คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยเป็นโซ่ทองคล้องใจอยู่แล้ว และรู้ตัวว่ากำลังจะมีน้องเพิ่มในปีนี้ หรือวางแผนมีลูกคนที่ 2, 3, 4 เพิ่มตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จะประหยัดภาษีได้มากยิ่งขึ้น เพราะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนลูกได้ 60,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวน และที่สำคัญ ยังสามารถนำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย รายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร และระหว่างการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับสิทธิประกันสังคม แบบไหนจะคุ้มกว่ากัน K-Expert มีข้อมูลมาฝากค่ะ
ค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรสามารถลดหย่อนภาษีได้
สำหรับคุณพ่อหรือคุณแม่ที่ไม่ได้เบิกค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และคลอดบุตรจากแหล่งอื่น เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ สามารถนำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป มาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทค่ะ หากใครจ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรเกิน 1 ปีภาษี หมายความว่า ตั้งครรภ์ปีนี้แล้วมีกำหนดคลอดในปีหน้า ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่เมื่อรวม 2 ปีภาษีเข้าด้วยกันแล้วจะต้องไม่เกิน 60,000 บาทต่อการตั้งครรภ์แต่ละครั้งค่ะ
การใช้สิทธิลดหย่อนค่าคลอดบุตร VS สิทธิประกันสังคม
คุณพ่อหรือคุณแม่ที่สามารถใช้สิทธินำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรมาลดหย่อนภาษีได้นั้นต้องเข้าใจว่า กว่าจะได้รับเงินคืนภาษีต้องรอจนถึงปี 2562 ส่วนใครจะได้รับคืนมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับฐานภาษีของเราค่ะ เช่น หากฐานภาษีอยู่ที่ 30% เมื่อนำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรมาลดหย่อนภาษีสูงสุด 60,000 บาท เท่ากับว่าจะประหยัดภาษีได้ 18,000 บาท ดังนั้น อย่าลืมเก็บใบเสร็จรับเงินค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตร เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีด้วยนะคะ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ในระบบประกันสังคมอยู่แล้วจะไม่สามารถนำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรมาลดหย่อนภาษีได้ แต่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมในจำนวนที่มากกว่า ทั้งกรณีคลอดบุตรและสงเคราะห์บุตรดังนี้ค่ะ
ผู้ประกันตนมาตรา 33
ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไปที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 13,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง สำหรับผู้ประกันตนหญิงยังได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตรเหมาจ่ายร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วันอีกด้วย ซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยจะคิดจากฐานค่าจ้างที่นำส่งประกันสังคม โดยคิดจากฐานสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท ดังนั้น หากเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไปจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตรรวม 22,500 บาท (7,500 x 3) เมื่อรวมค่าคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตรแล้ว ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับเงินทั้งหมด 35,500 บาท (13,000 + 22,500) ค่ะ
ผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39
ผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39 คือ คนที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อน และสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจหลังลาออกจากงานภายใน 6 เดือน ซึ่งสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 13,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง โดยผู้ประกันตนหญิงยังได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตรเหมาจ่ายร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน ซึ่งคิดจากฐานสูงสุดไม่เกินเดือนละ 4,800 บาท ดังนั้น จะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตรรวม 7,200 บาท (2,400 x 3) เมื่อรวมค่าคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตรแล้ว ผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39 จะได้รับเงินทั้งหมด 20,200 บาท (13,000 + 7,200) ค่ะ
ทั้งนี้ สำหรับการใช้สิทธิลูกคนที่ 3 ทั้งผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จะไม่ได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตรนะคะ
สำหรับสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร ทั้งผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาทต่อบุตรหนึ่งคน โดยจะจ่ายให้ลูกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี ครั้งละไม่เกิน 3 คนค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ในระบบประกันสังคมสามารถรับสิทธิเหล่านี้ได้เพียงแค่เตรียมเอกสารหลักฐานให้พร้อม แล้วไปยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ภายในเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่คลอดบุตรค่ะ
เมื่อเปรียบเทียบสิทธิลดหย่อนค่าคลอดบุตรกับสิทธิประกันสังคมแล้ว จะเห็นว่า สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนประกันสังคมจะคุ้มค่ากว่า เพราะได้รับเงินแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยในจำนวนที่มากกว่า และได้รับเงินเร็วกว่าสิทธิลดหย่อนค่าคลอดบุตรนั่นเองค่ะ
เมื่อเปรียบเทียบสิทธิลดหย่อนค่าคลอดบุตรกับสิทธิประกันสังคมแล้ว จะเห็นว่า สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนประกันสังคมจะคุ้มค่ากว่า เพราะได้รับเงินแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยในจำนวนที่มากกว่า และได้รับเงินเร็วกว่าสิทธิลดหย่อนค่าคลอดบุตรนั่นเองค่ะ