เกษียณ
มรดกน่ารู้...กับทายาทโดยธรรม
“หากได้มรดกมา พร้อมกับภาระหนี้ไม่ต้องตกใจ เพราะหนี้ที่ชดใช้จะไม่มากเกินกว่ามรดกที่ได้รับ” – K-Expert Advice
หลายคนคิดว่า “มรดก” เป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้นกว่าที่จะเห็นว่ามรดกมีความสำคัญและจำเป็นก็ต่อเมื่อสูญเสียบุคคลในครอบครัวไป นั่นก็คือ “ความตายก่อให้เกิดมรดก” นั่นเอง เมื่อเจ้ามรดกตาย มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาท หากไม่มีผู้รับก็จะตกเป็นของแผ่นดินต่อไป ดังนั้นมรดกจึงมีความสำคัญกับผู้ที่เป็นทายาท ซึ่งหน้าที่และความรับผิดก็ตกแก่ทายาททันทีเช่นกัน หากเจ้ามรดกมีเจ้าหนี้ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกร้องจากทายาททันที โดยทายาทจะปฏิเสธว่ายังไม่ได้รับมรดกไม่ได้ และเจ้าหนี้จะเรียกร้องจากทายาทคนใดก็ได้ ทั้งนี้ หนี้ที่ต้องชดใช้จะไม่มากเกินกว่ามรดกที่ได้รับ
“ทายาท” ทางกฎหมายมี 2 ประเภทด้วยกัน คือ ทายาทโดยธรรม (ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย) และทายาทโดยพินัยกรรม (ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม) ซึ่งทั้ง 2 ประเภทก็มีความแตกต่างกัน สำหรับบทความจะพูดถึงเพียงทายาทโดยธรรม
ทายาทโดยธรรม คือทายาทประเภทญาติ และประเภทคู่สมรส ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ทายาทโดยธรรมประเภทญาติ คือ ผู้ที่มีสายสัมพันธ์ทางสายโลหิต ซึ่งมี 6 ลำดับด้วยกันคือ 1. ผู้สืบสันดาน 2. บิดามารดา 3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน 5. ปู่ ย่า ตา ยาย และ 6. ลุง ป้า น้า อา
แม้ว่าทายาทโดยธรรมจะมีถึง 6 ลำดับด้วยกัน แต่ไม่ใช่ว่าทุกลำดับจะมีสิทธิได้รับมรดกพร้อมกัน การรับมรดกจะเป็นไปตามลำดับก่อนหลัง ญาติที่อยู่ในลำดับก่อน (ลำดับต้น) มีสิทธิได้รับมรดกก่อน ญาติที่อยู่ลำดับถัดมาจะมีสิทธิได้รับมรดกต่อเมื่อไม่มีญาติลำดับก่อนหน้า เช่น ญาติลำดับที่ 3 จะได้รับมรดกเมื่อไม่มีญาติลำดับที่ 1 และ 2 เป็นต้น
ดังนั้น การรับมรดกจึงเข้าตามหลักที่ว่า “ญาติสนิทตัดญาติห่าง” ยกเว้น กรณีทายาทลำดับที่ 1 คือ ผู้สืบสันดาน จะไม่ตัดทายาทลำดับที่ 2 คือ บิดามารดา นั่นก็หมายความว่า บิดามารดามีสิทธิรับมรดกพร้อมกับผู้สืบสันดานนั่นเอง
จากตัวอย่าง ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก (นายทอง) คือ บุตรชายนายทอง บิดามารดา และพี่น้องนายทองซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ซึ่งเป็นทายาทลำดับที่ 1 ลำดับที่ 2 และลำดับที่ 3 ตามลำดับ ดังนั้น เมื่อนายทองมีทายาทโดยธรรมลำดับต้นอยู่ คือลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 ทายาทโดยธรรมลำดับที่ 3 คือพี่และน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันก็ไม่มีสิทธิรับมรดก แม้จะเป็นทายาทโดยธรรมเช่นกัน ในกรณีนี้ หากนายทองมีมรดกคิดเป็นเงินจำนวน 3 ล้านบาท ผู้ที่ได้รับมรดก ลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 จะได้รับในสัดส่วนเท่าๆ กัน คือ บุตรชายนายทอง จำนวน 1 ล้านบาท บิดานายทองจำนวน 1 ล้านบาท และ มารดานายทองจำนวน 1 ล้านบาท เป็นต้น
ทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรส ทายาทประเภทนี้โดยปกติจะไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต แต่จะมีความสัมพันธ์ในทางความรัก ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา ซึ่งถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมเช่นกัน มีสิทธิรับมรดกร่วมกัน แต่ส่วนแบ่งของทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรสจะได้เท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่ามีทายาทโดยธรรมประเภทญาติลำดับใดที่มีสิทธิรับมรดก หากเป็นญาติห่างๆ ยิ่งห่างมากเท่าไร คู่สมรสก็จะได้รับมรดกมากขึ้นเท่านั้น
จากตัวอย่างเดิม นายทองมีทายาทโดยธรรมคือ บุตรชายนายทอง บิดามารดา ซึ่งเป็นทายาทลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 ที่มีสิทธิได้รับมรดก ดังนั้น ในกรณีนี้ผู้มีสิทธิรับมรดกคือ ทายาทลำดับที่ 1 และ 2 ส่วนคู่สมรส (นางมี) จะเป็นทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรส ซึ่งถือว่าเป็นบุตร 1 คน จึงมีสิทธิได้รับมรดกเท่าๆ กับทายาทของตนเอง ดังนั้น หากนายทองมีมรดกคิดเป็นเงินจำนวน 3 ล้านบาท ผู้ที่ได้รับมรดกลำดับที่ 1 (บุตรชายนายทอง) ผู้ได้รับมรดกลำดับที่ 2 (บิดาและมารดานายทอง) และคู่สมรสจะได้รับมรดกในจำนวนเท่าๆ กัน
สรุป บุตรชายนายทองได้ 1 ส่วน บิดาได้ 1 ส่วน มารดาได้ 1 ส่วน และนางมี (คู่สมรส) ได้ 1 ส่วน หรือได้คนละ 750,000 บาท (3,000,000/4)
รู้อย่างนี้แล้ว เราคงต้องลองสำรวจดูแล้วค่ะ ว่าเราเป็นทายาทลำดับใดในครอบครัว ซึ่งคน 1 คนก็มีสิทธิเป็นได้ทั้งทายาทประเภทญาติและทายาทประเภทคู่สมรส ขึ้นอยู่กับว่าเจ้ามรดกคือใคร และเราผู้ซึ่งเป็นทายาทประเภทญาติอยู่ในลำดับที่เท่าไร เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพย์สินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
สรุป บุตรชายนายทองได้ 1 ส่วน บิดาได้ 1 ส่วน มารดาได้ 1 ส่วน และนางมี (คู่สมรส) ได้ 1 ส่วน หรือได้คนละ 750,000 บาท (3,000,000/4)
รู้อย่างนี้แล้ว เราคงต้องลองสำรวจดูแล้วค่ะ ว่าเราเป็นทายาทลำดับใดในครอบครัว ซึ่งคน 1 คนก็มีสิทธิเป็นได้ทั้งทายาทประเภทญาติและทายาทประเภทคู่สมรส ขึ้นอยู่กับว่าเจ้ามรดกคือใคร และเราผู้ซึ่งเป็นทายาทประเภทญาติอยู่ในลำดับที่เท่าไร เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพย์สินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