เกษียณ
3 เรื่องน่าเช็กก่อนถึงวัยเกษียณ
ลองจินตนาการถึงชีวิตหลังเกษียณที่ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ต้องมาถึง เมื่อรายได้จากการทำงานหยุดไป แต่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันยังมีอยู่ เราจำเป็นต้องหาแหล่งเงินก้อนหลังเกษียณเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน การออมเพื่อเกษียณเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน หลายคนมองว่ายังมีเวลาเก็บเงินอีกนานกว่าตนเองจะเกษียณ จึงมักละเลยเรื่องนี้ การจะออมเพื่อเกษียณให้ได้ประสิทธิภาพ ไม่ได้อยู่ตรงที่การควบคุมรายจ่ายหรือการเก็บออมอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น การเลือกเครื่องมือการออมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย เพราะจะช่วยให้เราถึงเป้าหมายเกษียณได้ตามที่ตั้งใจไว้ K-Expert มีคำแนะนำในเรื่องนี้มาฝาก
ต้องเตรียมไว้ใช้เท่าไรจึงจะพอใช้
“ความกินดีอยู่ดียามเกษียณ” เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกๆ คนควรเตรียมไว้ให้พร้อม หากเราอยู่ในช่วงวัยทำงาน อายุสัก 35-40 ปี ค่าอาหารกลางวันในแต่ละมื้อคิดว่าต้องเตรียมเท่าไรครับ ค่าอาหาร 1 มื้อ เมื่อย้อนกลับไปสัก 20 ปีก่อน อาหารจานเดียวกินก๋วยเตี๋ยวมื้อกลางวันสักชามอยู่ที่ 25 บาท ปัจจุบันทานอาหาร 1 มื้อ ค่าอาหารอยู่ที่ 50 บาท แล้วเมื่อเราอายุ 60 ปี ราคาค่าอาหาร 1 มื้อ คิดว่าต้องเตรียมไว้เท่าไร เป็นไปได้ไหมว่าในแต่ละมื้อต้องเตรียมไว้ถึง 100 บาท กินวันละ 3 มื้อ เท่ากับ 300 บาทต่อวัน 1 ปีมี 365 วัน ต้องเตรียมไว้ 109,500 บาท ถ้าหลังเกษียณแล้วอยู่ต่อสัก 20 ปี ต้องเตรียมไว้ถึง 2,190,000 บาท อันนี้เฉพาะค่าอาหารทั่วๆ ไป ถ้าต้องการกินดีอยู่ดีอาจต้องเตรียมเงินไว้มากกว่านี้ นอกจากค่าอาหาร ยังมีค่าใช้จ่ายประจำวันต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมัน ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ แล้วตอบคำถามที่ว่าต้องเตรียมไว้เท่าไร ก็ลองเก็บรวมรวบค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนตั้งแต่วันนี้ดูครับ
3 เรื่องต้องเช็กก่อนวางแผนเกษียณ
เรื่องเก็บเงินเกษียณมีคนไม่มากนักที่เห็นความสำคัญ ถ้าหากคุณยังไม่เคยคิดถึงเรื่องการเก็บเงินก้อนที่สำคัญสำหรับอนาคตเลย วันนี้ขอแนะนำให้ลองเช็ก 3 เรื่องเงินออมก่อนวางแผนเกษียณดังนี้
1. เช็กจำนวนปีที่ส่งกองทุนประกันสังคม
โดยกองทุนประกันสังคมเริ่มจัดเก็บเงินสมทบกรณีชราภาพมาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เงินที่ส่งกองทุนประกันสังคมในส่วนของเงินออมชราภาพ 3% ของฐานเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท หรือเท่ากับ 450 บาทต่อเดือนนั้น (จากทั้งหมด 5% หรือ 750 บาท) หลายๆ คนยังมีความเข้าใจผิดว่าสามารถเลือกเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคมได้ จริงๆ แล้วเราไม่สามารถเลือกได้เองว่าจะรับเงินบำเหน็จหรือบำนาญ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามเงื่อนไข ดังนี้
• หากส่งเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน หรือ 15 ปี จะได้รับ เงินบำเหน็จ เท่ากับเงินที่เราจ่ายสมทบ บวกกับเงินที่นายจ้างสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนที่ประกันสังคมกำหนด
• จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี จะได้รับ เงินบำนาญชราภาพ โดยมีสิทธิรับบำนาญเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ฐานเงินเดือนสูงสุดที่คิดคือ 15,000 บาท สำหรับมนุษย์เงินเดือน) แต่ถ้ามีการจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี ก็จะได้บำนาญบวกเพิ่มขึ้นไปอีก 1.5% ทุกๆ 12 เดือน หรือ 1 ปี เช่น จ่ายเงินสมทบ 30 ปี จะได้รับเงินบำนาญเป็น 20% + (1.5% x 15 ปี) = 42.5% เท่ากับจะได้รับเงินบำนาญรายเดือนๆ ละ 6,375 บาทจนกว่าจะเสียชีวิต เงินส่วนนี้อาจพอช่วยจุนเจือค่าครองชีพได้บ้าง แต่เราไม่อาจพึ่งพาเงินจากประกันสังคมแต่เพียงอย่างเดียว
2. เช็กยอดเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เพื่อคำนวณยอดเงิน ณ ตอนเกษียณว่าจะเพียงพอหรือไม่ โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างสมัครใจจัดตั้งและลูกจ้างสมัครใจเป็นสมาชิก การหักเงินนำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามอัตราที่ระบุไว้ในช่วง ร้อยละ 2 ถึง 15 ของเงินเดือน เงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนเรียกว่า “เงินสะสม” โดยกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องสมทบเงินอีกก้อนหนึ่งให้กับลูกจ้างภายใต้กองทุนนี้ เรียกว่า “เงินสมทบ” ซึ่งนายจ้างสมทบเท่ากับลูกจ้างหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ หากลองคำนวณเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อได้รับตอนเกษียณ สมมติว่าเริ่มทำงานตอนอายุ 25 ปี เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท หักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3% นายจ้างสมทบให้อีก 3% คิดอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน 5% ต่อปี อัตราผลตอบแทนของเงินสะสมและเงินสมทบ 3% ต่อปี จะมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตอนอายุ 60 ปีอยู่ที่ 1.065 ล้านบาท
3. เช็กยอดเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นอีกทางเลือกสำหรับคนทำงานที่ไม่มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นการผสมระหว่างกองทุนรวมกับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้ลงทุนจะได้ประโยชน์จากสิทธิลดหย่อนภาษีและผลตอบแทนจากการลงทุนตามนโยบายที่เลือกไว้ โดยความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่คือ กองทุนนี้มีไว้สำหรับคนใกล้เกษียณอายุเท่านั้น แต่กองทุน RMF นี้ แก่ไม่แก่ก็ซื้อได้ โดยเงื่อนไขการลงทุนคือ ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปีจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์และลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม ลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ต่อปี เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเบี้ยประกันบำนาญแล้วใช้สิทธิรวมกันได้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปีภาษี
สรุปคำแนะนำออมเงินเพื่อเกษียณ
ลองคำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนปัจจุบัน คูณด้วย 12 เดือน คูณด้วยจำนวนปีที่ต้องใช้ชีวิตอยู่หลังเกษียณสักอีก 20 ปี แล้วลองทบทวนตัวเลขเงินออมหลังเกษียณที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าเพียงพอหรือไม่ หากยังไม่พอลองเช็กจำนวนเงินหักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปัจจุบันคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ กรณีที่กลัวว่าเงินออมเกษียณไม่เพียงพอ ก็อาจเลือกหักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุด 15% ของรายได้ เงินสะสมจะเพิ่มขึ้นดังนี้
จากภาพ การหักเงินสะสมเพิ่มจาก 3% เป็น 5% ในแต่ละเดือนจะทำให้เงินก้อนตอนอายุ 60 ปี เพิ่มจาก 1.06 ล้านบาท เป็น 1.42 ล้านบาท หากหักเงินสะสมเพิ่มจาก 3% เป็น 10% จะทำให้เงินก้อนตอนอายุ 60 ปี เท่ากับ 2.30 ล้านบาท หากหักเงินสะสมเพิ่มจาก 3% เป็น 15% จะทำให้เงินก้อนตอนอายุ 60 ปี เท่ากับ 3.20 ล้านบาท การปรับเพิ่มเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราที่มากกว่าที่นายจ้างกำหนดให้ นอกจากจะเป็นการออมก่อนใช้แล้ว เงินที่หักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังสามารถลดหย่อนภาษีได้
ทั้งนี้ การหักเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจทำควบคู่กับการเริ่มลงทุนในกองทุน RMF โดยการลงทุนสม่ำเสมอในทุกๆ เดือน เริ่มต้นขั้นต่ำเพียง 500 บาทต่อเดือน สามารถเลือกลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้ กรณีที่บางบริษัทไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากกลัวเงินเก็บเพื่อเกษียณไม่เพียงพอ อาจพิจารณาเพิ่มการลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น กองทุนรวมทั่วไป กองทุน LTF ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันบำนาญ โดยเลือกให้เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้ และก่อนเริ่มต้นลงทุนควรศึกษาคู่มือการลงทุนให้เข้าใจก่อนทุกครั้ง
บทความที่เกี่ยวข้อง :