30 ก.ย. 59

8 ตัวช่วยลดหย่อนภาษี (ตอนที่ 2)

คะแนนเฉลี่ย

ภาษี

​​​8 ตัวช่วยลดหย่อนภาษี (ตอนที่ 2)


“การลงทุนในกองทุนรวม LTF/RMF อย่างถูกวิธี
จะช่วยให้ได้ประโยชน์ทั้งการเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทน
และลดหย่อนภาษี” 
- K-Expert -

          จากบทความ 8 ตัวช่วยลดหย่อนภาษี (ตอนที่ 1) เราได้ทำความรู้จักกับตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แต่ถ้าอยากลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม การใช้สิทธิผ่านตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่ต้องลงทุนเพิ่มเป็นตัวช่วยที่น่าสนใจค่ะ

          1. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพคุณพ่อคุณแม่ ในกรณีที่เราซื้อประกันสุขภาพให้กับคุณพ่อคุณแม่ตนเอง หรือคุณพ่อคุณแม่ของคู่สมรส ค่าเบี้ยประกันดังกล่าวสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ ประกันสุขภาพดังกล่าวจะต้องมีชื่อคุณพ่อหรือคุณแม่หรือคุณพ่อคุณแม่คู่สมรสเป็นผู้เอาประกัน โดยที่ท่านจะต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท นอกจากนี้จะต้องมีชื่อเราเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกัน จึงจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ค่ะ

          2. ค่าเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ สามารถใช้ได้เฉพาะเบี้ยประกันชีวิตเท่านั้น ไม่สามารถนำสัญญาเพิ่มเติมมาลดหย่อนได้ นอกจากนี้ หากมีค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มเติมได้อีก 15% ของเงินได้ทั้งปี ไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาทค่ะ

          3. ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมซื้อบ้าน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ การใช้สิทธิดอกเบี้ยจะต้องดูเงื่อนไขการกู้ยืม เช่น กรณีกู้ซื้อบ้าน 1 หลังเพียงลำพัง เสียดอกเบี้ยทั้งปี 40,000 บาท ก็สามารถนำดอกเบี้ยจำนวน 40,000 บาท มาใช้สิทธิได้เต็มจำนวน หากกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 โดยกู้ร่วมกับคู่สมรส โดยเสียดอกเบี้ยของบ้านหลังที่ 2 ทั้งหมด 60,000 บาท ดังนั้น สามารถใช้สิทธิดอกเบี้ยบ้านหลังที่ 2 ได้ 30,000 บาท เมื่อรวมกับบ้านหลังที่ 1 แล้ว จะสามารถใช้สิทธิได้ 70,000 บาท (บ้านหลังที่ 2 ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เต็มจำนวนเพราะเป็นการกู้ร่วม ดังนั้นสิทธิในการลดหย่อนภาษีต้องแบ่งครึ่ง)

          4. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลงทุนได้ตั้งแต่ 3% ของเงินได้ทั้งปี หรือ 5,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดต่ำกว่า สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี (เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท) ซึ่งในแต่ละปีอาจจะลงทุนไม่เท่ากันก็ได้ เพราะเงินลงทุนก้อนแรกต้องมีการลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับแบบวันชนวัน) และผู้ลงทุนจะต้องมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ จึงจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้อย่างไม่ผิดเงื่อนไข

          ​5. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี  และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อลงทุนแล้วจะต้องถือครองนาน 7 ปีปฏิทิน หรือ 5 ปีเศษนั่นเอง การลงทุนในกองทุนประเภทนี้จะต้องรับความเสี่ยงได้พอควรเพราะมีความผันผวนจากหุ้น
          
          เมื่อเราลงทุนในตัวช่วยลดหย่อนภาษีแบบที่ต้องลงทุนเพิ่มแล้ว อย่าลืมศึกษาเงื่อนไขการลงทุนอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไข อันอาจส่งผลให้ต้องคืนภาษีที่ได้รับลดหย่อนและเสียค่าปรับเพิ่มเติมอีกด้วยค่ะ

 K-Expert Action : 
- ค่าเบี้ยประกันชีวิต ที่มีความคุ้มครองชีวิต 10 ปีขึ้นไป สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- เมื่อตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม RMF ควรลงทุนต่อเนื่องทุกปีจนเกษียณอายุ (ลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี อายุครบ 55 ปี บริบูรณ์)​




ให้คะแนนบทความ

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า

ธนาคารกสิกรไทย