เกษียณ
โอนเงินจาก PVD ไป RMF ได้แล้วนะ รู้ยัง
“การโอนเงินจาก PVD ไป RMF ช่วยให้เราออมเงินเพื่อเกษียณได้อย่างต่อเนื่อง
และประหยัดภาษีเพราะไม่ต้องนำเงินออกจาก PVD ก่อนกำหนดอีกด้วย”
– K-Expert -
สำหรับลูกจ้างหรือมนุษย์เงินเดือนที่กำลังจะเปลี่ยนย้ายงาน แต่ที่ทำงานใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเหมือนที่ทำงานเดิม หรือลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำธุรกิจของตัวเอง หากต้องนำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จะต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ถ้าไม่อยากเสียภาษี ก็มีทางเลือกค่ะ โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ให้สามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ไปอยู่ในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้ ซึ่งรายละเอียดเป็นอย่างไรนั้น K-Expert มีข้อมูลมาฝากค่ะ
ใครที่สามารถโอนเงินจาก PVD ไป RMF ได้บ้าง
ผู้ที่สามารถโอนเงินจาก PVD ไป RMF ได้ ยกตัวอย่างเช่น (1) ลูกจ้างที่ออกจากงาน ไม่ว่าจะเป็นการลาออกเพื่อไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือการออกจากงานเพราะสิ้นสุดสัญญาจ้าง (2) ลูกจ้างที่เปลี่ยนย้ายงาน แต่นายจ้างใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือไม่สามารถคงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานเดิมต่อได้ เพราะหมดระยะเวลาคงเงิน และ (3) นายจ้างเลิกกิจการหรือยกเลิกการจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ดังนั้น หากยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรือยังไม่ต้องการนำเงินออกจาก PVD ก็สามารถโอนเงินไปลงทุนต่อใน RMF ได้ แต่สำหรับผู้ที่ยังทำงานประจำเป็นมนุษย์เงินเดือน ยังไม่ได้ออกจากงาน จะไม่สามารถโอนเงินจาก PVD ไป RMF ได้ค่ะ
ดีอย่างไรเมื่อโอนเงินจาก PVD ไป RMF
การโอนเงินจาก PVD ไป RMF นอกจากจะช่วยให้เราไม่ต้องเสียภาษีเพราะไม่ต้องนำเงินออกจาก PVD ก่อนอายุเกษียณแล้ว ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากการโอนเงินจาก PVD ไป RMF มีหลักการเหมือนกับการคงเงินไว้ใน PVD คือ สามารถนับอายุสมาชิกต่อเนื่องได้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหน่วยลงทุนเพิ่ม ซึ่งนับเฉพาะ RMF ที่เราเลือกรับโอนเงินมาจาก PVD เท่านั้น ไม่ได้รวมถึง RMF ที่เราซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีทั่วไปค่ะ โดยถ้าขายกองทุนเมื่อมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี และมีอายุสมาชิกที่นับรวมทั้ง PVD และ RMF ไม่น้อยกว่า 5 ปี ก็จะได้รับยกเว้นภาษี แต่หากขายก่อนกำหนดเงื่อนไข ก็ต้องนำเงินที่ได้รับไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี
ทั้งนี้ เงินที่โอนจาก PVD ไป RMF ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกนะคะ เพราะไม่ถือเป็นเงินลงทุนใหม่เหมือนเงินลงทุนใน RMF ทั่วไป และเงินที่โอนจาก PVD มา RMF ก็ได้ใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีไปแล้ว รวมถึง ไม่ต้องเป็นกังวลว่า ถ้าโอนเงินจาก PVD มา RMF จะทำให้ซื้อ RMF ได้ลดลง เพราะเงินที่โอนจาก PVD มา RMF นั้น จะไม่นำมารวมคำนวณยอดเงินลงทุนสูงสุดใน RMF ของปีภาษีนั้นค่ะ
โอนเงินจาก PVD ไป RMF มีขั้นตอนอย่างไร
สำหรับขั้นตอนการโอนเงินจาก PVD ไป RMF ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรค่ะ เพียงแค่เราแจ้งความประสงค์ต่อนายจ้างภายใน 30 วันนับจากวันสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง โดยระบุ RMF ที่ต้องการจะโอนเงินไป และติดต่อกับบริษัทจัดการกองทุน เพื่อเปิดบัญชีกองทุน RMF ซึ่ง RMF ที่รับโอนเงินจาก PVD ได้ต้องเป็น “RMF for PVD” คือมีการระบุในหนังสือชี้ชวน (Fact Sheet) ว่า “รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” จากนั้นก็นำเอกสารจากบริษัทจัดการกองทุนมายื่นต่อกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยสามารถโอนเงินจาก PVD ไป RMF ได้ทั้งจำนวน ไม่มีค่าธรรมเนียมในการโอนย้าย และไม่ต้องเสียค่ารักษาสมาชิกรายปีแบบ PVDอีกด้วยค่ะ
เลือก RMF แบบไหนที่ใช่ตัวเรา
RMF เป็นกองทุนที่มีหลากหลายนโยบาย ตั้งแต่ลงทุนในหุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ แถมยังมีทางเลือกให้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุน โดยเราสามารถเลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
- รับความเสี่ยงได้สูง อายุยังไม่มาก อยู่ในวัยเริ่มต้นทำงาน จะเหมาะกับ RMF ที่เน้นลงทุนในหุ้น ซึ่งมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูง
- รับความเสี่ยงได้ปานกลาง หรือเข้าสู่วัยกลางคน อาจเลือก RMF ที่ลงทุนผสมในหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า RMF
ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว ในขณะที่ความเสี่ยงหรือโอกาสขาดทุนก็จะน้อยกว่า RMF ที่เน้นลงทุนในหุ้น
- รับความเสี่ยงได้ต่ำ เริ่มเข้าใกล้วัยเกษียณ จะเหมาะกับ RMF ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้อย่างพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชน เพื่อเน้นรักษาเงินต้นเอาไว้ให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อโอนเงินจาก PVD ไป RMF แล้ว เราก็สามารถสับเปลี่ยนไปยัง RMF กองทุนอื่นได้ แต่ต้องเป็น RMF for PVD ด้วยกัน โดยก่อนสับเปลี่ยนโยกย้าย RMF for PVD อย่าลืมสอบถามรายละเอียดขั้นตอนจากบริษัทจัดการกองทุนให้ดีค่ะ
จะเห็นได้ว่า การที่เราสามารถโอนเงินจาก PVD ไป RMF ได้นั้นช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุน ไม่ต้องเสียภาษีเพราะนำเงินออกจาก PVD เร็วกว่ากำหนด ที่สำคัญ ยิ่งนำเงินออกมาเร็ว ยิ่งมีโอกาสที่เงินจะหมดได้เร็ว ดังนั้น ถ้าจะต้องออกจากงาน หรือสิ้นสุดการเป็นสมาชิก PVD อย่าเพิ่งรีบนำเงิน PVD ออกมาด้วยนะคะ โยกไป RMF ก่อนค่ะ เพื่อให้เงินก้อนนี้เป็นเงินใช้จ่ายในยามเกษียณเพื่อชีวิตที่สุขสบายค่ะ