05 พ.ย. 62

8 สิ่งต้องคิด ก่อนลาออก

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

8 สิ่งต้องคิด ก่อนลาออก


          “อย่างนี้ต้องลาออก อย่างนี้ล่ะต้องออก จะขอลาออก รู้แล้วรู้รอดไป” เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี เชื่อว่าเพลงนี้น่าจะดังก้องอยู่ในใจของใครหลายคนที่กำลังตัดสินใจว่าจะลาออกหรือเปลี่ยนงานดีไหม หลังจากทำงานมาได้สักพัก ไม่ว่าการลาออกนั้นจะด้วยสาเหตุเบื่องาน งานหนัก เจ้านายไม่ดี เพื่อนร่วมงานไม่เอาไหน หรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ก่อนตัดสินใจยื่นใบลาออก K-Expert อยากให้ลองพิจารณาให้รอบคอบและถี่ถ้วนซะก่อน ซึ่งมีเรื่องต้องคิดก่อนตัดสินใจลาออก 8 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 



1. ลาออกตอนไหนดี?

          ถ้าถามว่าควรลาออกตอนไหนดี คำถามนี้มีเรื่องต้องพิจารณา 2 เรื่องด้วยกันคือ

          • ที่ทำงานปัจจุบันจะจ่ายโบนัสให้เมื่อไร เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าควรจะลาออกก่อนหรือหลังได้รับโบนัส ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่มักจะจ่ายโบนัสในช่วงเดือนธันวาคมพร้อมกับเงินเดือน คนส่วนใหญ่จึงมักลาออกหลังจากได้รับโบนัสเรียบร้อยแล้ว เพื่อไม่ให้พลาดสิทธิตรงนี้ไป แต่หากที่ทำงานใหม่ต้องการให้เราไปเริ่มงานก่อนล่ะ แบบนี้คงต้องพิจารณาก่อนว่า สิ่งที่เราจะได้รับกลับมาจากที่ทำงานใหม่ ทั้งเงินเดือน โบนัส และผลตอบแทนต่างๆ คุ้มค่ากับโบนัสจากที่ทำงานปัจจุบันที่ต้องเสียไปหรือไม่

          • ที่ทำงานใหม่มีช่วงทดลองงาน (Probation) กี่เดือน และเราต้องเริ่มงานเดือนไหนถึงจะมีสิทธิได้รับโบนัสหรือได้ขึ้นเงินเดือนประจำปี ซึ่งแน่นอนว่าเกณฑ์การได้รับโบนัสหรือขึ้นเงินเดือนของพนักงานใหม่ของแต่ละบริษัทย่อมมีความแตกต่างกัน คำถามนี้เราจะได้คำตอบจากการเช็กข้อมูลจากฝ่ายบุคคลของที่ทำงานใหม่ก่อน เพื่อนำข้อมูลมาตัดสินใจเลือกช่วงเวลาที่จะยื่นใบลาออกเพื่อไปเริ่มงานใหม่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมนั่นเอง 


2. เงินเดือนขึ้นเท่าไร คุ้มไหม?

          สำหรับคำถามนี้เราต้องรู้ก่อนว่าที่ทำงานใหม่ให้เงินเดือนเท่าไร เพิ่มขึ้นจากเดิมกี่เปอร์เซ็นต์ คุ้มไหมที่จะไป ซึ่งมีเรื่องต้องคิดดังนี้

          • เงินเดือน โบนัส และผลตอบแทนต่างๆ ที่จะได้รับจากที่ทำงานใหม่เป็นอย่างไร น่าสนใจหรือไม่

          • ที่ทำงานใหม่อยู่ใกล้หรือไกลกว่าเดิม อยู่ในเมืองหรือนอกเมือง การจราจรติดขัดไหม ต้องใช้เวลาเดินทางนานแค่ไหน หากที่ทำงานใหม่อยู่ไกลกว่าเดิม ต้องใช้เวลาเดินทางมากขึ้น ค่าเดินทางไปกลับที่ทำงานใหม่ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน หรือค่าโดยสารรถสาธารณะต่างๆ ก็อาจสูงขึ้นตามไปด้วย

