ออมและลงทุน
มนุษย์เงินเดือนมืออาชีพ
มนุษย์เงินเดือนในปัจจุบัน มีปัญหาเข้ามาให้ทดสอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาทดแทนแรงงานคน หรือภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน การแข่งขันทางธุรกิจที่เปิดกว้างมากขึ้น หรือแรงงานรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเป็นคู่แข่ง ทำให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ เกิดความเครียด และความเครียดนี่เองที่อาจส่งผลร้ายกับเราได้โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยความเครียดจะส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมน คอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด ที่มีบทบาทช่วยให้เราแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่หากมีมากเกินไป และสะสมกันเป็นระยะเวลานาน จะมีความเสี่ยงทำให้เราเกิดโรคร้ายตามมาได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ
เพื่อให้เราใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนอย่างมีความสุข วันนี้ K-Expert จึงอยากจะมาชวนพวกเราให้เปลี่ยนจากมนุษย์เงินเดือนธรรมดา เป็น “มนุษย์เงินเดือนมืออาชีพ” ด้วยการบริหาร 3 สิ่งด้วยกัน
1. การบริหารเงิน
ข้อดีของมนุษย์เงินเดือนคือ การมีรายได้ที่แน่นอนในแต่ละเดือน ซึ่งถ้าอยากได้เพิ่มมากขึ้น อันนี้คงต้องอาศัยความสามารถของแต่ละคน แต่สิ่งที่เราสามารถบริหารได้คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั่นเอง ซึ่งเราควรจะแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วนจาก 100% ที่เราได้รับจากเงินเดือนในแต่ละเดือน โดยแบ่งดังนี้
1.1 เงินออม 20% จากเงินที่ได้รับ
ซึ่งควรจะหักเงินในส่วนนี้ออกก่อนเป็นอันดับแรก โดยในส่วนนี้อาจแบ่งได้อีกเป็นเงินออมในส่วนไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน และเงินออมสำหรับเป้าหมายต่างๆ ของแต่ละคน ซึ่งเงินในส่วนนี้เราควรจัดสรรการลงทุนที่เหมาะกับความเสี่ยง และวัตถุประสงค์ของเรา เช่น เป้าหมายระยะยาวๆ อย่างการเกษียณอายุ ขอแนะนำให้ลงทุนในกองทุน RMF ที่มีให้เราเลือกลงทุนได้หลากหหลายทั้งในเรื่องของนโยบาย และความเสี่ยง อีกทั้งยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน ที่สำคัญเรายังได้รับสิทธิในเรื่องของการลดหย่อนภาษีอีกด้วย แต่หากสนใจลงทุน อย่าลืมศึกษาเงื่อนไขต่างๆ ของกองทุน RMF กันด้วยเพื่อที่เราจะได้ลงทุนได้อย่างถูกต้อง
1.2 เงินสำหรับชำระหนี้ต่างๆ 40% จากเงินที่ได้รับ
เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่หากไม่จ่ายอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเราได้ หนี้ในส่วนนี้เราไม่ควรก่อภาระผ่อนเกิน 40% ของรายได้นั่นเอง
1.3 เงินสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน 40% จากเงินที่ได้รับ
เพื่อใช้จ่ายทั่วไป หรือให้รางวัลตัวเองซึ่งเงินในส่วนนี้เราสามารถประหยัดเพิ่มขึ้นได้เพื่อนำไปเพิ่มในส่วนการออมของเราให้มากขึ้น
2. การบริหารงาน
ขึ้นชื่อว่างาน เชื่อว่าคงมีไม่น้อยที่กำลังไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ หรือกำลังหมดไฟ เหตุการณ์เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้กระทั้งงานที่รักก็ตาม สิ่งที่เราควรต้องจัดการคือ
2.1 เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองกับงานที่ได้รับ
เราควรวิเคราะห์ว่างานที่ได้รับอยู่นั้นช่วยพัฒนาเราในด้านใดบ้าง และตรงกับสิ่งที่เราต้องการอยู่หรือไม่ ช่วยให้เราพัฒนาตนเองขึ้นไปได้อีกอย่างไร ซึ่งแม้จะเป็นงานที่ยาก แต่หากช่วยให้เราพัฒนาตนเองได้ เราควรที่จะอดทนเพราะขึ้นชื่อว่างาน ไม่มีอะไรที่จะมาแบบสบายๆ ยิ่งการแข่งขันในปัจจุบันที่สูง เราก็ต้องยิ่งพัฒนาตนเองในหลายๆ ด้านมากขึ้น
2.2 การจัดสรรเวลาในการทำงาน
เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเพราะหากเราจัดสรรได้ไม่ดี นอกจากกระทบกับงานของตนเองแล้ว ยังทำให้เกิดความเครียด หมดไฟ และอาจส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพของเราได้ โดยคนส่วนใหญ่นิยมใช้ Eisenhower Matrix มาจัดสรรเวลาในการทำงานซึ่งจะแบ่งงานเป็น 4 ประเภทคือ
- งานเร่งด่วน และสำคัญ ซึ่งเราควรต้องรับมือกับงานประเภทนี้อย่างทันที
- งานไม่เร่งด่วน แต่สำคัญ เราควรที่จะจัดสรรเวลาให้เหมาะกับความยากของงานต่างๆ
