เมื่อนักลงทุนหันมาให้ความสนใจธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไหลเวียนเข้าสู่กองทุนที่เน้นความยั่งยืนมากขึ้น แม้ว่าในระยะสั้นยังไม่ชัดเจนในการมอบผลตอบแทนให้กับนักลงทุน แต่ในระยะยาวการลงทุนในธุรกิจที่ยั่งยืนจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อโลกในอนาคตอีกด้วย
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้เกิดเทรนด์ด้านการลงทุนแห่งความยั่งยืน (Sustainable Investing) เริ่มต้นจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน ทั้งภาวะโลกร้อน วิกฤตทางธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพอย่างการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตลอดจนพืชผลทางเกษตรที่เจอภัยธรรมชาติและศัตรูพืช ทำให้มีผลผลิตน้อย ภาครัฐและเอกชนจึงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนี้
- พฤติกรรมการลงทุนและการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป : จากการเรียกร้องของกลุ่มคนสู่ความตระหนักรู้ของคนส่วนใหญ่ นักลงทุนบางส่วนเห็นด้วยกับการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากได้รับผลกระทบหรือเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกทำร้ายจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคที่เน้นการกลับนำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ หรือการไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ทดลองกับสัตว์ เป็นต้น
- ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม : แน่นอนว่าหากประชาชนหรือภูมิประเทศได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน แรงขับเคลื่อนหนึ่งที่มีผลอย่างเด่นชัดนั่นก็คือการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐ การเข้าลงนามต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐ นำมาสู่การออกกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมภายในประเทศเพื่อทำตามข้อสัญญาที่ได้ลงนามไว้ โดยปีที่ผ่านมาผู้นำหลายประเทศต่างให้คำมั่นว่าจะดำเนินการลดคาร์บอนเพื่อขึ้นเป็นประเทศผู้นำด้านพลังงานสะอาดในปี 2030 เช่น จีน ยุโรป และสหรัฐฯ เป็นต้น
- ภาคเอกชนหันมาทำธุรกิจโดยใช้ทรัพยากรที่ไม่มีวันหมดไป: ตัวอย่างเช่น บริษัทในประเทศเดนมาร์ก ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการใช้พลังงานสะอาดโดยใช้พลังงานลมเป็นหลัก จากก่อนหน้านี้ที่เน้นการผลิตพลังงานจากฟอสซิลหรือน้ำมันดิบ หรือบริษัทที่หันมาผลิตรถยนต์ EV โดยใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนแทนน้ำมัน
นอกจากนี้การปรับนโยบายเงินลงทุนขององค์กรเอกชนใหญ่ๆ ก็ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน เช่น กองทุนมหาวิทยาลัย Harvard หยุดการลงทุนในบริษัทที่ใช้พลังงานฟอลซิลเนื่องจากกระทบกับสิ่งแวดล้อม นาง Cathie Wood ผู้ก่อตั้งบริษัท ARK Invest ประกาศทำกองทุน ETF กองใหม่สู่การลงทุนในธุรกิจ ESG หรือ บริษัท Saudi Aramco
บริษัทส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกซึ่งมีผู้ถือหุ้นหลักคือประเทศซาอุดิอาระเบียเปลี่ยนมาลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ตอบรับนโยบายภาครัฐที่มีเป้าหมายใช้พลังงานสะอาดให้ได้ภายในปี 2030 เป็นต้นจะเห็นได้ว่าเมื่อภาครัฐและเอกชนรวมถึงผู้บริโภคร่วมมือกันการผลักดันที่ยิ่งใหญ่จึงเกิดขึ้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่จะไม่เพิ่มอุณภูมิของโลกและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด ที่อาจหมายถึงความอยู่รอดของมนุษย์ในอนาคต
หันมาดูมิติของผลตอบแทนจากการลงทุนกันบ้าง ขอยกตัวอย่าง บริษัท Ørsted ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดรายใหญ่สัญชาติเดนมาร์ก ที่ได้ตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจจากพลังงานฟอสซิลมาใช้พลังงานสะอาด อย่าง ลม เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า จนก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานสะอาดรายใหญ่ของโลก โดยบริษัทเพิ่งจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2016 ผ่านมาเพียง 5 ปี หุ้นบริษัทมีราคาเพิ่มขึ้นมากว่า 480% และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงคาดว่าจะมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องได้จนถึงปี 2050
บริษัท Beyond Meat ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช (Plant-based Meats) รายใหญ่ของสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องดิน น้ำและมลพิษทางอากาศ เนื่องจากกว่า 79% ของก๊าซเรือนกระจกเกิดจากการทำปศุสัตว์เพื่อการบริโภคของมนุษย์ อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นของ Beyond Meat ปรับลดลงจากจุดสูงสุดตลอดกาลมาแล้วกว่า 80% เป็นต้น
สรุปแล้ว แนวโน้มการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่มีความร่วมมือของทั้งภาครัฐ เอกชนและผู้บริโภค รวมถึงกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ให้ความสำคัญ และเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แม้ผลตอบแทนระยะสั้นอาจจะดูไม่หวือหวามากนัก แต่ก็ยังให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ซึ่ง KBank Private Banking ยังคงเชื่อว่าในระยะยาวมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนที่ความยั่งยืนให้กับนักลงทุนได้ เสมือนการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ต้องอาศัยระยะเวลานั่นเอง
ที่มา: TNN Online