เกษียณ
ดีอย่างไรเมื่อออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
“หากมีเหตุจำเป็นต้องย้ายงาน หรือถูกให้ออกจากงานก่อนเกษียณอายุ (Early Retirement)
เราไม่จำเป็นต้อง “ลาออก” จากกองทุน เราสามารถ “โอนย้าย”
เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยไม่ต้องรีบนำเงินออกมา”
– K-Expert -
เมื่อกล่าวถึง “การออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” มีข้อดีอย่างไร สำหรับลูกจ้างที่เป็น “มนุษย์เงินเดือน” ที่ทำงานประจำอาจตอบได้แต่เพียงว่า “เป็นเงินเก็บไว้ใช้ตอนเกษียณอายุ” เท่านั้น หากคุณยังตอบคำถามข้างต้นไม่ได้ว่ามีข้อดีอย่างไรบ้าง K-Expert ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครับ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เป็นการเก็บออมเงินภาคสมัครใจทางหนึ่ง โดยนายจ้างและลูกจ้างทำร่วมกัน ในแต่ละเดือน นายจ้างจะหักเงินเดือนส่วนหนึ่งของลูกจ้างเพื่อนำไปเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเงินในส่วนของลูกจ้าง เรียกว่า “เงินสะสม” สามารถสะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่ง เรียกว่า “เงินสมทบ” เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบให้ลูกจ้างเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัท เช่น กำหนดตามอายุงานของลูกจ้าง จะเห็นได้ว่า นอกจากลูกจ้างจะออมแล้ว นายจ้างยังช่วยออมอีกแรงหนึ่งด้วย
สำหรับพนักงานที่มีอายุไม่มากนัก หากมีเหตุจำเป็นต้องย้ายงาน หรือถูกให้ออกจากงานก่อนเกษียณอายุ (Early Retirement) มักมีคำถามมากมายตามมาว่า “ต้องลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเลยหรือไม่ ควรจะทำอย่างไรดี” คำตอบที่อีกหลายท่านยังไม่ทราบ คือ เราไม่จำเป็นต้อง “ลาออก” เราสามารถคงเงินไว้กับที่เดิม ไม่ต้องรีบนำเงินออกมา ส่วนจะคงเงินได้นานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับข้อบังคับของกองทุน เมื่อได้งานใหม่ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็โยกเงินทั้งหมดมาลงในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่ วิธีนี้ไม่ต้องนำเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี เพราะถือว่ายังไม่ได้ออกจากกองทุน
ข้อดีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ เป็นตัวช่วยชั้นเยี่ยมสำหรับการสร้างหลักประกันเพื่อเกษียณอายุ เปรียบเสมือนการลงทุนที่เราได้รับผลประโยชน์ถึง “สองต่อ” เพราะเมื่อจ่าย “เงินสะสม” เข้าไปในกองทุนแล้ว นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย “เงินสมทบ” ให้เราด้วย เพื่อนำเม็ดเงินไปบริหารโดยผู้จัดการกองทุนฯ มืออาชีพ ที่จะทำให้เกิดผลตอบแทนเพิ่มขึ้น แต่ที่ดีไปกว่านั้น คือ เงินที่จ่ายสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปทุกๆ ปี สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง หรือไม่เกินปีละ 500,000 บาท
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถใช้เป็นตัวช่วยเรื่องเงินๆ ทองๆ ทั้งช่วยลดหย่อนภาษี ได้รับเงินสมทบเพิ่มจากนายจ้าง อีกทั้งยังผลิดอกออกผลได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอีกด้วยครับ