐานการคุยกันผ่านทางแอปฯ ต่างๆ หลักฐานการโอนเงิน เพื่อให้ตำรวจนำหลักฐานเหล่านี้ไปสืบหากลุ่มมิจฉาชีพต่อไปนั่นเอง
สร้างภูมิคุ้มกันจากภายใน
ด้วยหลักคำสอนทางพุทธศาสนา “กุศลมูล 3” ที่เป็นรากเหง้าของความดี ความงาม ความฉลาด เอาไว้เป็นเกราะป้องกันให้กับทุกๆ คน ซึ่ง กุศลมูล 3 ประกอบด้วยราก 3 ประการคือ
1.อโลภะ คือ ความไม่โลภ หรือไม่อยากได้ เราควรจะต้องเป็นผู้ที่มีสติ ไม่ปล่อยให้ความอยากได้ในสิ่งที่ไม่ใช่ของตนนั้นรุนแรงจนครอบงำจิตใจ และพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มา พยายามอดกลั้น และพึงพอใจกับสิ่งที่ตนเองมี
2.อโทสะ คือ การไม่คิดประทุษร้าย ไม่โกรธ หรือพยาบาท เราควรจะเป็นผู้ที่มีสติ รู้สึกตัวอยู่เสมอ และใช้ปัญญาในการประกอบการตัดสินใจต่างๆ ในทุกๆ เรื่อง และไม่คิดประทุษร้ายแก่ผู้อื่น
3.อโมหะ คือ ความไม่หลง เราควรจะเป็นผู้ที่รู้จักเหตุและผล ไม่ประมาทที่อาจจะก่อให้เกิดกิเลสทั้งปวง พิจารณาไตร่ตรองโดยยึดหลักเหตุผล เมื่อมีอโมหะแล้วก็จะช่วยลดในเรื่อง โลภะ โทสะ และโมหะ นั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็อย่าเพิ่งกลัวกันไปก่อนนะครับ เพราะความรักเกิดขึ้นได้เสมอ แม้จะเป็นความรักที่เกิดจากโลกของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยก็ตาม แค่เพียงเรามีสติ มีวิธีป้องกัน และรู้เท่าทันกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ก็จะช่วยลดปัญหาลงไปได้มากแล้วครับ สุดท้ายนี้อยากให้ทุกคนเจอความรักที่สมหวังกันทุกคนเลยนะครับ