Sign In

KBank Private Banking
02-8888811

Invesment Themes

เปิดธุรกิจยั่งยืนเกาะกระแสเทรนด์ "รักษ์โลก"

29 มกราคม 2566

​​​ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญมาตรการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก-ลดโลกร้อน มุ่งสู่งานด้าน ESG เต็มรูปแบบ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจแล้วลงทุนหุ้นกลุ่มไหนให้เกิดความยั่งยืน

การลงทุนเพื่อความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2016  ที่สมาชิก UN กว่า 160 ประเทศทั่วโลกร่วมลงนามในข้อตกลง Paris Agreement เพื่อมุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น และได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงคุณภาพของชีวิตมนุษย์ จึงไม่แปลกที่ไม่ว่าทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต่างหันมาให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้าน ESG มากขึ้น โดยทางภาคธุรกิจเองจำเป็นที่จะต้องรีบหาวิธีเพื่อที่จะสร้างโอกาส และลดความเสี่ยงต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงความอยู่รอดขององค์กร ในขณะที่ภาครัฐเองก็มีการร่างกฎหมายรวมถึงกำหนดมาตรการต่างๆ มากขึ้น โดยทั่วโลกได้มีการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น

  • มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM)

มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM เป็นมาตราการเพื่อเร่งให้ประเทศคู่ค้าของ EU ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยเน้นสร้างความเท่าเทียมในเรื่องของต้นทุนราคาคาร์บอนระหว่างสินค้าภายใน EU ที่มีการบังคับใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก กับสินค้าที่ผลิตภายนอก EU ผ่านการปรับราคาคาร์บอน โดยอียูเตรียมปรับใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) นี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป 

  • สหรัฐฯเตรียมออกกฎหมาย Clean Competition Act

กฎหมายดังกล่าวประกอบไปด้วยมาตรการกำหนดกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) สำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศ และมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: US-CBAM) สำหรับสินค้านำเข้า ซึ่งสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ การผลิตและกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก เป็นต้น ทั้งนี้ในช่วงแรก (ปี 2024-2025) คาดว่าผู้ส่งออกของไทยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม แต่จะต้องมีการทำรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมในปีถัดไป อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายนี้ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยวุฒิสภาสหรัฐฯ

  • ร่างกฎหมายว่าด้วยสินค้าปลอดการทำลายป่าไม้ของสหภาพยุโรป

ร่างกฎหมายฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการห้ามจำหน่ายสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการตัดไม้ทำลายป่าในตลาดสหภาพยุโรป โดยครอบคลุมสินค้าควบคุมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตัดไม้ทำลายป่า 7 ประเภท ได้แก่ เนื้อวัวและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์กระดาษตีพิมพ์ ปาล์มน้ำมันและอนุพันธ์ของน้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ผลิตจากสินค้าประเภทข้างต้น โดยคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2023 และกำหนดให้มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 1-2 ปี ภายหลังวันที่มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้คาดว่าผู้ประกอบการจะต้องแสดงข้อมูลที่ตรวจสอบได้ว่าสินค้านำเข้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่านับตั้งแต่ปี 2022 และหากไม่ปฏิบัติตามจะมีค่าปรับ

  • แนวโน้มการเปิดเผยข้อมูลดำเนินการด้าน ESG

ปัจจุบันหน่วยงานกำกับทั่วโลกได้เพิ่มความเข้มงวดด้านการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการด้านความยั่งยืนสู่สาธารณชนมากขึ้นโดยการเปิดเผยข้อมูลด้านยั่งยืนนั้นควรมีความเชื่อมโยงกับกลยุทธ์และทิศทางการบริหารธุรกิจ เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้ข้อมูลหรือผู้ลงทุนในการพิจารณาตัดสินใจมีส่วนร่วมกับธุรกิจ

การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG นั้นจะช่วยสะท้อนถึงบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียและผลการดำเนินงานในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ

สำหรับประเทศไทยนอกเหนือจากการรายงานข้อมูลดังกล่าวแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีข้อกำหนดด้านการทำบัญชีที่เกี่ยวข้องสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาร่างมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล

จะเห็นได้ว่า มาตรการต่างๆ ข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงกระแสที่ว่าทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับประเด็นการดำเนินการด้าน ESG มากขึ้น อันจะสื่อได้ว่าอนาคตข้างหน้าโลกจะให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่ใช้ทรัพยากรอย่างไร้ความรับผิดชอบอาจต้องเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น  ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงมุมมองที่พวกเราในฐานะมนุษย์ร่วมโลกเดียวกันต้องตระหนักว่าการรักษ์โลกนั้นเป็น “ทางรอด" ไม่ใช่แค่"ทางเลือก" อีกต่อไป

นักลงทุนจึงควรเน้นลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพการเติบโตในกลุ่ม Clean Energy ที่มีส่วนช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ หรือ Climate Change รวมถึงหุ้นในกลุ่มธุรกิจที่มีการปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Carbon-damaged World) ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันและสามารถสร้างความเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

ที่มา: ​Nation Online​​

แนะนำหน้าที่เกี่ยวข้อง

Investment Advisory

แนะนำหน้าที่เกี่ยวข้อง

Sustainability