27 ส.ค. 62

เกษียณสนุกในยุค Gig Economy

คะแนนเฉลี่ย

เกษียณ

​​​​​​เกษียณสนุกในยุค Gig Economy


          เกษียณ = การหยุดพักผ่อน? แม้ว่าเกษียณไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหยุด ‘‘ช่วงชีวิตการทำงาน’’ ไปเลยซะทีเดียว เพราะปัจจุบันนี้กลับพบว่า คนในวัยเก๋าเหล่านี้ยังคงทำงานกันอยู่ คิดเป็นร้อยละ 36.9 ของผู้สูงอายุทั้งหมด (จากตัวเลขผู้สูงอายุทั้งหมดประมาณ 11-12 ล้านคน)* แล้วเทรนด์นี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ผู้สูงวัยยังไม่พร้อมที่จะหยุดการทำงานนั้นเป็นไปได้ว่าเกิดจากความต้องการแบ่งเบาภาระลูกหลาน แผนการเงินที่วางไว้ยังไม่ได้เป็นไปตามแผน หรืออยากมีรายได้เพิ่มเติม ซึ่งสุดท้ายไม่ว่าจะด้วยเหตุเพราะ “การเงิน” หรือเหตุใดก็ตาม เราสามารถเพิ่มรายได้ด้วย “อาชีพเสริม” หรือเรียกเท่ๆ ว่า “Gig Economy” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้ชีวิตเป็นเรื่องสนุกได้


ทำไมต้องอาชีพเสริม (GIG Economy)

“Gig Economy มักถูกรู้จักในลักษณะของการทำงานแบบอาชีพเสริม ครอบคลุมไปถึงอาชีพอิสระแบบต่างๆ ทั้งในรูปแบบทั่วไป   ไปจนถึงผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์”

          ณ ปัจจุบันเทรนด์นี้กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ดังนั้น ด้วยลักษณะงานที่ค่อนข้างยืดหยุ่น มีอิสระ และมีโอกาสดูแลสุขภาพได้มากกว่างานประจำ จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการเก่า แต่เก๋าไปด้วยประสบการณ์ที่สะสมผ่านชั่วโมงการทำงานมานาน ทำให้มีความเชี่ยวชาญอย่างมาก บวกกับ จำนวนเพื่อนร่วมงานปัจจุบันหรือเพื่อนร่วมงานเก่า ทำให้การทำอาชีพเสริมสามารถเป็นไปได้สวยในคนกลุ่มนี้

วัยเกษียณในยุค Gig Economy : ส่งผลดีอย่างไร

          - ขยับ = สุขภาพดี : การทำงานในวัยนี้ทำให้มีโอกาสได้เข้าสังคม ไม่เหงา ร่างกายกระฉับกระเฉงมากกว่า ช่วยเสริมสร้างทั้งกายและใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานช่วยให้สมองคมเฉียบ และลดโอกาสในการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ด้วย** 

          - ความยั่งยืนทางการเงิน : รายได้ที่ได้รับมาในยามเกษียณสามารถช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินได้ โดยสามารถนำมาใช้เพื่อดำรงชีวิตประจำวันเพิ่มเติมจากส่วนที่เป็นเงินออม หรือลงทุนเพื่อใช้ในยามเกษียณ อีกทั้ง อาจจะเหลือพอไว้ส่งต่อเป็นของขวัญให้ลูกหลานได้ด้วย 

          - ทันโลก ไม่ล้าหลัง : เนื่องจากการทำงานทำให้ได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และเปิดมุมมอง เปิดโลกใหม่ๆ ที่เป็นปัจจุบันซึ่งส่งผลดีทำให้เราเข้ากับลูกหลานได้มากขึ้น และยังช่วยสานสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวอีกต่างหาก

แล้วฉันจะเริ่มทำอะไรดี

‘‘เริ่มต้นง่ายๆ ได้จากสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ หรือชำนาญอยู่แล้ว ซึ่งสามารถใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นแนวทางสำหรับอาชีพเสริมในยุค Gig Economy ได้’’


ประเภทงาน
ลักษณะงาน​
ประเภทเงินได้ที่อาจเกิดขึ้น ​​​
​1.งานที่เน้นใช้ทักษะ
(ใช้ความถนัดที่มีจำเพาะอยู่แล้ว)​
​เป็นที่ปรึกษาในสายอาชีพเดิม หรือเป็น วิทยากร อาจารย์พิเศษ สามารถต่อยอดเป็นวิทยากร ทำช่องเองออนไลน์ หรือผันตัวเป็น ยูทูปเบอร์ได้
​- เงินได้ประเภทที่ 2 หรือ 40(2) : ค่าตอบแทนจากการรับทำงานให้
​2.ค้าขาย หรือบริการเสริม  
(ทำส่วนตัว/รวมกับเพื่อน/สมาคม)  
​ทำการค้าขายสินค้า หรือบริการ ในสิ่งที่เรามี เครือข่ายธุรกิจอยู่แล้ว หรืออาจจะทำการค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ซึ่งลงทุนน้อย แต่คนเห็นมาก
​- เงินได้ประเภทที่ 8 หรือ 40(8) :      รายได้จากการทำธุรกิจหรือค้าขายออนไลน์ (รวมถึงรายได้อื่นที่ไม่เข้ากลุ่มเงินได้ประเภทที่ 1-7) 
​3.ปล่อยเช่า/ให้เช่า:
(มีสินทรัพย์หรือเงินทุนแล้ว)  
​สามารถนำสินทรัพย์มาให้บริการต่อยอดได้  เช่น รถเช่า คอนโดฯ/บ้านเช่า ที่ดินให้เช่า  แผงร้านค้าให้เช่า เป็นต้น ซึ่งเราสามารถใช้  แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นเครื่องมือเพิ่มช่องทางหาลูกค้าได้ 
​- เงินได้ประเภทที่ 5 หรือ 40(5) :       รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน (รวมถึงรายได้จากการผิดสัญญาเช่าซื้อ/ขาย   เงินผ่อน)​​

มีข้อควรระวังอะไรไหม 

          1. แยกกระเป๋าเงินเกษียณ ออกจากเงินที่ใช้ทำอาชีพเสริม ไม่ควรนำเงินเก็บออกมาใช้เป็นต้นทุนในการทำธุรกิจ หรือค้าขายในช่วงเกษียณมากเกินไป 

          2. สุขภาพ กับ การทำงาน : เนื่องจากหากทำอาชีพเสริมหักโหมเกินไป หรือเครียดเกินไปอาจทำให้ไม่สบาย หรือเจ็บป่วยได้โดยเฉพาะผู้สูงวัย ทำให้เป็นอันตราย และอาจมีเรื่องให้เสียเงินเกิดขึ้น

          สุดท้ายนี้ แม้ว่าวัยเกษียณจะมาถึง แต่หากยังมีไฟอยู่กับเราก็สามารถสนุกไปกับ ‘‘อาชีพเสริม’’ ซึ่งนอกจากประโยชน์ทางการเงินแล้ว การที่เราได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ดีให้กับคนยุคใหม่ก็ถือเป็นการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นประโยชน์ได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน



ให้คะแนนบทความ

ทัตเทพ วีระทัต AFPT

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย