22 พ.ย. 61

3 คำถามต้องตอบ ก่อนรับมรดก

คะแนนเฉลี่ย

เกษียณ

​​​​​3 คำถามต้องตอบ ก่อนรับมรดก

​​​​​​           ​เรื่องเงินที่มักถูกถ่ายทอดผ่านละครมากที่สุด คงหนีไม่พ้น เรื่องการจัดการมรดก หรือแผนการส่งต่อทรัพย์สินไปยังทายาท อย่างไรก็ตาม การส่งต่อ เป็นเรื่องที่ถูกละเลย อาจจะด้วย(ว่าที่)เจ้ามรดกไม่ทราบว่า ผลลัพธ์จากการไม่ทำพินัยกรรม หรือ หาคนที่ไว้ใจพอที่จะบอกได้ว่าแสดงเจตนาไว้ที่ใดเป็นอย่างไร ส่วนทายาทที่จะได้ทรัพย์มรดกก็ไม่ทราบว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เมื่อจะได้รับมรดก K-Expert มี 3 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนรับ(ทรัพย์)มรดก มาทำความเข้าใจกันก่อน


           1. คุณเป็นทายาทประเภทใด? ​
              โดยทั่วไป จะมีทายาทในการรับมรดกอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ทายาทโดยพินัยกรรม (เจ้ามรดกแสดงเจตนาการส่งต่อทรัพย์สินผ่านการทำพินัยกรรม) และทายาทโดยธรรม (เจ้ามรดกไม่ได้แสดงเจตนาไว้ กฎหมายจึงต้องแบ่งทรัพย์มรดกตามหลักเกณฑ์) ซึ่งทายาทโดยพินัยกรรมจะมีสิทธิเหนือกว่าที่จะได้รับทรัพย์มรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมก่อน ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. เจ้ามรดก จดทะเบียนสมรสกับ นาง ข. มีทรัพย์มรดกมูลค่า 50 ล้านบาท คือ เงินฝากธนาคาร 10 ล้านบาท ที่ดิน 40 ล้านบาท โดยนาย ก. ได้ทำพินัยกรรมว่ายกที่ดินให้ นาย ค. (บุตรชายคนเดียว) เมื่อนาย ก. เสียชีวิต ที่ดินมูลค่า 40 ล้านบาท จึงตกเป็นของนาย ค. ส่วนเงินฝากธนาคาร 10 ล้านบาท ไม่ได้ระบุในพินัยกรรม จึงต้องหาลำดับทายาทโดยธรรม ในกรณีนี้ คือ นาง ข. (ภรรยา) และนาย ค. (บุตรชาย) ต้องนำเงินฝากธนาคารมาแบ่งในสัดส่วนที่เท่ากัน คือ คนละ 5 ล้านบาท ดังนั้น ในกรณีนี้ นาย ค. จะได้รับมรดก จากที่ดิน (ตามพินัยกรรม) จำนวน 40 ล้านบาท และ เงินฝาก (ตามการแบ่งด้วยกฎหมาย) อีก 5 ล้านบาท ส่วน นาง ข. จะได้รับส่วนแบ่ง คือ เงินฝาก 5 ล้านบาทเท่านั้น

             ในฐานะผู้รับมรดก จึงต้องตรวจสอบก่อนลำดับแรกว่า เป็นทายาทแบบใด ระหว่าง ทายาทตามพินัยกรรม หรือ ทายาทโดยธรรม เพื่อทราบสิทธิในการได้รับมรดก อย่างไรก็ตาม การแบ่งทรัพย์มรดกตามกฎหมาย (ทายาทโดยธรรม) ไม่จำเป็นต้องแบ่งตามสัดส่วนก็ได้ หากตกลงแบ่งกันได้ตามข้อตกลงของทายาท ก็ดำเนินการแบ่งได้เลย

 

           2. สินส่วนตัว และ สินสมรส แยกอย่างไร? 
              เป็นคำถามสำหรับเจ้ามรดกที่จดทะเบียนสมรส ต้องเข้าใจคำว่า สินส่วนตัว และสินสมรสของเจ้ามรดก เพื่อพิจารณาสิทธิในการได้รับทรัพย์มรดกด้วย โดย

"สินส่วนตัว" หมายถึง ทรัพย์สินที่ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรส หรือ ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส แบ่งเป็นทรัพย์สินที่ใช้ส่วนตัวหรือใช้ประกอบกิจการส่วนตัว และทรัพย์สินที่ได้รับจากมรดก หรือ การให้โดยเสน่หา ในทางปฏิบัติ สินส่วนตัว ส่วนใหญ่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าได้มาก่อนจดทะเบียนสมรส ในขณะที่ สินสมรส" หมายถึง ทรัพย์สินที่ได้มา

ระหว่างจดทะเบียนสมรส ซึ่งการแบ่งสินส่วนตัว กับสินสมรส จะมีผลต่อการแบ่งทรัพย์มรดก เนื่องจาก สินสมรส จะต้องถูกแบ่งให้กับคู่สมรสไปก่อน 50% ส่วนที่เหลือ 50% ก็จะต้องนำมารวมกับสินส่วนตัวทั้งหมดของเจ้ามรดก เพื่อนำมาแบ่งปันให้ทายาทกัน ยกตัวอย่างเช่น คุณปู่ จดทะเบียนสมรสกับ คุณย่า ภายหลังคุณปู่เสียชีวิต โดยมี ที่ดินมูลค่า 5 ล้านบาท เป็นสินส่วนตัว (ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรส) และ เงินฝากธนาคาร จำนวน 1 ล้านบาท เป็นสินสมรส (ทำมาหากินร่วมกันมา) ก่อนจะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้ทายาท ทรัพย์มรดกของคุณปู่ คือ ที่ดินมูลค่า 5 ล้านบาท และเงินฝากธนาคาร 0.5 ล้านบาท (แบ่งให้คู่สมรสไป 50%) รวมทั้งสิ้น 5.5 ล้านบาท จึงจะนำไปแบ่งปันทายาทต่อไป

             ในฐานะผู้รับมรดก ไม่ว่าคุณจะเป็นทายาทโดยธรรม หรือ ทายาทโดยพินัยกรรม จะต้องตอบให้ได้ว่า ทรัพย์มรดก มีอยู่เท่าไร ซึ่งผ่านการแบ่งปันตาม สินสมรส หรือ สินส่วนตัว ของเจ้ามรดกก่อน (กรณีเจ้ามรดกจดทะเบียนสมรส)

 

           3. ผู้จัดการมรดก จำเป็นต้องมีหรือไม่? 
              ก่อนจะตอบคำถามนี้ ต้องทราบหน้าที่ของผู้จัดการมรดกก่อน โดยทั่วไป ผู้จัดการมรดก ทำหน้าที่ รวบรวมทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก เช่น เงินฝาก หุ้น กองทุนรวม ที่ดิน รถยนต์ เป็นต้น ดังนั้น การแต่งตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดก จะต้องเลือกบุคคลที่มีความโปร่งใส มีความน่าเชื่อถือจากทายาท ว่าจะจัดการรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดมาเพื่อแบ่งปันได้ ซึ่งที่มาของผู้จัดการมรดกจะมาได้ 2 วิธี คือ ผู้จัดการมรดกโดยศาลแต่งตั้ง และผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม กล่าวคือ ถ้าในพินัยกรรมมีการระบุว่าจะตั้งใครให้เป็นผู้จัดการมรดก ถือว่ามีผลบังคับแล้ว แต่ส่วนใหญ่ผู้จัดการมรดก มักมาจากศาลแต่งตั้ง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการยื่นคำร้องต่อศาล อย่างไรก็ตาม กรณีที่ทรัพย์มรดก ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ จะต้องมีตัวแทนมาเป็นผู้ดำเนินการทำนิติกรรมแทนเจ้ามรดก เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างทายาทด้วยกันเอง สถาบันการเงินก็ต้องการคนกลาง นั่นคือ ผู้จัดการมรดก ที่จะมาช่วยรับผิดชอบในการทำนิติกรรมแทน ส่วนกรณีทรัพย์มรดกที่เกี่ยวกับที่ดิน จะมีหรือไม่มีผู้จัดการมรดก ก็จะมีแนวทางในการทำนิติกรรมไว้ที่กรมที่ดินแล้ว เช่น การประกาศเพื่อให้ทายาทคัดค้านมีระยะเวลา 30 วัน หากครบกำหนดไม่มีใครคัดค้าน ผู้ร้องก็สามารถขอจัดสรรที่ดินได้เป็นต้น

             ​ในฐานะผู้รับมรดก กรณีทรัพย์มรดกเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน จะต้องแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อเป็นคนกลางในการรวบรวมทรัพย์สิน ส่วนกรณีทรัพย์มรดกเกี่ยวกับกรมที่ดิน ก็อาจจะแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ก็ได้ เนื่องจากมีระยะเวลาในการประกาศเพื่อให้ทายาทที่มีส่วนได้เสียมาคัดค้านได้ที่กรมที่ดิน ดังนั้น จะแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทรัพย์มรดกที่มี ว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินหรือไม่ ถ้าเกี่ยวก็ต้องมีผู้จัดการมรดก ถ้าไม่เกี่ยวข้อง ก็ไม่จำเป็นต้องมีผู้จัดการมรดกก็ได้


             จาก 3 คำถามที่ต้องตอบก่อนรับมรดกนี้ พอจะช่วยให้ผู้ที่กำลังจะรับมรดก เตรียมตัวและวางแผนในการจัดการทรัพย์มรดกได้ อย่างไรก็ตาม จะดีกว่านี้ หากมีการวางแผนการส่งต่อผ่านการทำพินัยกรรม เพื่อให้การรับทรัพย์มรดกง่ายยิ่งขึ้น แล้วผลลัพธ์จากการไม่ทำพินัยกรรมจะเป็นอย่างไร สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ 

"มรดกน่ารู้…กับทายาทโ​ดยธรรม" ที่จะกล่าวถึงการแบ่งทรัพย์มรดกให้กับทายาทโดยธรรม (ไม่ได้ทำพินัยกรรม) จะได้รับทรัพย์มรดกอย่างไรบ้าง


บทความที่เกี่ยวข้อง:  


ให้คะแนนบทความ