          • ค่าครองชีพสูงขึ้นหรือไม่ เช่น ค่าอาหารเช้า อาหารกลางวัน ค่าขนมและเครื่องดื่มต่างๆ อาจสูงขึ้นได้ หาก       ที่ทำงานใหม่อยู่ในเมืองหรืออยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้า

          • วิถีชีวิตเปลี่ยนไปไหม เช่น ต้องตื่นเช้าขึ้น เผชิญกับรถติด ทำให้ถึงบ้านดึกกว่าเดิม หรืออาจต้องทำงานวันเสาร์-อาทิตย์บ้าง ทำให้เวลาในการได้อยู่กับครอบครัวหรือเวลาที่ได้พบปะเพื่อนฝูงอาจเปลี่ยนไป 

          ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เราต้องนำมาพิจารณาให้รอบด้าน ทั้งในด้านของตัวเงินและด้านที่ไม่ใช่ตัวเงินว่าคุ้มค่าหรือไม่กับการลาออกไปทำงานที่ใหม่


3. สิทธิและสวัสดิการที่ใหม่เป็นอย่างไร?

          นอกจากเงินเดือน โบนัส และผลตอบแทนต่างๆ แล้ว เรื่องสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ของที่ทำงานใหม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วยเช่นกัน ซึ่งได้แก่

          • สิทธิวันลา เช่น ลาพักร้อน ลากิจ ลาป่วย ลาคลอด ของที่ทำงานใหม่เป็นอย่างไร

          • สวัสดิการต่างๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินกู้ เงินช่วยเหลือ ของที่ทำงานใหม่มีหรือไม่ หากมี สวัสดิการต่างๆ นั้นมีเงื่อนไขอย่างไร เช่น ค่ารักษาพยาบาลเบิกได้เท่าไร ครอบคลุมคนในครอบครัวด้วยไหม 

          • สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ของที่ทำงานใหม่มีไหม หากมี มีเงื่อนไขการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ รวมถึงมีนโยบายการลงทุนเป็นอย่างไร 


4. เนื้องานที่ใหม่เป็นอย่างไร?

          เมื่อมองในมุมเงินเดือน โบนัส ผลตอบแทนต่างๆ รวมถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ของที่ทำงานใหม่แล้ว ในส่วนของเนื้องานหรือลักษณะงานก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่

          • ลักษณะงานใหม่มีความเหมือนหรือแตกต่างจากลักษณะงานปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน หากมีความเหมือนกันก็ถือเป็นการต่อยอดความรู้ความเชี่ยวชาญที่เรามีอยู่ก่อนหน้า แต่หากลักษณะงานมีความแตกต่างจากปัจจุบันมาก ต้องถามตัวเองว่าเราชอบงานนี้ไหม ทำได้ไหม และอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้เข้ากับลักษณะงานใหม่จนกว่าจะเข้าที่เข้าทาง 

          • ลักษณะการทำงานเป็นการนั่งทำงานในออฟฟิศหรือต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ เช่น ต้องไปหาลูกค้า ไปพบลูกค้าบ่อยครั้งแค่ไหน แล้วเราชอบหรือเหมาะกับการทำงานแบบไหนมากกว่ากัน  

          ทั้งนี้ ไม่ควรลาออกหรือย้ายงานตามเพื่อนหรือตามเจ้านายเดิม หากลักษณะงานที่ใหม่ไม่เหมาะกับเรา รวมถึงอย่าลาออกด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบ อยากให้พิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ รวมถึงดูโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพหรือสายงานของที่ทำงานใหม่ด้วย


5. วัฒนธรรมองค์กรที่ใหม่เป็นอย่างไร?

          เรื่องวัฒนธรรมองค์กรของที่ทำงานใหม่ก็เป็นอีกเรื่องที่เราควรหาข้อมูลไว้ล่วงหน้าว่าเป็นอย่างไร เหมาะกับเราหรือไม่ ก่อนไปเริ่มงานใหม่ ซึ่งได้แก่

          • หัวหน้างาน ทีมงาน หรือเพื่อนร่วมงานใหม่เป็นอย่างไร คนส่วนใหญ่อยู่ในวัยไหน มีสไตล์การทำงานอย่างไร  

          • กฎระเบียบ การแต่งกาย เวลาเข้างาน ออกงาน การทานอาหารหรือขนมระหว่างวัน มีความเคร่งครัดมากน้อยแค่ไหน

          • ระบบงานที่ทำงานใหม่เป็นอย่างไร เหมาะกับตัวเราหรือไม่


6. สิทธิประโยชน์ที่มีอยู่จะจัดการอย่างไร?

          สำหรับคนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานปัจจุบันอยู่ หากตัดสินใจลาออก จะจัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้มีทางออกอยู่ 3 ทางเลือกด้วยกัน ได้แก่  

          • นำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเลย หากเลือกทางเลือกนี้ สิ่งที่ตามมาคือ เรามีภาระต้องเสียภาษีในส่วนของผลประโยชน์ของเงินสะสม (ส่วนของตัวเอง) เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ (ส่วนของนายจ้าง)

          • คงเงินไว้ก่อน เพื่อรอย้ายไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่หลังจากผ่านช่วงทดลองงานแล้ว กรณีที่ที่ทำงานใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากเลือกทางเลือกนี้ควรเช็กด้วยว่าที่ทำงานปัจจุบันให้คงเงินกองทุนไว้ได้นานเท่าไร และคิดค่าธรรมเนียมอย่างไร

          • โอนเงินไปยัง RMF for PVD กรณีที่ที่ทำงานใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทางเลือกนี้จะช่วยให้เราไม่ต้องเสียภาษีเพราะไม่ได้นำเงินออกก่อนครบเงื่อนไข และยังสามารถนับอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่องได้อีกด้วย 


7. เช็กภาระก่อนลาออก

          ก่อนตัดสินใจลาออก ลองดูซิว่าเรามีภาระผูกพันกับที่ทำงานปัจจุบันหรือไม่ เช่น หากเราเคยขอเงินกู้สวัสดิการจากที่ทำงานปัจจุบัน อย่างการกู้เงินมาซื้อบ้าน ซื้อรถ และปัจจุบันยังชำระหนี้ไม่หมด ก็ควรวางแผนจัดการปิดหนี้ให้เรียบร้อยก่อนลาออก

          สำหรับคนที่ต้องการขอสินเชื่อใหม่ เช่น วางแผนจะซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือสมัครบัตรเครดิตเร็วๆ นี้ ช่วงย้ายงานแรกๆ อาจยังไม่สามารถขอสินเชื่อได้เพราะยังไม่ผ่านการทดลองงาน หรืออายุงานยังไม่ถึงเกณฑ์การขอสินเชื่อ ดังนั้น ควรวางแผนการขอสินเชื่อให้ดีก่อนตัดสินใจลาออก


8. เก็บตกเอกสารที่ทำงานปัจจุบันและคืนเครื่องใช้อุปกรณ์ต่างๆ

          สุดท้าย อย่าลืมจัดการเรื่องเอกสารสำคัญให้เรียบร้อยและเก็บตกข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ดังนี้

          • เตรียมขอเอกสารที่จำเป็นจากที่ทำงานปัจจุบัน เช่น หนังสือรับรองเงินเดือน หนังสือรับรองการทำงาน หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นต้น เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการกลับมาดำเนินเรื่องขอเอกสารต่างๆ ภายหลัง

          • เตรียมเคลียร์งาน ส่งต่องาน เก็บของมีค่า ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ และคืนอุปกรณ์สำนักงาน เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เครื่องเขียน รวมถึงคืนบัตรพนักงานให้กับฝ่ายบุคคลของบริษัท 

การลาออกอาจไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงาน และก่อนตัดสินใจลาออกมีเรื่องต้องคิดมากมาย ดังนั้น  ควรพิจารณาให้รอบคอบและถี่ถ้วน โดยการเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งในแง่ของตัวเงินหรือผลประโยชน์ที่จะได้รับ รวมถึงวิถีชีวิตหรือคุณภาพชีวิตที่อาจเปลี่ยนไปว่าคุ้มค่าหรือไม่ ก่อนตัดสินใจลาออกหรือเปลี่ยนงาน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวเราเอง จะได้ไม่กลับมานั่งเสียใจในภายหลังเพราะว่าเราได้คิดมาอย่างดีแล้ว และเราเป็นผู้กำหนดเส้นทางชีวิตของตัวเราเอง

ให้คะแนนบทความ

สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ AFPT

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย