23 มี.ค. 60

ลดหย่อนภาษีได้มากยิ่งขึ้นจากการมีลูก

คะแนนเฉลี่ย

ภาษี

​​​​​ลดหย่อนภาษีได้มากยิ่งขึ้นจากการมีลูก


“คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้สิทธิค่าลดหย่อนลูกได้คนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนลูก”
- K-Expert -

          สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเพื่อเติมเต็มชีวิตครอบครัว รู้หรือไม่ว่า สามารถนำลูกมาลดหย่อนภาษี ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เสียภาษีน้อยลงนะคะ ซึ่งรายละเอียดของการใช้สิทธิลดหย่อนลูกเป็นอย่างไร มาติดตามไปพร้อมกันกับ K-Expert เลยค่ะ

          ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนลูกได้คนละ 30,000 บาท โดยจะใช้สิทธิกี่คนก็ได้ ไม่จำกัดจำนวน จากเดิมที่ใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท จำนวนสูงสุดไม่เกิน 3 คน ในขณะที่ยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาลูกคนละ 2,000 บาท แต่ก็จะเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่ได้สิทธิค่าลดหย่อนลูกที่เพิ่มขึ้นมาค่ะ ซึ่งการใช้สิทธิลดหย่อนลูกได้นั้น มีเงื่อนไขดังนี้ค่ะ

1. เงื่อนไขด้านสายสัมพันธ์
          คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในความดูแล สามารถใช้สิทธิลดหย่อนลูกได้เสมอ แต่ต้องเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย นั่นคือ
          - กรณีคุณแม่: ลูกถือเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายของคุณแม่เสมอ ไม่ว่าคุณพ่อและคุณแม่จะมีการจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ก็ตาม
          - กรณีคุณพ่อ: ลูกถือเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายของคุณพ่อ ก็ต่อเมื่อคุณพ่อและคุณแม่มีการจดทะเบียนสมรสกัน หรือคุณพ่อจดทะเบียนรับรองลูก หรือมีคำสั่งศาลค่ะ

          แล้วถ้าเป็นบุตรบุญธรรม จะนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วยหรือไม่ คำตอบคือ ใช้สิทธิลดหย่อนได้ แต่ต้องมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมก่อนค่ะ โดยถ้ามีแต่บุตรบุญธรรมเพียงอย่างเดียว จะใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 3 คนเท่านั้น จะต่างจากการใช้สิทธิลดหย่อนลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่จำกัดจำนวน อย่างไรก็ตาม การลดหย่อนบุตรบุญธรรมนั้น ถ้าพ่อแม่ตัวจริงใช้สิทธิ พ่อแม่บุญธรรมจะใช้สิทธิไม่ได้นะคะ


          กรณีมีทั้งลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย และบุตรบุญธรรม การใช้สิทธิลดหย่อนจะนับจำนวนลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย 3 คนแรกที่ยังมีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุสูงสุดของลูก โดยนับรวมลูกที่ไม่อยู่เกณฑ์ได้รับลดหย่อนภาษีด้วย ถ้าครบ 3 คนแล้ว จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรบุญธรรมได้อีก แต่ถ้ายังไม่ครบ 3 คน สามารถนำบุตรบุญธรรมมาลดหย่อนได้ โดยเมื่อนับรวมกับลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ต้องไม่เกินจำนวน 3 คนค่ะ 

          การใช้สิทธิลดหย่อนลูก สามารถใช้สิทธิในปีภาษีนั้นได้เลย แม้ว่าลูกจะเกิดระหว่างปีภาษีก็ตาม เช่น ลูกเกิดวันที่ 31 ธันวาคม ก็สามารถนำลูกมาลดหย่อนภาษีได้เลยค่ะ โดยคุณพ่อและคุณแม่ต่างฝ่ายต่างสามารถใช้สิทธิลดหย่อนลูกคนเดียวกันได้ คือ ฝ่ายละ 30,000 บาท แต่หากคุณพ่อคุณแม่ได้หย่าขาดจากกัน ต้องดูว่าลูกอยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูของฝ่ายใด ฝ่ายนั้นจึงมีสิทธินำลูกมาลดหย่อนภาษีค่ะ

2. เงื่อนไขด้านอายุ
          อายุของลูกที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาลดหย่อนได้ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ค่ะ
          - อายุไม่เกิน 20 ปี คือ เป็นผู้เยาว์ หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ
          - อายุ 20-25 ปี หรือบรรลุนิติภาวะแล้ว โดยยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษา ในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้
          - อายุเท่าไรก็ได้ ไม่จำกัด หากศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู

3. เงื่อนไขด้านรายได้
          ลูกที่คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้จะต้องไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ทั้งปีไม่ถึง 30,000 บาท ถ้ามีรายได้ 30,000 บาทพอดี ก็ไม่เข้าเงื่อนไขที่คุณพ่อคุณแม่จะใช้สิทธิได้นะคะ 
          ทั้งนี้ รายได้ดังกล่าวไม่รวมรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ เช่น เงินที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินรางวัลเพื่อการศึกษา รางวัลที่ทางราชการจ่ายให้ในการประกวดหรือแข่งขันค่ะ


4. เงื่อนไขด้านถิ่นที่อยู่
          หากคุณพ่อหรือคุณแม่ไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย จะใช้สิทธิลดหย่อนลูกได้เฉพาะลูกที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ยกเว้น คุณพ่อหรือคุณแม่เป็นข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ประจำสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนลูกได้ ไม่ว่าลูกจะอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตามค่ะ 
          การเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่นั้น ให้ดูว่า ในปีภาษีนั้นอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน ถ้าไม่ถึง 180 วัน จะถือว่าไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยค่ะ


          นอกจากนี้ หากลูกกลายเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ แล้วได้รับบัตรประจำตัวคนพิการ โดยมีชื่อคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นผู้ดูแล หรือมีใบรับรองแพทย์หรือหนังสือรับรองการเป็นผู้เลี้ยงดูคนพิการ คุณพ่อหรือคุณแม่ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพได้อีกคนละ 60,000 บาทค่ะ


          ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูก เมื่อถึงเวลาต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ประจำปี สามารถนำค่าลดหย่อนลูกมาลดหย่อนภาษีได้ แต่อย่าลืมตรวจสอบเกณฑ์เงื่อนไขของลูกที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้นะคะ


ให้คะแนนบทความ

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า

ธนาคารกสิกรไทย