12 ก.ย. 61

ดูแลตัวเองอย่างไรในวัยเกษียณ

คะแนนเฉลี่ย

เกษียณ

​​ดูแลตัวเองอย่างไรในวัยเกษียณ


          ในอดีตสังคมไทยนิยมอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ในบ้านหลังเดียวกัน ผู้สูงอายุมีลูกหลานคอยดูแล แต่ในปัจจุบันโครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป จากที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่กลายเป็นอยู่แบบครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นแรงผลักดันให้ลูกหลานในต่างจังหวัดต้องเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มต้องอยู่ตามลำพังมากขึ้น เมื่อโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป แต่ละคนต้องพึ่งพาตนเอง การดูแลตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในวัยเกษียณ เพราะยามที่เราเกษียณแล้วนั้น หลายสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากชีวิตในวัยทำงาน ทั้งด้านการเงิน ด้านร่างกาย รวมถึงด้านจิตใจ การเตรียมพร้อมรับชีวิตวัยเกษียณจะช่วยให้เราสามารถดำเนินชีวิตในช่วงบั้นปลายได้อย่างมีความสุข โดย K-Expert มีคำแนะนำเรื่องที่ควรเตรียมพร้อมมาฝากดังนี้


บริหารเงินอย่างไรให้เหมาะสม
         ยามที่เราเกษียณแล้วนั้น การรักษาทรัพย์สินของเราให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายได้ตลอดช่วงเวลาที่เหลือเป็นสิ่งจำเป็น ต้องถามตัวเองว่า เงินเก็บที่มีอยู่หลังจากไม่ได้ทำงาน (ประจำ) จะใช้ได้อย่างน้อย 20-30 ปีหรือไม่ คิดคร่าวๆ หากใช้จ่ายเดือนละ 15,000 บาท (จากผลสำรวจของ K-Expert พบว่า ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ พวกค่ากิน ค่าเดินทาง ค่าหมอค่ายาเวลาเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ค่าใช้จ่ายในบ้าน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ จะตกเดือนละ 15,000 บาท) ใช้หลังเกษียณสัก 25 ปี เท่ากับว่า หากเกษียณอายุตอนนี้ต้องมีเงินเตรียมไว้แล้ว 4.5 ล้านบาท ถ้ามีไม่พอ คงต้องวางแผนหารายได้เพิ่มหลังเกษียณกันต่อไป

          หลังจากสำรวจเงินเก็บที่มีแล้ว ก็ต้องวางแผนบริหารเงินก้อนนี้ให้พอใช้จ่ายและดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพได้นานที่สุด โดยแนะนำให้ กันเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินให้เพียงพอประมาณ 12 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน สามารถเก็บในเงินฝาก หรือกองทุนรวมตลาดเงิน ซึ่งมีสภาพคล่องใกล้เคียงเงินฝาก โดยเมื่อขายหน่วยลงทุน จะได้รับเงินค่าขายใน 1 วันทำการ

          สำหรับเงินส่วนที่เหลือจากการเก็บเป็นเงินสำรอง ควรจัดสรรลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ทั้งตราสารหนี้ หุ้น และทองคำ เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ต่อปี โดยหลักการแล้ว อายุเยอะขึ้นไม่ควรลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง อย่างหุ้น ในสัดส่วนสูงมาก เพราะหากพลาดพลั้งขาดทุน จะไม่มีเวลาให้เริ่มเก็บออมเงินใหม่มากนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะไม่สามารถลงทุนหุ้นได้เลย เพราะหลังเกษียณแล้วยังมีเวลาใช้เงินอีกหลายสิบปี ก็สามารถนำเงินบางส่วนไปลงทุนในหุ้นเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้

          แนวทางการลงทุนที่ขอแนะนำ หากรับความเสี่ยงได้สูง เคยลงทุนในหุ้นเยอะ (รับความเสี่ยงได้สูงสามารถมีสัดส่วนลงทุนในหุ้นได้ถึง 40% ของพอร์ตลงทุน) เงินลงทุนหลังเกษียณก็ควรลดความเสี่ยงลงมา โดยมีสัดส่วนหุ้นไม่เกิน 15% ที่เหลือลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น 5% ตราสารหนี้ระยะยาว 75% และทองคำ 5% เป็นต้น

ป้องกันความเสี่ยงอย่างไรให้ไม่เสี่ยง 
          เมื่ออายุมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บมักตามมาเป็นเงาตามตัว อาจต้องใช้เงินออมที่มีมาเป็นค่ารักษาพยาบาล ซึ่งค่ารักษาเดี๋ยวนี้ก็ไม่ใช่ถูกๆ (หากใครเคยหาหมอ หรือนอนโรงพยาบาลมาก่อน คงเข้าใจดี เมื่อเห็นตัวเลขค่ารักษาในใบเสร็จ) หากไม่ได้เตรียมเงินไว้ให้เพียงพอกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ย่อมกระทบกับการดำรงชีวิตประจำวันหลังเกษียณแน่นอน

