เกษียณ
ทำความเข้าใจก่อนย้าย PVD ไป RMF
เมื่อปี 2558 มีการออก พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฉบับที่ 4 ออกมา โดยมี 2 เรื่องใหญ่ที่ปรับปรุงแก้ไขคือ ข้อกำหนด อัตราสะสม (ส่วนลูกจ้างสะสม) ออมได้สูงกว่า อัตราสมทบ (ส่วนนายจ้างสมทบ) เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกจ้างเลือกออมเพิ่มขึ้นได้ และกรณีที่นายจ้างปิดกิจการ หรือยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างสามารถย้ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาเข้ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ทำให้นับอายุสมาชิกต่อเนื่องได้ เพื่อเพิ่มช่องทางในการจัดการเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น ทางเลือกที่จะย้ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) มายัง กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จึงเป็นการจัดการเงินประเภทหนึ่ง แต่ก่อนตัดสินใจย้ายเงินมา มีหลายเรื่องที่หลายคนยังอาจเข้าใจผิดอยู่ จึงมีเรื่องที่ต้องเคลียร์หรือทำความเข้าใจก่อน 3 เรื่องด้วยกันคือ
1. ย้าย PVD ไป RMF เพราะไม่อยากอยู่ PVD
วัตถุประสงค์หลักของทางเลือกให้มีการย้าย PVD ไป RMF เพื่อให้สมาชิก PVD มีทางเลือกในการจัดการเงินของตนเองเพิ่มขึ้น นอกจากทางเลือกในการนำเงินออกจากกองทุน PVD เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เหตุผลในการไม่อยากให้เงินอยู่ในกองทุน PVD ก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สมาชิกอยากจะย้ายไปกองทุน RMF ซึ่งมีปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ
1.1 เมื่อย้ายไปกองทุน RMF แล้วจะไม่สามารถย้ายกลับมากองทุน PVD ได้อีก และหากต้องการย้ายออกจากกองทุน RMF จะย้ายหรือสับเปลี่ยนไปได้เฉพาะกองทุน RMF ด้วยกันเท่านั้น
1.2 กองทุน RMF แม้เลือกสัดส่วนการลงทุนได้ง่ายกว่า PVD เนื่องจากกองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนหลากหลายและสามารถกำหนดสัดส่วนการลงทุนได้ด้วยตนเอง แต่กองทุน PVD ก็อาจจะมีนโยบายให้สมาชิกเลือก (Employee’s choice) ได้ขึ้นอยู่กับนายจ้าง ดังนั้น การย้ายไปกองทุน RMF แม้สามารถจัดสัดส่วนการลงทุนได้ด้วยตนเอง แต่อย่าลืมตรวจสอบ Employee’s choice ของนายจ้างด้วยว่ามีทางเลือกที่มีสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองหรือไม่
1.3 ระยะเวลาในการถือครองในกองทุน RMF (ย้ายจาก PVD) ควรจะถือครองจนถึงอายุ 55 ปี เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางภาษี ดังนั้น กรณีมีอายุประมาณ 45 ปี หากย้าย PVD ไป RMF จะต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 10 ปี จนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จึงขายออกได้ และจะได้รับยกเว้นภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นในกองทุน
2. ย้าย PVD ไป RMF แล้วต้องลงทุนต่อเนื่อง
กองทุน RMF ที่ย้ายมาจาก PVD นั้นจะมีการแยกบัญชีต่างหากจากกองทุน RMF ทั่วไป ดังนั้น
- กรณีไม่เคยลงทุน RMF ทั่วไปมาก่อน เมื่อย้าย PVD ไป RMF แล้ว ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องจนกระทั่งอายุ 55 ปี เพราะถือเป็นคนละส่วนกับกองทุน RMF ทั่วไป ให้คิดแยกส่วนกันจะเข้าใจง่ายกว่า
- กรณีเคยลงทุน RMF ทั่วไปมาก่อน ไม่ว่าจะย้าย PVD ไป RMF หรือไม่ จะต้องซื้อ RMF ต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปี
ตามเงื่อนไขที่ว่า “ต้องไม่ระงับการลงทุนเกินกว่า 1 ปี”
3. อายุเกิน 55 ปี อยากย้าย PVD ไป RMF
กรณีอายุไม่ถึง 55 ปี หากอยากย้าย PVD ไป RMF ต้องพิจารณาเรื่องสภาพคล่องที่ควรนำเงินออกหลังอายุ 55 ปี (เอาเงินออกก่อนอายุ 55 ปีก็ได้ แต่อาจจะมีค่าปรับหรือบทลงโทษเกี่ยวกับภาษีได้)
ในกรณีอายุเกิน 55 ปี หากอยากย้าย PVD ไป RMF ขอให้ตรวจสอบเงื่อนไขว่า เงินจาก PVD จำเป็นต้องใช้หลังเกษียณเมื่อใด ถ้ายังไม่จำเป็นต้องใช้ในระยะเวลา 1-2 ปี ก็สามารถย้าย PVD ไป RMF ได้ ทั้งนี้ ควรเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมการจัดการก่อนตัดสินใจย้ายไป RMF ด้วย
จาก 3 ข้อต้องเคลียร์เพื่อให้การย้ายจาก PVD ไป RMF ได้ประโยชน์สูงสุด เมื่อมีวัตถุประสงค์หลักคือ ไม่มีทางเลือกและต้องนำเงินออกจากกองทุน PVD แต่หากเป็นวัตถุประสงค์รอง เช่น อยากได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ขอให้เปรียบเทียบความคุ้มค่าเรื่องภาษี และสภาพคล่องที่จะนำเงินออกมาจากกองทุนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขทางภาษี จะทำให้การย้ายจากกองทุน PVD ไป RMF ได้ประโยชน์สูงสุด โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ “
โอนเงินจาก PVD ไป RMF ได้แล้วนะ รู้ยัง” ที่จะกล่าวถึง ใครที่สามารถโอนกองทุน PVD ไป RMF ได้ วิธีการดังกล่าวมีข้อดีอะไรบ้าง หากสนใจจะโอนไป RMF มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และจะย้ายไป RMF มีแนวทางการเลือก RMF อย่างไร
บทความที่เกี่ยวข้อง