- งานไม่สำคัญ แต่เร่งด่วน เป็นสิ่งที่เราควรหาคนช่วยทำ หรือกระจายงานนั้นออกไปให้กับคนอื่นๆ เพื่อที่เราจะได้มีเวลาทำงานในส่วนของ งานเร่งด่วน และสำคัญมากขึ้น
- งานไม่สำคัญ และไม่เร่งด่วน เป็นงานที่เราควรจะหลีกเลี่ยง เพราะชีวิตเรามีอะไรให้ทำอีกเยอะแยะ ไม่ควรมาเสียเวลากับงานประเภทนี้นั่นเอง
ซึ่งหากเราจัดสรรงานทั้งหมดแล้วก็ยังทำให้เราเครียด ตื่นก็คิดเรื่องงาน นอนก็ผวาเรื่องงาน ทำงานไม่เสร็จ อันนี้คงต้องหันหน้าเข้ามาคุยกับหัวหน้าอีกครั้งเพื่อให้ช่วยประเมินงานทั้งหมดของเรา
3. การบริหารคน
เรื่องนี้คงทำให้หลายๆ คนปวดหัวไม่น้อยเพราะคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่รับมือยาก และมีความหลากหลาย ยิ่งบริษัทไหนที่มีการแบ่งเป็นก๊ก ยิ่งจะทำให้เราทำงานได้ยากยิ่งขึ้น เพื่อให้การทำงานของเราราบรื่น การสร้างมนุษยสัมพันธ์ในที่ทำงานจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหากอ้างอิงจาก หลักสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์จะมี 7 สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญด้วยกันคือ (Reece&Brandit,1997)
3.1 การสื่อสาร (Communication)
สิ่งสำคัญคือ การทำความเข้าใจกับบุคลิก ลักษณะนิสัยของตนเอง และของเพื่อนร่วมงาน เพราะต่างคนก็ต่างที่มา ต่างความคิด แม้จะคุยในเรื่องเดียวกันก็ตาม ดังคำพูดที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” เพราะฉะนั้นเราควรที่จะทำความเข้าใจบุคลิกของแต่ละคนก่อนจะสื่อสารออกไปนั่นเอง
3.2 การรู้เท่าทันตนเอง (Self-Awareness)
คือการเข้าใจอารมณ์ของตนเอง ต่อการแสดงออกในเรื่องต่างๆ จะช่วยให้เราสามารถเตรียมรับมือกับงาน หรือเพื่อนร่วมงานที่เราจะเจอได้เป็นอย่างดี เราจึงควรประเมินตนเองอย่างสม่ำเสมอ และพยายามควมคุมตนเองให้มีสติอยู่ตลอดเวลา
3.3 การยอมรับตนเอง (Self-Acceptance)
ถือเป็นพื้นฐานที่สร้างความสำเร็จในการติดต่อกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี เพราะเราต้องยอมรับทั้งข้อดี และข้อเสียของตนเอง และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ยอมรับความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน การยอมรับว่ามีบางอย่างที่เราไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยตนเอง และความรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย
3.4 การจูงใจ (Motivation)
พยายามหาแรงจูงใจจากสิ่งที่เราทำ เช่น เมื่อทำแบบนี้เราน่าจะได้รับการตอบสนองในเรื่องใด คล้ายกับการตั้งรางวัลให้กับตนเองนั่นเองเพื่อกระตุ้นให้เรามีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งต่างๆ
3.5 ความไว้ใจ (Trust)
การไว้ใจซึ่งกันและกัน จะช่วยทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะเราจะไม่ปิดบังข้อมูล ไว้ใจในงานของแต่ละคนที่ได้รับ และจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้ในระยะยาว
3.6 การเปิดเผยตนเอง (Self-Disclosure)
เมื่อมีความไว้ใจและเข้าใจต่อเพื่อนที่เราทำงานด้วย จะทำให้เราสามารถเปิดใจต่อกันมากยิ่งขึ้น การเปิดเผยตนเองจะยิ่งสร้างความเข้าใจ และเชื่อใจให้กับเพื่อนๆ ในที่ทำงานของเราได้เป็นอย่างดี
3.7 การจัดการความขัดแย้ง (Conflict Management)
เมื่อมีความขัดแย้ง หรือการเข้าใจผิด ควรรีบแก้ไข และพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจในปัญหาดังกล่าว เพื่อลดโอกาสที่จะก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจกัน อย่าวางใจโดยปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปเพราะอาจทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ในระยะยาวได้นั่นเอง
แม้การทำงานจะไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับทุกคน แต่การไม่มีงานทำน่าจะยิ่งทุกข์มากกว่าใช่ไหมครับ การบริหารตนเองกับการทำงานจึงเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งเราบริหารได้ดีเท่าไหร่ก็จะยิ่งส่งผลดีกับเราในอนาคตอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสุข ความก้าวหน้า หรือแม้กระทั้งในเรื่องสุขภาพก็ตาม อย่าลืมนำเทคนิคเหล่านี้ไปบริหารงานของตนเองเพื่อให้เราเป็นมนุษย์เงินเดือนมืออาชีพกันนะครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง:
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
| กองทุนรวม
|