          แนวทางที่จะช่วยปกป้องเงินในกระเป๋าเราไม่ให้หมดไปกับค่ารักษาพยาบาลคือ การทำประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรง โดยประกันสุขภาพ สามารถทำแบบสัญญาเดี่ยว และแบบสัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายประกันชีวิต ประกันสุขภาพมีระยะเวลาคุ้มครองอยู่ที่ 1 ปี เมื่อครบสัญญา ถ้าต้องการให้มีความคุ้มครองสุขภาพต่อไป ก็ต้องจ่ายเบี้ยเพื่อต่ออายุ ซึ่งบางกรมธรรม์ให้ต่อได้ถึงอายุเยอะๆ เช่น 70 ปี 80 ปี หรือตลอดชีวิต แนะนำให้ทำประกันโดยมีความคุ้มครองค่าห้องอย่างน้อย 3,000 บาท ยิ่งเลือกแบบที่มีวงเงินค่าห้องสูง จะทำให้วงเงินค่ารักษาพยาบาลยิ่งสูงตาม และหากเลือกแบบเป็นสัญญาแนบท้าย แนะนำทำพ่วงกับประกันชีวิตที่มีระยะเวลาคุ้มครองนาน เช่น ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เพื่อโอกาสในการต่ออายุของความคุ้มครองสุขภาพที่นานขึ้น

          สำหรับประกันโรคร้ายแรงก็มีความสำคัญ เพราะจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ปี 2558 พบว่า โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้คนเราอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายแรงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ความเครียด การออกกำลังกายน้อยลง รวมถึงกรรมพันธุ์ และค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคร้ายแรงนั้นสูงถึงหลักแสนหรือหลักล้านเลยทีเดียว แต่หากทำประกันโรคร้ายแรงไว้ เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมา ก็เหมือนมีตัวช่วยจ่ายค่ารักษาให้ ซึ่งประกันโรคร้ายแรงก็มีหลายแบบ เช่น คุ้มครองโรคใดโรคหนึ่ง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน คุ้มครองโรคร้ายแรงหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มโรคหลอดเลือด กลุ่มโรคมะเร็ง คุ้มครองโรคร้ายแรงหลายโรค เช่น 30 โรคร้ายแรง โดยหากต้องการความคุ้มครองจากประกันให้ครอบคลุมความเสี่ยงมากที่สุด สามารถทำประกันที่ให้ความคุ้มครองหลายโรคหรือหลายกลุ่มโรคร้ายแรง แต่อาจต้องจ่ายเบี้ยที่สูงขึ้น จึงต้องพิจารณาถึงความสามารถในการจ่ายเบี้ยด้วย

          นอกจากเรื่องโรคภัยที่ผู้สูงอายุมีโอกาสเจ็บป่วยมากขึ้นแล้ว ก็ต้องระวังเรื่องอุบัติเหตุด้วย เพราะหากลื่นหกล้ม อาจไม่ใช่แค่ฟกช้ำดำเขียว แต่อาจรุนแรงถึงขั้นกระดูกแตกหัก ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลที่สูงได้ ดังนั้น แนะนำให้ทำประกันอุบัติเหตุเอาไว้เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยทั่วไปให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร ค่ารักษาพยาบาลเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แนะนำให้มีความคุ้มครองอย่างน้อย 1 ล้านบาท

          อีกทางเลือกหนึ่งในการคุ้มครองความเสี่ยง คือ การเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ ยกตัวอย่างเช่น เงินฝากประจำซูเปอร์ ซีเนียร์ เป็นการผสมผสานระหว่างเงินฝากกับประกัน โดยผู้ฝากต้องมีอายุ 55-70 ปี ฝากเงินเป็นระยะเวลา 30 เดือน โดยจะได้รับความคุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ กระดูกแตกหัก และค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ หรือการทำบัตรเดบิตที่มีความคุ้มครองอุบัติเหตุ นอกจากจะได้ความสะดวกในการเบิกถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มแล้ว ยังได้ความคุ้มครองความเสี่ยงจากอุบัติเหตุด้วย

         เมื่อก้าวสู่วัยเกษียณ ควรเตรียมชีวิตให้พร้อม โดยเตรียมพร้อมด้านการเงิน ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส เพราะเมื่อสุขภาพจิตเข้มแข็ง ย่อมส่งผลให้สุขภาพกายแข็งแรง ดังสำนวน “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว”เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความเป็นอยู่ในปัจจุบัน และใช้ชีวิตยามบั้นปลายอย่างมีความสุขตามที่ต้องการ

          สำหรับผู้ที่สนใจป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ขอแนะนำ “ประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุ” สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่




​​​

ให้คะแนนบทความ

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า

ธนาคารกสิกรไทย